ถ้าไม่มีรถยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งในใจ คนไทยโดยส่วนใหญ่เมื่อถูกถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกซื้อรถใหม่ยี่ห้อหนึ่งๆแล้ว คำตอบที่มักจะได้ยินเสมอมาเป็นเวลาสิบยี่สิบปีมาแล้วก็ว่าได้ ก็คือ “ราคาขายต่อดีและอะไหล่ถูก” การให้เหตุผลแบบนี้ก็ยังมีใช้กันจนถึงทุกวันนี้ หลายรายตัดสินใจซื้อ Mercedes-Benz แทนที่ BMW ทั้งที่อยากจะเป็นชาวบิมเมอร์เพราะดูเท่กระชากวัยมากกว่ามาก แต่ในที่สุดก็ต้องซื้อรถจากค่ายดาวสามแฉก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่เริ่มสนใจเรื่องรถในช่วงที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ พูดอีกอย่างก็คือ เหตุผลนี้เป็นที่นิยมสำหรับคนส่วนใหญ่ทั่วไปที่ไม่มียี่ห้อโปรดในใจ และไม่มีข้อมูลเฉพาะของรถแต่ละยี่ห้อในการตัดสินใจซื้อรถ หรือไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านเทคนิคที่มากพอ จึงทำให้เหตุผลในเรื่อง “ราคาขายต่อดี อะไหล่ถูก” จึงยังเป็นประโยคที่ใช้ในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่อยู่เสมอ และการตัดสินใจบนพื้นฐานแบบนี้ก็ไม่มีอะไรผิดปกติตราบใดที่เรื่องนี้ยังเป็นความจริงอยู่และประโยชน์ตกอยู่กับผู้ใช้รถ ในแง่ของทางวิชาการ “ราคาขายต่อดี” ถือว่าเป็นการเลือก Exit Strategy ที่เหมาะสม ในขณะที่ “อะไหล่ถูก” ช่วยให้ Cost of Ownership ต่ำ เรียกว่าเหตุผลนี้ยังใช้ได้ตลอดกาล จะว่าไปแล้ว เบื้องหลังของความเชื่อที่เป็นจริงนี้เกิดจากค่านิยมและอิทธิพลของปัจจัยรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบอก คนเขานิยมกัน ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถใหม่ป้ายแดงที่ได้รับการยืนยันจากการวิจัยทางการตลาดมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ปัจจุบัน เราอาจจะต้องมองอะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงเพราะผู้ใช้รถมีทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น แต่แนวโน้มหรือผลกระทบอื่นๆได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการตัดสินใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกร้อนที่รณรงค์ให้คนประหยัดน้ำมันมากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้ผลิตรายใหม่ที่มีศักยภาพ การรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องและเข้าถึงได้ง่ายอย่างอินเตอร์เน็ท ผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของตลาดรถมือสอง และอื่นๆอีกมากมาย นั่นหมายความว่า เราสามารถตัดสินใจซื้อรถได้เหมาะกับการใช้งานของเรามากที่สุด ใช้งานคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อะไรส่งผลให้อะไหล่รถราคาถูก?
อะไหล่ถูกในที่นี้หมายถึงราคาต่ำในคุณภาพที่ดีด้วย อะไหล่จะถูกได้ก็เมื่อมีต้นทุนในการผลิตต่ำ และสิ่งจะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตต่ำได้ดีที่สุดก็คือ การผลิตจำนวนมากๆตามหลักของ Economy of Scale ในทางเศรษฐศาสตร์ และการที่จะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทำการผลิตอะไหล่ออกมาในจำนวนที่สูงก็ต้องมั่นใจว่าขายออกได้ง่ายและเร็ว นั่นก็หมายความว่ารถยนต์ก็ต้องขายดีด้วยเช่นกัน จะว่าไปแล้ว นี่คือจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงอย่าง Toyota ที่พยายามรักษาความเปรียบนี้ไว้และก็ทำได้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยศูนย์บริการที่จะช่วยกระจายการใช้อะไหล่มากที่สุดในเมืองไทยที่ 289 แห่ง ตามด้วย Isuzu ที่มีศูนย์บริการไล่มาที่ 221 แห่ง ในขณะที่ผู้เล่นรายอื่นๆมีประมาณเกือบ 100 แห่งไปจนถึงประมาณ 160 แห่ง ฉะนั้นเมื่อสินค้าขายดี ความต้องการสูง อะไหล่ก็ควรจะถูกลงโดยปริยาย ส่วนจะขายถูกขายแพงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางบริษัทฯสามารถลดต้นทุนได้มาก แต่ก็ไม่ได้ขายถูกอย่างที่ควรจะเป็นเพราะเกรงว่าจะกระทบภาพลักษณ์หรือ Brand Image ซึ่งเราจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นว่า อะไหล่รถญี่ปุ่นบางยี่ห้ออาจจะไม่ราคาถูกเมื่อสมัยก่อนที่ความคิดแบบเดิมๆยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถใหม่
ความคิดแบบเดิมๆที่ยังได้รับความนิยมในฐานะปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อรถใหม่ก็คือ การขายต่อในราคาที่ไม่ตก สำหรับผู้ซื้อรถสไตล์อนุรักษ์นิยมหรือ conservative มักจะตัดสินใจโดยอิงความคิดนี้เป็นหลัก คือเผื่อวันว่าเมื่อวันใดที่ต้องการขายต่อ เงินก็ไม่หายไปมาก การที่รถขายออกไปในราคาดีได้ก็เพราะความต้องการของตลาดรถมือสองสำหรับยี่ห้อนั้นๆมีสูง โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีนี้ที่ตลาดรถมือสองขยายตัวมากแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นขาลงเพราะเหตุผลทางด้านการเมือง และค่อยๆโงหัวขึ้นแบบเทียมๆจากปัจจัยภายนอกมากกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริงๆของไทย ตัวเลขล่าสุดของสมาคมรถเช่าพบว่า อัตราหมุนเวียนรถมือสองมากเป็น 5 เท่าของยอดขายของรถใหม่ป้ายแดงที่ตกอยู่ที่ 600,000 คัน/ปี นั่นก็คือ มีรถมือสองหมุนเวียนในในตลาดถึง 3 ล้านคัน ทั้งๆที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยกำหนดเงินดาวน์ไว้สูงถึง 20-25% ประกอบกับการที่จำนวนรถยึดในปีที่ผ่านมาก็น้อย ทำให้มีปริมาณรถเก่าที่จะหมุนเวียนเข้าตลาดนี้น้อยตามลงไปด้วย แต่ก็ยังถือว่าเป็นปริมาณที่สูงอยู่ทีเดียว
แม้ว่าจะมีรถมือสองในตลาดมากมายมหาศาลแต่ความต้องการก็ยังสูงตามไปด้วย กระบะบางยี่ห้อราคาขายต่อขยับสูงขึ้นถึง 20% แบบดื้อๆไม่มีที่มาที่ไป เพียงเพราะว่ามีความต้องการของตลาดสูง
ที่น่าสนใจก็คือ ปีนี้มีมืออาชีพลงมาร่วมวงไพบูลย์มากขึ้นทั้ง Toyota Sure และผู้ประกอบการทั้ง 5 รายในตลาดประมูลรถยนต์ให้ความจริงจังในด้านการทำตลาดมากขึ้นเพื่อแย่งชิ้นปลามัน โดยมีปัจจัยเสริมที่สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง โดยการอนุมัติวงเงินค่อนข้างสูง และขยายเวลาผ่อนชำระที่ยาวขึ้น โดยเฉพาะการที่ตะวันออกกลางสนใจรถมือสองจากไทยมากเป็นพิเศษจนถึงขนาดมีการค้าส่งรถมือสองไปต่างประเทศกันเลยทีเดียว ฉะนั้นอีก 2-3 ปีนับจากนี้การขายต่อรถโดยรวมน่าจะทำได้คล่องและในราคาที่ดีหรือน่าพอใจ
การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งจากการที่มีจำนวนผู้เล่นในตลาดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมถึงความเคลื่อนไหวในตลาดรถมือสอง กำลังทำให้น้ำหนักของ “ราคาขายต่อดี อะไหล่ถูก” ลดลงไปไม่มากก็น้อย สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ยอดขายในระดับที่เรียกว่า “ถล่มทลาย” ของรถจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในระดับพระรองอย่าง Mazda2, Ford Fiesta และ Nissan March ที่ปัจจัยของราคาขายต่ำและการประหยัดน้ำมันกลายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อรถใหม่มากกว่าปัจจัยเดิมๆ แถมโพลล์ที่ AutoSpinn เคยสอบถามผู้ใช้อินเตอร์เน็ทมากกว่า 3,000 รายพบว่า ปัจจัยต้นๆในการซื้อรถใหม่คือ สมรรถนะ/คุณภาพ รูปทรง ราคา และการประหยัดน้ำมัน ในขณะที่บริการหลังการขาย/อะไหล่ และภาพลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตอยู่ในอันดับท้ายๆ
ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะอีก 2-3 ปี เราน่าจะเห็นพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อรถใหม่เปลี่ยนไป เพราะผู้ใช้รถมีข้อมูลรอบด้านขึ้นและเลือกซื้อรถให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น?!
ขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามด้วยครับ
[SURVEYS 1]
var _gaq = _gaq || [];
_gaq.push(['_setAccount', 'UA-20150282-1']);
_gaq.push(['_trackPageview']);
(function() {
var ga = document.createElement('script'); ga.type = 'text/javascript'; ga.async = true;
ga.src = ('https:' == document.location.protocol ? 'https://ssl' : 'http://www') + '.google-analytics.com/ga.js';
var s = document.getElementsByTagName('script')[0]; s.parentNode.insertBefore(ga, s);
})();
ความคิดเห็น