Hicks Mirror ขจัดปัญหาจุดบอดกระจกมองข้าง ด้วยกระจกโค้งนวัตกรรมล่าสุด Share this

Hicks Mirror ขจัดปัญหาจุดบอดกระจกมองข้าง ด้วยกระจกโค้งนวัตกรรมล่าสุด

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 11 June 2555

คนที่ขับรถเป็นประจำย่อมรู้ดีว่า การเปลี่ยนเลนแต่ละครั้งจะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะการมองกระจกมองข้างของรถทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็นรถราคาแพงหรือถูกจะมี 'มุมอับ' หรือ 'จุดบอด' ซึ่งเป็นมุมมองที่คนขับมองไม่เห็นวัตถุที่อยู่ข้างรถ แต่ปัญหาที่มีมานานนี้ใกล้ที่จะได้รับการแก้ไขแล้ว เมื่อศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ Andrew Hicks แห่งมหาวิทยาลัย Drexel ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนากระจกที่ไม่มีจุดบอดและดำเนินการจดลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการเรียบร้อย

กระจกมองข้างแบบใหม่นี้ มีรูปทรงที่โค้งเล็กน้อย ให้มุมมองที่กว้างขวางแต่ภาพที่เห็นบิดเบี้ยวน้อยมากกระจกของ Dr.Hicks นั้นให้มุมมองที่กว้างถึง 45 องศาเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากกระจกมองข้างแบบแบนเรียบทั่วไปที่มีมุมมองแคบเพียง 15 ถึง 17 องศา

หลายคนคงทราบดีว่า กระจกแบบโค้งทั่วไปให้มุมมองที่หลอกตา อีกทั้งวัตถุที่สะท้อนในกระจกมักเล็กกว่าและอยู่ไกลกว่าความเป็นจริง แต่กระจกมองข้างของ Dr.Hicks ให้ภาพที่เหมือนจริงอย่างมาก เป็นประโยชน์ในการกะระยะของรถหรือวัตถุที่ตามหลังมาได้อย่างแม่นยำ ซึ่งศาสตราจารย์ท่านนี้ใช้การคำนวณอัลกอริธึมอันซับซ้อนกว่าหนึ่งหมื่นขั้นตอนถึงจะได้กระจกที่ให้มุมสะท้อนของแสงที่ดีที่สุด

“ลองจินตนาการพื้นผิวที่ประกอบด้วยกระจกขนาดเล็กนับร้อยชิ้นที่มีมุมที่แตกต่างกัน เหมือนกับลูกบอลที่เห็นในดิสโก้เธค” Dr. Hicks กล่าว “อัลกอริทึ่ม คือชุดการคำนวณที่รวบรวมเอาทิศทางของแต่ละแผ่นบนลูกบอลดิสโก้เข้าไว้ด้วยกัน ผู้ขับขี่รถยนต์จะได้เห็นภาพสะท้อนจากกระจกที่มีมุมมองกว้าง แต่ไม่บิดเบี้ยว”

อย่างไรก็ตาม แม้กระจกนวัตกรรมใหม่ของ Dr. Hicks จะช่วยลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตบนท้องถนนลงได้ แต่ปัจจุบันกฎหมายของสหรัฐฯไม่อนุญาตให้ติดตั้งกระจกโค้งเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งรถยนต์แต่ละคันจะต้องติดกระจกข้างแบบแบนราบเท่านั้น เว้นแต่ว่าจะติดกระจกโค้งที่ฝั่งคนนั่งพร้อมตัวอักษรคำว่า “วัตถุในกระจกอยู่ใกล้กว่าที่เห็น”

ถึงแม้จะได้แต่หวังว่ากฎหมายของสหรัฐฯจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เวลานี้ก็มีแนวโน้มว่าบริษัทรถยนต์ต่างๆในยุโรปอาจจะขอลิขสิทธิ์เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำไปผลิตกระจกข้างออกติดตั้งในรถยนต์ที่จะจำหน่ายต่อไป


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ