รีวิว Chevrolet Sonic ทั้ง Hatchback 5 ประตู และซีดาน ขับทดสอบ กรุงเทพฯ-ปราณบุรี Share this
รีวิวรถยนต์
โหมดการอ่าน

รีวิว Chevrolet Sonic ทั้ง Hatchback 5 ประตู และซีดาน ขับทดสอบ กรุงเทพฯ-ปราณบุรี

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 17 October 2555

ทางบริษัท General Motor ประเทศไทย ได้ทำการเปิดตัว Chevrolet Sonic อย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏาคม เป็นที่เรียบร้อย และได้ทำการปล่อยรถตัวถัง Sedan ให้แก่ลูกค้าที่ทำการจองเอาไว้ก่อนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่เพิ่งผ่านมานั้น ทาง GM ก็เพิ่งเปิดตัว Sonic Hatchback ออกจากสายการผลิต ที่โรงงานจังหวัดระยอง และเตรียมส่งมอบให้แก่ ดีลเลอร์ทั่วประเทศ ไปเป็นที่เรียบร้อย จนมาถึงเวลาอันสมควรที่ทาง GM ประเทศไทย ได้จัด Group Test drive Chevrolet Sonic Hatchback รอบสื่อมวลชนขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ให้แก่ Chevrolet Sonic อีกครั้งหนึ่ง

รูปลักษณ์ภายนอก

ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายโฉบเฉี่ยวแบบแอโรไดนามิก รูปทรงที่ปราดเปรียว และกรอบไฟหน้าแบบเปิดซึ่งถ่ายทอดมาจากรถมอเตอร์ไบค์สมรรถนะสูง ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเชฟโรเลต ที่จะเติม “ความสนุก” กลับคืนสู่การขับขี่

การออกแบบภายนอกของโซนิค ช่วยเสริมความกว้างขวางให้แก่รถซับคอมแพ็กต์แต่ไม่ทำให้มิติตัวถังดูใหญ่โตเกินไป ขณะเดียวกัน ยังหลีกเลี่ยงความจำเจน่าเบื่อและฉีกกรอบการดีไซน์แบบเดิมด้วยการใช้โคมไฟหน้าสีดำสลับกับแผงสะท้อนแบบอัญมณี ทำให้รูปโฉมด้านหน้าของโซนิค มีประกายโดดเด่นดึงดูดทุกสายตา

เส้นสายอันโฉบเฉี่ยวเป็นผลลัพธ์จากการปรับปรุงหลักแอโรไดนามิก ทำให้รถซับคอมแพ็กต์คันนี้มีภาพลักษณ์ความสปอร์ต สมรรถนะการขับขี่อันมั่นคงสไตล์รถยุโรปและประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้น โซนิคมาพร้อมกับการออกแบบที่พิถีพิถันพร้อมกับเติมเต็มความสดใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสนุกในการขับและความสุขในการครอบครอง ซุ้มล้อถูกออกแบบให้ดูบึกบึนทรงพลัง ตอกย้ำประสิทธิภาพของโซนิคในการเกาะถนนอย่างมั่นคงตลอดเส้นทาง

นักออกแบบของเชฟโรเลต ใช้เหลี่ยมมุม เส้นสาย และความโค้งเว้าในการเพิ่มความปราดเปรียว แทนที่จะใช้การขึ้นรูปด้วยวัสดุโพลียูรีเทนหรือหล่อบล็อกด้วยพลาสติกแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นที่นิยมของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดบีเซกเมนท์

สำหรับกระจกหน้ารถนั้น ติดตั้งโดยมีระดับพื้นผิวต่ำกว่าเสาหลังคาหน้าอยู่เล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ในยามขับขี่และช่วยให้ที่ปัดน้ำฝนทำงานได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีลมต้านทานน้อยลง ในขณะที่ขอบด้านบนของกระจกก็ใช้เทคนิคการติดตั้งแบบพิเศษที่ช่วยลดเสียงลมเล็ดลอดเข้าสู่ห้องโดยสารได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากการออกแบบอันยอดเยี่ยม เชฟโรเลต ยังมีชุดการตกแต่งแบบพิเศษให้ลูกค้าสามารถเลือกติดตั้งกับโซนิคอีกด้วย

ภายในห้องโดยสาร

ห้องโดยสารสไตล์ดูอัล ค็อกพิท เอกลักษณ์ของเชฟโรเลตได้รับการปรับแต่งเพื่อให้โซนิค เปี่ยมด้วยความสปอร์ตยิ่งขึ้น เติมความสนุกสนานและความหรูหราอย่างเต็มพิกัดด้วยแผงมาตรวัดอันโดดเด่น โดยนักออกแบบของเชฟโรเลต ไม่ได้ฝังมาตรวัดเข้าไปในแดชบอร์ดแบบรถทั่วไป แต่ได้ออกแบบให้มาตรวัดติดอยู่บนแผง แดชบอร์ดแทน เพิ่มดีกรีความล้ำสมัยและความสปอร์ตในห้องโดยสาร

เบาะที่นั่งของโซนิคมีความนุ่มนวลเหนือกว่ารถในระดับเดียวกัน ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างมั่นคง ตอบสนองความสบายด้วยการใช้วัสดุผ้า (Fabric Flash) ในรุ่นเริ่มต้น ส่วนในรุ่นกลางและสูงนั้นใช้เนื้อผ้าถักทอคุณภาพสูง มีการตัดเย็บที่พิถีพิถันเพื่อเพิ่มความทนทานและให้ความหรูหราเป็นพิเศษ

ผู้โดยสารทุกที่นั่งของโซนิค ยังจะประทับใจกับความเงียบในขณะขับขี่ ซึ่งเหนือชั้นกว่ารถรุ่นอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ด้วยการใช้แชสซีส์ที่มีความเหนียวแน่นทนทาน เสียงจากพื้นถนนและเสียงลมจึงถูกจำกัดเพื่อบรรยากาศในห้องโดยสารอันน่าประทับใจตลอดการเดินทาง

เครื่องยนต์

โซนิค ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังรุ่นใหม่ของจีเอ็ม รองรับเชื้อเพลิง E20 ความจุ 1.4 ลิตร DOHC มาพร้อมระบบแคมชาฟท์แปรผันต่อเนื่อง Double CVC เพื่อสมรรถนะและความประหยัดยิ่งกว่า หัวฉีดได้รับการปรับปรุงใหม่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับไอดีเพื่อควบคุมอัตราส่วนการจ่ายเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด

เครื่องยนต์รุ่นนี้ยังใช้รางหัวฉีดแบบมีระบบควบคุมรอบการหมุนของปั๊มเชื้อเพลิง (return-less fuel rail) อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มความประหยัดและลดมลภาวะ ระบบนี้มีความแตกต่างจากระบบจ่ายเชื้อเพลิงทั่วไปที่จะส่งคืนเชื้อเพลิงที่ไม่ได้ใช้กลับคืนสู่ถังน้ำมัน แต่ระบบดังกล่าวนี้จะช่วยประเมินจำนวนน้ำมันที่ไหลเข้าสู่เครื่องยนต์และจำกัดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น นั่นหมายความว่า จะไม่มีเชื้อเพลิงส่วนเกินที่มีความร้อนสูงซึ่งเป็นบ่อเกิดของมลภาวะไหลกลับคืนสู่ถังเชื้อเพลิงอีกต่อไป

ระบบส่งกำลัง

ลูกค้าสามารถเลือกระบบส่งกำลังของโซนิค ระหว่างเกียร์ธรรมดา 5 สปีดหรือเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งการใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติทอร์กคอนเวอร์เตอร์ 6 สปีดทำให้โซนิค เป็นรถยนต์รุ่นแรกในเซกเมนท์ที่ใช้ระบบเกียร์ประเภทนี้ ซึ่งพร้อมมอบสมรรถนะและความประหยัดไปพร้อมกัน

ด้วยอัตราทดเกียร์ที่กว้างทำให้เกียร์หนึ่งมีอัตราทดต่ำช่วยเพิ่มอัตราเร่งในการออกตัว ขณะที่เกียร์โอเวอร์ไดรฟ์มีอัตราทดสูงช่วยลดรอบเครื่องยนต์ขณะขับขี่ด้วยความเร็วบนระยะทางไกล เกียร์หกซึ่งเป็นเกียร์โอเวอร์ไดรฟ์นั้นช่วยรักษารอบเครื่องยนต์ได้ต่ำเพิ่มอัตราความประหยัดน้ำมันและลดเสียงรบกวนของเครื่องยนต์ลง ระบบเกียร์ชุดนี้ได้รับการผลิตอย่างประณีตแม่นยำ ลดเสียงการทำงานลง ทำให้เกียร์ 6 สปีดชุดนี้มีความเงียบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สำหรับระบบเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีดจะบรรจุอยู่ในห้องเกียร์อลูมิเนียมแบบผิวหน้าชิ้นเดียว และติดตั้งอยู่บนฐานรองที่เป็นชิ้นส่วนต่างหาก ในขณะที่ชิ้นส่วนเกียร์ต่างๆ นั้นก็มีการผลิตอย่างพิถีพิถันเพื่อความแข็งแรงทนทาน

แชสซีส์และการควบคุม

การควบคุมอันแม่นยำสไตล์ยุโรปเป็นจุดเด่นที่แข็งแกร่งของโซนิค ทีมวิศวกรของจีเอ็ม ผสมผสานการขับขี่ที่สะดวกสบายเข้ากับการควบคุมที่ตอบสนองได้ทันใจเพื่อแข่งขันกับรถขนาดเล็กที่ดีที่สุดในเซ็กเมนท์นี้

โซนิคได้รับการออกแบบมาเพื่อความสนุกในการขับขี่ ด้วยความรู้สึกหลังพวงมาลัยอันยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับรถที่มีราคาสูงกว่านี้มาก

หัวใจสำคัญแห่งสมรรถนะการควบคุมของโซนิค คือโครงสร้างตัวถังแบบ BFI หรือ Body-frame-integral ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่เหนียวแน่นและแข็งแกร่งที่สุดในเซ็กเมนท์ซับคอมแพ็กต์ในระดับโลก มีพื้นฐานมาจากโครงสร้าง BFI ของรถขนาดเล็กขับเคลื่อนล้อหน้าระดับโกลเบิลของจีเอ็ม มอบความรู้สึกมั่นคง มีเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ขับขี่ทุกเส้นทาง

เพลาด้านหน้าแบบเฟรมราบ (flat top frame) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในส่วนหน้ารถให้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือนขณะขับขี่ ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมตัวค้ำช็อกอัพแบบชดเชยน้ำหนักรถด้านข้าง เหล็กกันโคลงและแท่นวางเครื่องยนต์แบบยาวช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านหน้ารถขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ยังช่วยตอบสนองต่อผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นและเอื้อให้ทีมวิศวกรสามารถปรับแต่งตัวถังรถได้สะดวกกว่าเดิม

แท่นวางเครื่องยนต์แบบยาวหกจุดช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ พร้อมติดตั้งระบบไฮโดรลิกที่ปรับแต่งมาเป็นพิเศษเพื่อลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน นอกจากนี้ ความมั่นคงในการขับขี่ของโซนิค ยังเกิดจากระยะฐานล้อซึ่งอยู่ที่ 2,525 มม. และระยะห่างระหว่างล้อซ้ายและขวาเท่ากันที่ 1,509 มิลลิเมตรทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพิ่มความสมดุลในการขับขี่

ระบบพวงมาลัยประสิทธิภาพสูงช่วยให้โซนิค เป็นรถที่ขับสนุก ตอบสนองฉับไวเมื่ออยู่ท่ามกลางการจราจรอันหนาแน่นในเมือง พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่ที่ความเร็วสูง

โซนิค มาพร้อมกับครีบระบายความร้อนเบรกคู่หน้า ซึ่งช่วยให้ระบบเบรกทำงานได้ดีอยู่เสมอ เชฟโรเลต โซนิค ซีดานรุ่นกลางรหัส LT ใช้ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว พร้อมยาง 195/65 ส่วนรุ่นสูงสุด LTZ จะใช้ล้อขนาด 16 นิ้ว หุ้มด้วยยาง 205/55 ขณะที่โฉมแฮทช์แบ็คทุกรุ่นย่อยจะใช้ล้อขนาด 16 นิ้วพร้อมยาง 205/55 โซนิค แฮทช์แบ็ก ทุกรุ่นใช้ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว สวมทับด้วยยาง 205/55

ความปลอดภัย

ด้วยมาตรฐานของเชฟโรเลต ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด การผลิตโซนิค ใช้เหล็กกล้าความทนทานสูงซึ่งถูกออกแบบอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับสมรรถนะการควบคุมและความปลอดภัยในห้องโดยสารไปพร้อมกัน โครงสร้างช่วงล่างมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์และโครงสร้างช่วงบน 50 เปอร์เซ็นต์ใช้เหล็กความทนทานสูงหรือเหล็กความทนทานเทคโนโลยีสูง

ระบบเบรกป้องกันล้อล็อกเอบีเอสและถุงลมนิรภัยด้านคนขับเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น LT และ LTZ ขณะที่รุ่น LTZ จะมีถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารตอนหน้าติดตั้งมาให้ด้วย การกระจายแรงเบรกด้านหน้าและด้านหลังควบคุมโดยระบบกระจายแรงเบรกอิเลกทรอนิก (EBD) ซึ่งช่วยควบคุมเบรกด้านหลังอย่างอิสระเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและการเบรกในโค้งอย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้เบรกหลังทำงานอย่างเต็มที่มากกว่าเดิมเมื่อรถต้องบรรทุกสัมภาระหนัก

คานเหล็กกันกระแทกด้านข้างผลิตจากเหล็กกล้าคุณภาพสูง ในขณะที่ภายในห้องโดยสารมีระบบรองรับเบาะที่นั่งเด็ก (ISOFIX) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าปรับความสูงต่ำได้และดึงกลับอัตโนมัติ สำหรับรุ่น LT มาพร้อมกับเข็มขัดนิรภัยแบบผ่อนแรงด้านผู้ขับขี่ ส่วนรุ่น LTZ จะติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบผ่อนแรงทั้งผู้ขับและผู้โดยสารด้านข้าง

Group Test Drive Chevrolet Sonic กรุงเทพฯ-ปราณบุรี

หลังจากที่ได้เคยขอรถ Chevrolet Sonic ตัวถัง Sedan รุ่น LTZ เพื่อมาขับทดสอบกันไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนที่แล้ว ล่าสุดในวันที่ 4-5 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ ทาง Autospinn ได้รับเชิญให้ไปทดสอบรถยนต์ Chevrolet Sonic ตัวถัง Hatchback ในรอบสื่อมวลชนดูบ้าง ซึ่งในทริปนี้ ได้มีรถให้ทดสอบทั้งหมด 20 คัน ซึ่งประกอบด้วยตัวถัง Hatchback 10คัน และตัวถัง Sedan 4 คัน กับสื่อมวลชนทั้งหมด 40 คน ซึ่งทุกคนจะได้ขับทั้งตัวถัง Sedan และ Hatchback สำหรับคันที่ทาง Autospinn ได้เทสเป็นคันแรก เป็นตัวถัง Sedan รุ่น LT เกียร์ MT สีขาว หมายเลข 6 และคันที่สองเป็นตัวถัง Hatchback รุ่น LTZ สีขาวคาดด้วยสติกเกอร์ลายจุดสีดำ หมายเลข16 สำหรับเส้นทางนั้นเริ่มตั้งแต่ ออกจากโรงแรม เรเนสซองค์ ราชประสงค์ มุ่งหน้าขึ้นทางด่วนไปออก ถนนพระราม 2 และตรงยาวไปตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่หัวหิน โดยมีการแวะพักเปลี่ยนผู้ขับที่ปั๊มน้ำมันปตท.คลองโคน และได้เปลี่ยนเส้นทางการวิ่งจากเส้นหลักบนถนนเพชรเกษม มาวิ่งเส้นใน เพื่อให้สัมผัสกับเส้นทางคดเคี้ยว ให้ได้ทดสอบช่วงล่างกันมากขึ้น โดยเป้าหมายคือ ร้านอาหารชมทะเล หัวหิน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ก็ได้ทำการเปลี่ยนรถ และมุ่งหน้าออกจากร้านอาหารสู่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ก่อนที่จะได้มีการสลับผู้ขับ และขับกลับมายังโรงแรม เรส ดีเทล หัวหิน โดยทาง Autospinn นั้นได้ขับเป็นมือที่ 2 ทั้ง 2 คัน

สมรรถนะและการขับขี่โดยรวมของ Chevrolet ในตัวถัง Sedan เกียร์ MT และตัวถัง Hatchback เกียร์ AT ก่อนอื่นต้องขออนุญาต พูดถึงภาพรวมของตัวรถ 2 คันที่ได้ทำการขับทดสอบนี้ แบบไม่ลงรายละเอียดมากนัก เพราะถือว่าได้เคยเขียนทดสอบกันไปแล้ว กับ Chevrolet Sonic ตัวถัง Sedan รุ่น LTZ ซึ่งฟีลลิ่งของการขับขี่ที่ได้นั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย สำหรับในการทดสอบครั้งนี้ ถือเป็นโชคดี ที่ได้มีโอกาสขับทดสอบคันที่เป็นเกียร์ MTด้วย เพราะถ้าได้ขับตัว Sedan ที่เป็นเกียร์ AT อีกก็คงไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปจากเดิมเลย สำหรับสมรรถนะในการขับขี่ของเกียร์ MT นั้น รู้สึกได้อย่างชัดเจน ว่าขับได้สนุกมันกว่า และดูจะเรียกพละกำลังออกมาได้มากกว่าอีกด้วย ซึ่งอัตราเร่งที่ได้จากเกียร์ MT นั้นถือว่ายังพอรับได้ ไม่น่าเกลียดนัก จากอัตราทดเกียร์ที่ค่อนข้างจัดกว่าเกียร์ AT พอสมควร ในจังหวะที่ขับลากรอบและจับคันเกียร์โยกเพื่อส่งเกียร์ขึ้น จะมีการกระชากของตัวรถให้ได้สัมผัสกัน ซึ่งอรรถรสในการขับขี่แบบนี้นั้น มันห่างหายจากผมไปเป็นเวลานานมากแล้ว และเมื่อลากรอบขึ้นไปสูงถึงราว 5000rpm+ แรงดึงมีมาให้สัมผัสได้นิดๆ ในขณะที่เกียร์ AT จะไม่มีความรู้สึกนี้ให้จับได้เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเข้าโหมด M และลากไปจนสุด Red Line แล้วก็ตาม แผ่นหลังก็จะยังอยู่ดีบนเบาะไม่มีอาการเอนไปติดแนบกับตัวเบาะอย่างแน่นอน สำหรับการขับในโหมด M นี้จะให้คุณได้ขับขี่ลากรอบได้อย่างสะใจ (แต่อัตราเร่งที่ได้นั้นคงไม่สะใจนัก) โดยไม่มีการตัดขึ้นเกียร์ แม้จะลากจนสุด Red Line แล้ว ในจังหวะที่ผมได้ขับตัว Sedan เกียร์ MT นั้น ในช่วงทางตรงยาว ที่จะเข้าหัวหิน รถ Trailblazer ของสต๊าฟ ก็ซัดนำพาพวกสื่อมวลชน ทะยานความเร็วตามๆกันไป ซึ่งผมอยากจะลองในส่วนของ Top Speed ของเกียร์ MT ดูอีกสักครั้ง เพราะ Top Speed ที่ได้จาก เกียร์ AT ในครั้งที่แล้วนั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่น่าประทับใจนัก จึงได้ลองกดคันเร่งตามรถ Trailblazer ของสต๊าฟไป ซึ่งการที่อยู่ด้านหลังเจ้ายักษ์ Trailblazer นั้น ช่วยลดแรงต้านอากาศไปได้มากพอสมควร ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลอยู่หลายช่วงคัน ดูจากตัวเลขบนหน้าปัด ทำได้สูงสุดที่ 177 กม./ ชม. ก็ต้องถอนคันเร่งออก เนื่องจากปริมาณรถหนาแน่นขึ้น ซึ่งถ้าแช่คันเร่งต่อน่าจะไปได้อีก ราว 180กม./ชม.+ นิดๆ เต็มที่ไม่น่าเกิน 190กม./ชม. เนื่องจากดูจากกำลังเครื่องที่เหลือแล้ว น่าจะไปได้อีกไม่มาก ได้เท่านี้ก็ถือว่าทำได้ดีมากแล้ว กับรถเครื่องยนต์เพียง 1.4 ลิตร Ecotec ตัวนี้ เหลือเฟือเกินพอ ใจจริงอยากทดสอบในส่วนของอัตราเร่ง 80-120กม./ชม. ด้วย แต่เกรงว่าจะทำไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้มือในการสับเกียร์ขึ้น จึงได้มาจับเวลาทดสอบในส่วนของตัวถัง Hatchback เกียร์ AT แทน ทำได้ 14.48 วินาที ซึ่งทำเอางงแทบตาเหลือก เพราะ ในคราวก่อนตัวถัง Seadan เกียร์ AT เหมือนกัน ทำได้ 12.28 วินาที แต่นี่ช้ากว่าถึง 2 วินาทีเศษ ที่จริงอยากจะลองหาพื้นถนน ที่ดูน่าจะเรียบกว่าเส้นทางบนเพชรเกษมนี้ เพื่อจับเวลาอีกครั้งแต่ ทว่าไม่มีเสียแล้ว เพราะการจราจรคับคั่งมากๆ จนถึงขึ้นทางด่วน พระราม 2 จนกลับไปยัง โรงแรมเรเนสซองค์ ในตอนแรกคาดเดาตัวเลขออกมาไม่น่าจะหนีกันมากนัก น่าจะไล่เลี่ยกัน ไม่เกิน 1 วินาที เนื่องจาก น้ำหนักโดยสาร เมื่อเทียบกับคราวก่อนก็พอกัน อีกทั้งตัว Hatchback น้ำหนักจะเบากว่าตัวSedan เสียอีก และเรื่องค่า cd นั้น ก็ไม่น่าจะต่างกันจนเป็นนัยสำคัญ เพราะพื้นที่ด้านหน้ารถเท่ากันแรงปะทะของลม ก็ไม่น่าจะต่างกัน แต่ส่วนท้ายที่ต่างกัน ตัวถัง Sedan พื้นที่หน้าตัดน้อยกว่า ทำให้มีลมวนอยู่ด้านท้ายน้อยกว่า ส่งผลให้ตัว Sedan เกาะถนนมั่นคงกว่า ซึ่งในเรื่องของตัวถังน่าจะเห็นผลชัดเจนในด้านการยึดเกาะความมั่นคงของช่วงล่างด้านหลัง เสียมากกว่า

มาดูด้านความสัมพันธ์ของความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์กันบ้าง จากที่เคยวัดไปแล้วกับเกียร์ AT 4 ค่า ได้ดังนี้ 80กม./ชม.=2000rpm 100กม./ชม.=2500rpm 120กม./ชม.=3000rpm 140กม./ชม.=3500rpm คราวนี้จึงลองดูในเกียร์ MT ดูบ้าง ได้จดมา 3 ค่า ดังนี้ 80กม./ชม.=2400rpm 100กม./ชม.=2900rpm 120กม./ชม.=3500rpm ถือว่าทดได้จัดเอาเรื่องเลยทีเดียว จึงไม่แปลกนัก ที่อัตราเร่งจะทำได้ดีกว่า และขับได้มันกว่าเกียร์ AT

สำหรับในส่วนของเบรกนั้น ตำแหน่งแป้นเบรกของเกียร์ MT แป้นจะอยู่ต่ำกว่าตัวที่เป็นเกียร์ AT ซึ่งทำให้ไม่ต้องยกเท้าออกจากคันเร่ง มาเหยียบแป้นเบรกสูงนัก ทำให้ไม่เมื่อยเท้าขวา และรู้สึกว่าเบรกนั้นทำได้แน่นอยู่เท้ากว่าเกียร์ AT เสียด้วย ในจุดนี้ทำให้ผมประทับในในเบรกของเจ้า Sonic เพิ่มขึ้นไปอีก

ในส่วนของช่วงล่าง การทรงตัวของตัวรถ จากที่ได้เคยบอกไปว่า Sonic ถือว่าเป็นรถ Sub-Compact ที่มีช่วงล่างเป็นอันดับต้นของตลาดบ้านเรา ณ ตอนนี้ แต่เมื่อได้มาลองตัวถัง Hatchback ขับที่ความเร็ว ประมาณ 140 กม./ชม. ขึ้นไป จะรู้สึกว่า ท้ายรถจะออกลอยๆ นิดๆ (ใน 4 ประตูที่ความเร็วประมาณนี้ยังคงนิ่งอยู่) อาจเป็นที่น้ำหนักทางด้านท้ายที่เบากว่าตัว Sedan ถึง 15 กก. และดีไซน์ของด้านท้ายที่ดูสั้นๆ ตันๆ ไปหน่อย ทำให้มิติความยาวน้อยกว่าตัว Sedan อยู่ 360มม. รวมถึงอากาศพลศาสตร์ทางด้านหลัง จึงอาจทำให้บาลานซ์ของตัวรถนั้น ยังสู้ตัว Sedan ไม่ได้ ถ้าอย่างนิ่งกว่านี้ อาจต้องไปหาสปอยเลอร์เทพๆ ใส่ เสริมหล่อ + เพิ่มแรงกดด้านท้ายกันอีก

ในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรงไฮโดรลิก ที่ยังทำหน้าที่ได้ดีทั้งในความหนืดหนัก และความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ระบบเบรกซึ่งทำหน้าที่ของมันได้ดีไม่มีเปลี่ยน ในการหน่วงลดความเร็วลง ถึงแม้จะต้องกดแป้นลงไปลึกหน่อยก็ตาม และในส่วนของเกียร์อัตโนมัติ Torque Converter ตัวนี้ ยังทำหน้าที่ได้ช้าเหมือนเดิม กว่าจะเปลี่ยนเกียร์ทีต้องขอคิดตั้งสติก่อน อีกตามเคย

สรุป อีกครั้งที่จะต้องขอพูดสรุปเหมือนเดิม คือ ใครที่คิดจะเลือกซื้อรถ Sub Compact สักคัน ให้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้รับสิทธิคืนภาษี ยังไงก็ไม่ควรมองข้าม Chevrolet Sonic ไป จนกว่าคุณจะได้ลองสัมผัสด้วยตัวเองเสียก่อน เพราะทาง GM ได้ทำการบ้านมาอย่างดี ทั้งการดีไซน์ภายนอก ที่ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์, ภายในที่ดูดีสวยงาม สมรรถนะของช่วงล่างที่เยี่ยมยอดทั้งการซับแรง และการยึดเกาะในการทรงตัว พวงมาลัยที่หนักและหนืด แต่ให้ความเฉียบคม เบรกที่สั่งหยุดหน่วงความเร็วลงได้รวดเร็ว ถึงแม้ต้องกดลงน้ำหนักแป้นเบรกลึกมากไปหน่อย ทั้งหมดนี้ ยังยืนยันว่าเป็นจุดเด่น ที่ทำได้ดี เหนือ Sub Compact ค่ายอื่น เมื่อพูดถึงข้อดีกันไปเยอะแล้ว ก็ต้องขอพูดถึงข้อด้อยที่พบกันบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าเชียร์เป็นการส่วนตัว จุดแรกที่ไม่ค่อยประทับใจนักคือในส่วนของเครื่องยนต์นั้น ยังดูจะให้กำลังน้อยเกินไป กับบล๊อกเพียง 1.4 ลิตร ซึ่งมาเล็กสุดเป็นผู้น้อย เมื่อเทียบกับค่าย อื่นๆ ถ้าจะจัดบล๊อก 1.5 หรือ 1.6 ลิตร มาให้เลือกสรรได้ แบบทาง Fiesta คงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าได้มากขึ้น และเกียร์อัตโนมัติ Torque Converter ลูกนี้ยังตอบสนองได้ไม่ทันใจเท่าที่ควร รวมถึงความนุ่มนวลยังสู้ CVT ไม่ได้ แต่ถ้าขับขี่แบบไม่ซีเรียสนัก ประเด็นข้อด้อยตรงนี้ก็ไม่ได้สำคัญถึงขนาดต้องมาคิดหนักหัวเลย ทางที่ดีควรลองไปขับด้วยตัวเอง ว่าชอบหรือไม่ สำหรับตัวเลือก ที่มีมาถึง 8 รุ่นย่อยนั้น ก็แล้วแต่สไตล์ความชอบเลย รวมถึงเงินในกระเป๋าที่คุณมีให้แก่ ออปชั่นต่างๆ แต่ถ้าจะให้แนะนำ โดยส่วนตัวขอเชียร์ Sedan รุ่น LT เกียร์ MT เนื่องจาก ตัวรถ 4 ประตู มีเสถียรภาพในการทรงตัวที่ดีกว่า พื้นที่สัมภาระท้ายที่จุได้มากกว่า อัตราเร่งที่ทำได้ดีกว่า สวยกว่าไหม? แล้วแต่คนชอบ ที่สำคัญราคายังถูกกว่าตัว Hatchback ราว 17,000 บาท และที่เลือกเกียร์ MT นั้น เพื่อที่จะให้การตอบสนองได้ดีกว่า เกียร์ AT รวมถึงขับได้สนุกกว่าอีกด้วย แต่ถ้าขับในที่รถติดมากๆ ก็คงเมื่อยขาเอาได้ ถ้าอยากเน้นสบายๆ ดูดี ออปชั่นครบ ไม่ซีเรียสเรื่องการขับขี่นั้น รุ่น LTZ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

ภณ เพียรทนงกิจ (พล autospinn) ผู้เขียน


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ