หลังยกเลิกสายการผลิตรถสปอร์ต RX-8 ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Mazda ก็ไม่มีรถที่ใช้ขุมพลังโรตารี่ออกทำตลาดอีกเลย ด้วยเหตุผลสำคัญก็คืออัตราบริโภคน้ำมันที่สูงและปล่อยมลพิษไอเสียค่อนข้างมากทำให้ไม่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม Mazda ประกาศด้วยความเชื่อมั่นมาตลอดว่าเครื่องยนต์ลูกสูบหมุนเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์จะได้ขับเคลื่อนอยู่ในรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน
เวลานี้ Mazda กำลังพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่แบบใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปีหน้า แต่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องผลิตกำลังไฟให้แก่รถพลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะติดตั้งอยู่ใน Mazda3 เจนเนอเรชั่นใหม่ด้วย
ถือเป็นอนาคตที่ค่อนข้างมืดมนของเครื่องยนต์อันทรงพลังที่หลายคนชื่นชอบ เป็นเครื่องยนต์ที่เคยสร้างชื่อและคว้าชัยชนะในการแข่งขันมากมาย รวมถึงการแข่งรถยนต์ทางเรียบระดับโลกอย่าง Le Mans ด้วย แต่ต้องมาเป็นตัวป้อนกำลังไฟเพื่อขยายระยะทางหรือ range extender ให้รถพลังงานทางเลือก
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวล่าสุดอาจทำให้สาวกโรตารี่เริ่มมีความหวังเรืองรองขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ Nobuhiro Yamamoto หัวหน้าโครงการพัฒนารถสปอร์ต MX-5 ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันกับเวบไซต์ Car Sales ว่า Mazda กำลังพัฒนารถสปอร์ตในตำนาน RX-7 ออกมาทำตลาดอีกครั้ง โดยมีกำหนดการเผยโฉมในปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่จะได้เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของ Cosmo Sport โปรดักชั่นคาร์รุ่นแรกของ Mazda ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ด้วย
Yamamoto มีความหลังอันยาวนานกับขุมพลังโรตารี่ เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเครื่องยนต์ของ RX-7 เวอร์ชั่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนโฉมเป็น RX-8 และยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องยนต์ของรถแข่ง 787B ที่คว้าชัยชนะที่ Le Mans
วิศวกรชั้นหัวกะทิของ Mazda คนนี้บอกด้วยว่า RX-7 เจนเนอเรชั่นใหม่จะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรตารี่รหัส 16X ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยจะใช้โครงสร้างของเครื่องสูบหมุนสองโรเตอร์รุ่นเดิมอย่าง 13B แต่ขยายความจุกระบอกสูบเพิ่มเป็น 1.6 ลิตร พละกำลังสูงสุดคาดว่าจะรีดออกมาได้ถึง 300 แรงม้า โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบอัดอากาศแต่อย่างใด
Yamamoto อธิบายเสริมว่า ท่อกลางแคททาไลติดคอนเวอร์เตอร์แบบพิเศษผนวกกับเทคโนโลยี SKYACTIV ของ Mazda จะช่วยให้เครื่องยนต์โรตารี่รุ่นใหม่มีความประหยัดน้ำมันมากกว่าเวอร์ชั่นเดิม นอกจากนี้ RX-7 รุ่นใหม่จะไม่มีระบบไฮบริดอย่างแน่นอน เพื่อรักษาจิตวิญญาณของความเป็นรถสปอร์ตขนานแท้ไว้
เพื่อควบคุมต้นทุนให้ต่ำมากที่สุด RX-7 อาจใช้แพลทฟอร์มแบบเดียวกับ MX-5 รุ่นต่อไปแต่อาจถูกยืดฐานล้อเพิ่มขึ้น น้ำหนักมวลรวมของตัวรถอาจจะน้อยกว่า 1,270 กก. โดยในตลาดสหรัฐอเมริกา RX-7 รุ่นใหม่ล่าสุดนี้จะมีโครงสร้างห้องโดยสารแบบสองที่นั่ง แต่ในตลาดประเทศอื่นคาดว่าจะเป็นแบบ 2+2 ที่นั่งซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า
ถือเป็นข่าวดีอย่างมากของสาวก Mazda แต่ข่าวร้ายก็คืออาจต้องเฝ้ารออีกอย่างน้อยห้าปีถึงจะได้เห็นตัวจริงกัน
ความคิดเห็น