กรุงเทพฯ (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556) : บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศ แผนขยายหน้าที่ของนิสสัน เทคนิคคอล เซ็นเตอร์ เซาท์อีสท์ เอเชีย หรือ NTCSEA ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการเพิ่มงานทางด้านวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน โดยการขยายขอบเขตการรับผิดชอบนี้ รวมถึงการขยายที่ทำการและการเพิ่มจำนวนบุคคลากร นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองที่เร็วขึ้นต่อความต้องการของตลาด และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมให้กับรถยนต์นิสสันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด
การขยายนิสสัน เทคนิคคอล เซ็นเตอร์ เซาท์อีสท์ เอเชีย หรือ NTCSEA เป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเป้าหมายในการเติบโตที่ได้กำหนดไว้ในแผนธุรกิจของนิสสัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ภายในปี 2558 รถยนต์ที่จะนำออกทำการตลาดในภูมิภาคนั้น ๆ NTCSEA จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในทุกขั้นตอนการดำเนินงานของการวิจัยและพัฒนาหลังจากขั้นตอนด้านวิศวกรรมออกแบบที่ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับตลาดทั่วโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งการขยายความรับผิดชอบรูปแบบนี้จะช่วยให้ NTCSEA สามารถสะท้อนความชอบหรือรสนิยมของผู้บริโภคเฉพาะตลาดในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
• ด้วยการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 3.4 พันล้านเยนภายในช่วงกลางปี 2557 NTCSEA จะสามารถสร้างสนามทดสอบ และศูนย์ทดสอบอื่น ๆ รวมถึงศูนย์ทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์และแชสซีส์ และสถานที่ในการบริหารงานใหม่เพิ่มขึ้น
• จากที่ได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ การเพิ่มจำนวนบุคลากร ระหว่างปี 2553-2559 เป็น 3 เท่าหรือ 370 อัตรา รวมทั้งการเพิ่มจำนวนของ NTCSEA ในประเทศอินโดนีเซีย โดยปัจจุบัน NTCSEA มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 219 คน
“การเพิ่มความแข็งแกร่งของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในระดับภูมิภาค จะช่วยเพิ่มคุณภาพและเสริมศักยภาพในด้านการแข่งขันทางการตลาดของรถยนต์นิสสัน” คุณมิตซูฮิโกะ ยามาชิตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส (Executive Vice President) บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด กล่าว “จากการที่เราได้ขยายรูปแบบการทำงานไปสู่ระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้นอีกในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในแต่ละแห่งเพื่อตอบสนองปริมาณลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น”
ปัจจุบัน นิสสัน เทคนิคคอล เซ็นเตอร์ เซาท์อีสท์ เอเชีย รับผิดชอบงานใน 10 ประเทศ โรงงานผลิตจำนวน 6 แห่งทั่วภูมิภาคอาเซียน
ความคิดเห็น