ขับทดสอบ Nissan Pulsar 1.8 ลิตร ตัวท๊อป กรุงเทพ-ระยอง-จันทบุรี Share this

ขับทดสอบ Nissan Pulsar 1.8 ลิตร ตัวท๊อป กรุงเทพ-ระยอง-จันทบุรี

Admin
โดย Admin
โพสต์เมื่อ 04 March 2556

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะได้เห็นรูปนกกระจอกเทศ โผล่ยื่นหัวออกจากช่อง Sun Roof ของ Nissan Pulsar Compact-Hatchback ตัวล่าสุดของตลาดรถบ้านเรากันว่อนเน็ตไปบ้างแล้ว ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด ที่ได้ออกมาเรียกกระแส มาวันนี้ทาง Autospinn ของเราได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบ Nissan Pulsar ใหม่นี้ด้วย ก่อนที่จะการเปิดตัว ในวันที่ 7 มีนาคม นี้ ซึ่งในเรื่องของสเป็ก และราคาอย่างเป็นทางการ จะแจ้งออกมาให้ทราบกันในวันนั้น คงต้องมาคอยดูกันว่า การกลับมาทำตลาดรถ Hatchback ในพิกัดนี้ ของ Nissan สามารถที่จะมาแก้มือ จากความผิดหวังของตัว Tida ได้หรือไม่ กับเจ้ารถลูกหนู คันนี้

สำหรับการขับทดสอบแบบ Group Test ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ Nissan มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ได้เชิญทางเราเข้าไปร่วมทดสอบในครั้งนี้ โดยทางพี่ๆ ทีมงาน ได้เตรียมรถไว้ทั้งหมด 7 คัน เป็นตัวท๊อปของเครื่อง 1.8 ทั้งสิ้น โดยในขาไปได้ขับคันสีขาวหมายเลข 7 โดยสลับขับกับพี่อีกคนหนึ่ง ในส่วนของเส้นทางนั้น เริ่มตั้งแต่ ออกจากโรงแรมแกรนด์โฟร์วิง ศรีนครินทร์ มุ่งหน้า มอเตอร์เวย์ ไปยังระยอง-จันทบุรี เป็นระยะทางกว่า 360 กม. ที่เป็นทางตรงสลับ โค้งคดเคี้ยวให้ได้ลองทดสอบสมรรถนะค่อนข้างเต็มที่ ในขณะที่ขากลับได้ขับคันสีดำ หมายเลข 6 ได้ขับมือเดียว เส้นทางออกจากโรงแรม Marriott ระยอง มุ่งหน้ากลับทางมอเตอร์เวย์ เช่นเดียวกับขามา ไปออกศรีนครินทร์ สิ้นสุดที่ โรงแรมแกรนด์โฟร์วิง เช่นเดิม

ในการขับทดสอบกลุ่มสื่อมวลชน นั้นจะขับกันค่อนข้างเร็ว พอสมควร ขยี้แป้นคันเร่งกันมันเท้า ทำให้เลขอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ออกมาที่ 12.7 กม./ลิตร ตามหน้าที่โชว์จากจอ MID ถ้าเทียบกับเกณฑ์เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ก็ถือว่าปกติ กับการขับที่ความเร็วและกระแทกคันเร่งระดับนี้ ถ้ามีโอกาสได้ยืมมาเทสเดี่ยว จะได้มาวัดอัตราสิ้นเปลืองที่แท้จริงให้ทราบกันอีกที

เริ่มพูดกันถึงรูปกายภายนอก เจ้า Pulsar นี้ได้พัฒนาภายใต้แนวคิด Smart Stress-free Premium Hatchback สำหรับดีไซน์ ภายนอก ได้ออกแบบให้ดูปราดเปรียวโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Fairlady Z จากรุ่น 370Z ที่เส้นด้านข้างตัวรถ หรือ Waist Line แต่เมื่อมองตรงจากทางด้านหน้าดูเผินๆ จะรู้สึกเหมือนกับว่า จับ Nissan Almera มารวมร่างกับ Teana อย่างไงอย่างงั้น จากกระจังหน้าที่ดูคล้าย Almera และ โคมไฟหน้าที่มาในลักษณะใกล้เคียง Teana ด้านหน้าไฟแบบโปรเจคเตอร์ Bi-Xenon ปรับสูง-ต่ำ แบบอัตโนมัติ แถมด้วย Sun-Roof ที่เอาไว้ให้นกระจอกเทศสามารถเข้ามานั่งโดยสารด้วยได้ ล้อแม็กขอบ 17” ลายใหม่ และสปอยเลอร์ด้านท้ายตัวรถ ทั้งหมดนี้เพิ่มให้ภาพลักษณ์ Premium Hatchback นั้นยังคงแฝงด้วยความสปอร์ต และไม่พอแค่นั้น เจ้ารถลูกหนูนี้ ดูเหมือนจะเล็ก แต่ที่จริงไม่เล็ก มันเป็นรถที่มีระยะฐานล้อ ยาวที่สุดในกลุ่ม Compact-Hatchback บ้านเรา ยาวถึง 2.7 เมตรเลยทีเดียว

ภายใน เมื่อเปิดประตูเข้ามาด้วยระบบ Intelligent Key และสตาร์ทด้วยปุ่ม Push Start เรียบร้อย เปิดเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา ได้ ก็หันมามองภาพโดยรวมของห้องโดยสาร จะเห็นสิ่งที่แตกต่างจาก Sylphy ได้แก่เบาะหนัง สีดำ ที่มีความโอบกระชับดีมาก และพนักพิงศรีษะ มีขนาดใหญ่ รองรับช่วงท้ายทอยด้านหลังศรีษะได้ดี , Trim Console จากลายไม้ ได้กลายเป็นสีเงิน อลูมินัม และภายในจากโทนสีเบจ เป็นสีดำ, ปุ่มเปิด Sunroof อยู่บริเวณที่เก็บแว่นตรงไฟส่องแผนที่ และที่สำคัญ Cruise Control ที่ไม่จับใส่มาให้ในตัว Sylphy ณ บัดนี้ได้มาลงใน Pulsar เรียบร้อยแล้ว นอกนั้นต้องเรียกว่าเหมือนกับ Sylphy 1.8 V NAVI แทบทุกอย่างในเรื่องของออปชั่น และที่ขาดไม่ได้ ในโฉม Hatchback นี้ สามารถพับเบาะหลังแบบ 60:40 ได้ ซึ่งในโฉม Sedan อย่าง Sylphy ไม่สามารถทำได้ ในพื้นที่โดยสารตอนหลังนั้น ยังคงโอ่อ่ากว้างขวางเช่นเดิม แต่บริเวณ Head Room ดูจะเตี้ยไปนิด เนื่องจาก การดีไซน์ตรงบริเวณหลังคา ที่ดูจะเน้นความเพรียวลาดลงทางท้าย และจุดเด่นที่สำคัญในด้านความสุนทรีย์ในห้องโดยสารอีกอย่างคือ การเก็บเสียงที่สุดยอดเยี่ยมเช่นเดิม เงียบ แม้ความเร็วสูงทั้งเสียงลม และจากยาง แทบไม่มีให้ได้ยิน แม้วิ่งที่ความเร็วประมาณ 120 กม./ชม.

สมรรถนะเครื่องยนต์ขนาดความจุ 1798 ซีซี รหัส MRA8DE มากับระบบวาล์วแปรผันคู่ Twin C-VTC (Twin Continuously-Variable Timing Control) ทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย จะช่วยในเรื่อง ที่ได้เคลมไปแล้วในตัว Sylphy เรื่องประหยัดขึ้น และเงียบขึ้น ให้กำลังสูงสุด 131ps@6000rpm กับแรงบิดสูงสุด 174Nm@3600rpm เป็นบล๊อกเดียวกันกับที่จับลงใน Sylphy แต่จากการคาดเดาโดยส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการระบายไอเสีย ในส่วนของหม้อพักปลาย เพราะในจังหวะเร่งเครื่องรอบสูง ซุ่มเสียงมีมามากขึ้น ซึ่งได้มีโอกาสลองถามทางทีมวิศวะกร ก็ได้แจ้งว่าเปลี่ยนในส่วนของหม้อพักปลายจริง เมื่อมาพูดถึงในส่วนของกำลังเครื่องยนต์ กำลังเครื่องการตอบสนองยังมีมาเหมือนเดิม ไม่แตกต่างจากเดิม การออกตัวค่อนข้างพุ่งดี เมื่อกดน้ำหนักไปที่แป้นคันเร่งเล็กน้อยรถ ก็พุ่งทะยานออกไป การตอบสนองคันเร่งยังค่อนข้างไวดีเช่นเดิม แต่เมื่อต้องการเร่งแซงที่ความเร็ว ระดับ 100 กม. ขึ้นไป ความเร็วดูจะไล่ขึ้นแบบเรื่อยๆ ไม่ค่อยหวือหวา ซึ่งการเร่งแซงในส่วนตรงนี้ อาจต้องระวัง เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในตัว Sylphy จากที่ได้ลองกดๆ ดูได้ลองสูงสุดที่ราว 170กม./ชม. ก็ต้องยกเนื่องจากถนนไม่เอื้อเสียแล้ว แต่ดูแล้วน่าจะยังพอไปต่อได้อีก สัก 190กม./ชม. น่าจะมีให้เห็นได้ นอกจากนั้นเราได้ลองใช้อุปกรณ์ OBD II Bluetooth วัดค่าแรงม้า แรงบิดกันเล่นๆ ในขณะขับขี่ ได้ม้าออกมาสูงสุดที่ 93.3hp@5775rpm และแรงบิด 140.6 ปอนด์-ฟุต@1738rpm ในส่วนด้านอัตราเร่งเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ลองจับ 0-100 เนื่องจาก สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ จากการขับในรูปแบบขบวน ถ้ามีโอกาสนำมาเทสเดี่ยวอีก จะนำมาลองวัดอัตราเร่งให้ได้รู้กันอย่างแน่นอน

ระบบส่งกำลัง เกียร์ Xtronic-CVT ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Nissan เหมือนเดิมเช่นเดิม ที่มีจุดเด่นในเรื่องความ Smooth ในการขึ้นเกียร์และการตอบสนองของเกียร์ที่รวดเร็ว และช่วยได้ดีในเรื่องการประหยัดน้ำมัน แต่ถ้าจะเน้นการขับขี่แบบสปอร์ต กับเกียร์ CVT คงจะเรียกสมรรถนะได้ออกมาไม่เต็มที่นัก ซึ่งถ้าเป็นไปได้ในตัวของ Pulsar ถ้ามีการแตกใน Sport Line ออกมา จับชนเกียร์ Manual อาจจะเรียกความสนใจจากกลุ่มลูกค้าได้อีกระดับ เพราะในจังหวะเร่งแซง เหยียบคันเร่งมิด เกียร์จะคาที่รอบสูงคาแช่อยู่ราวเกือบๆ 6000rpm และปล่อยให้ความเร็วค่อยๆไต่ไป แต่ทว่า ในหลายจังหวะกับให้ความรู้สึกที่ว่า ถ้าใช้เกียร์ AT ปกติ ซึ่งเป็นแบบ Torque Converter จะพอมีแรงดึงให้ได้สัมผัสอรรถรสกันบ้าง รวมถึง ให้ความรู้สึกว่าการไล่ความเร็ว จะไล่ขึ้นได้ดีกว่านี้ และถ้าลองกดปุ่มสปอร์ตที่ก้านเกียร์ ซึ่งที่จริงเป็นปุ่ม Over Drive ไว้ใช้ในการเร่งแซง เมื่อแซงเสร็จปุป จะต้องทำการปิดปุ่มนี้ทันที เพราะมิเช่นนั้น จะเป็นการขับรถแบบลากเกียร์ ซึ่งเมื่อรอบอยู่เกือบจะ Red Line ความเร็วจะไม่ไปต่อแล้ว แต่จุดที่่ชอบของการใช้ปุ่มสปอร์ตนี้ คือ การลบข้อเสียในจังหวะยกเคันเร่ง เพื่อเตรียมโยกหลบ และต้องการเดินคันเร่งต่อ ถ้าเป็นโหมดธรรมดาเกียร์ตัดขึ้นให้ทันทำให้ต้องมา Kick Down ไล่รอบเครื่องใหม่ แต่ในสปอร์ตโหมดนี้ รอบจะคารอไว้ให้เลย พร้อมที่จะกระแทกคันเร่งเพื่อทยานพุ่งต่อไปได้

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อเช่นเดิม และฟีลลิ่ง ก็เหมือนเดิม เบรกไม่ตื้น ออกลึกๆ หน่อย ให้ความนุ่มนวล เบรกไม่หัวทิ่มหัวตำ เบรกทำได้ดีสบายๆ ผู้โดยสารนั่งหน้าไม่ทิ่ม แต่ความหนึบของเบรกยังไม่ถึงกับดีที่สุด ขับมาเร็วต้องเบรกน้ำหนักเผื่อเพิ่มไว้หน่อย เพราะจังหวะติดไฟแดง ช่วงแรกๆ เบรก แบบนุ่มๆ กดแป้นเบรกแบบเลียๆ เหมือนขับปกติ หยุดเลยไกลไปนิด ถ้าต่อท้ายชาวบ้านก็ ต้องกดลงมิดแป้นจังหวะสุดท้าย ทำให้หลังจากนั้นเวลาเจอไฟแดง เลยต้องยกคันเร่งเผื่อไว้ก่อน จะได้ค่อยๆ เบรกแบบนุ่มๆ เลียแป้นเบรก และปล่อยไหลเอา

Handling ของพวงมาลัย ความรู้สึกที่ได้ค่อนข้างแตกต่างกัน ทั้ง 2 คัน ระหว่างคันหมายเลข 6 และ 7 โดยในขาไปขับคันหมายเลข 7 สีขาว รู้สึกว่า พวงมาลัยไฟฟ้า ค่อนข้างออกมาหนักพอสมควร และเรียกได้ว่า ไม่มี Free Area เลย ตั้งแต่ช่วงความเร็วปานกลางขึ้นไป แต่พอขากลับได้ขับคันสีดำ หมายเลข 6 กลับรู้สึกว่า น้ำหนักที่ได้เบากว่า คันแรก เล่นเอางงเล็กน้อย คือคันนี้น้ำหนักที่ได้ออกใกล้เคียงตัว Sylphy 1.6 คือ เบาที่ความเร็วต่ำ และความเร็วสูงน้ำหนัก เริ่มมา ยังพอมี Free Area ให้ยืดหยุ่นมือบ้างเล็กน้อย แต่ในขณะที่เข้าโค้งรถทั้งสองคันน้ำหนักพวงมาลัยกลับหายไป รู้สึกเบาออกหวิวๆ โดยรวม Feeling ของพวงมาลัยทั้งสองคันนี้ที่ดูต่างกัน อาจมีความเป็นไปได้ว่า สภาพพื้นถนนในขากลับที่ดูจะแย่กว่าขามามาก เป็นปัจจัยที่มำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันไปก็ได้ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ การเซ็ตจะออกมาคล้ายตัว Sylphy 1.6 แต่จะมีน้ำหนักมากกว่าอยู่นิดหน่อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากล้ออัลลอย 17” เป็นฟีลลิ่งพวงมาลัยไฟฟ้าที่ให้ความเบาแบบหน่วงๆ นิดหน่อย น้ำหนักอาจไม่ค่อยเป็นตามธรรมชาตินัก แต่ดูใช้กับการขับขี่ในตัวเมืองได้ดี

ช่วงล่างด้านหน้าอิสระแมกเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ในส่วนนี้เป็นจุดที่แตกต่างให้ความสปอร์ตขึ้นแบบเห็นเด่นชัดที่สุด การเซ็ตออกมาใหม่นี้ ค่อนข้างเอาใจวัยรุ่น ทำได้ค่อนข้างลงตัว แข็งขึ้น หนึบขึ้น ไม่โคลนเคลน มีอาการแบบ Sylphy และไม่กระด้างจนเกินไป แต่ก็ยังไม่ถือว่านุ่มนวลและหนึบเท่า อีกสามแบรนด์ใน C-Segment ที่เด่นเรื่องช่วงล่าง เมื่อเทียบดูการขับขี่จะเห็นได้ชัดเมื่อขับที่ความเร็วสูงสัก 120 กม./ชม. ขึ้นไป จะไม่ยวบโคลงตัวเหมือน Sylphy และในจังหวะขับมุดเปลี่ยนเลน อาการคลอนตัวทิ้งด้านข้างตัวรถก็ไม่ได้มีให้เห็นนัก แต่เมื่อลองโยนเข้าโค้งเล่นๆ แอบรู้สึกว่าด้านหลังเหมือน จะเบาไปหน่อย ท้ายจะออกโยนนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากนัก เมื่อค่อยๆ ประคองคันเร่งในโค้งให้ดี โดยรวมถือว่าทำออกมาค่อนข้างถูกใจผม และผู้คนที่เน้นการขับขี่ในสไตล์สปอร์ตจริง

สรุป All New Nissan Pulsar รถยนต์ Compact-Hatchback ตัวล่าสุดนี้ ที่เรียกได้ว่า เป็นแฝดคนละฝากับ Compact-Sedan อย่าง Nissan Sylphy ถือเป็นอีกหนึ่งรถยนต์ที่ให้ในเรื่องความคุ้มค่า ออปชั่นที่ให้มาเต็มแบบไม่กั๊ก ผู้ที่ชอบรถยนต์ที่ให้ความคุ้มค่า Nissan Pulsar ถือว่าเป็นรถยนต์ 5 ประตูที่เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว และเนื่องจากมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในสไตล์การขับขี่ที่เซ๊ตช่วงล่างมาใหม่ นั่นทำให้ Pulsar จับกลุ่มลูกค้าที่รักความสปอร์ต แต่ก็ยังแฝงความสะดวกสบาย ไม่ได้ออกแนวสปอร์ตจ๋ามากนัก เหลือเพียงแค่ราคาเคาะเปิดเท่านั้นว่าจะออกมาที่เท่าใด คงต้องมารอดูการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มีนาคมนี้ กับน้องหนู Pulsar และที่สำคัญจะชิงส่วนแบ่งการตลาด จาก Compact-Hatchback สไตล์สปอร์ตมาได้สักเท่าไร อันนี้คงต้องรอดูกันยาวๆ

เขียนโดย ภณ เพียรทนงกิจ (พล Autospinn)

ชมภาพเพิ่มเติมคลิก http://photos.autospinn.com/2013-Nissan-Pulsar1800-GroupTest/


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ