เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม ที่ผ่านมา Mitsubishi Motors ได้เปิดตัวรถ Eco Sedan โฉมใหม่ของค่าย 2013 New Mitsubishi Attrage (ก่อนหน้านี้ เรียกกันว่า Mirage Sedan) ซึ่งมาตามสไตล์ของรถ Concept G4 ที่ได้โชว์เรือนกาย กันไปเมื่อ ช่วง Motor Show ที่ผ่านมา โดยดึงพระเอกสุด Hot อย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ และ นางเอกสุดสวย อย่าง คิมเบอร์ลี่ มาเป็น พรีเซ็นเตอร์ คู่ และเปิดตัวกันอย่างอลังการ บริเวณลาน พาร์ค พารากอน และมีสโลแกน ใหม่ว่า Be Beyond ก้าวที่เหรือใคร ซึ่งได้ชูจุดขายทั้งห้องโดยสารที่กว้างขวาง ฟังก์ชั่นที่เหนือกว่า และประหยัดน้ำมัน 22 km/l จะดีเหนือกว่าสักแค่ไหน ลองอ่านดูกันเลย
การขับทดสอบ Group Test สื่อมวลชน ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ Mitsubishi Motors ประเทศไทย สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ ที่ได้จัดรถ Mitsubishi Attrage ทั้งหมด 8 คัน เกียร์ CVT 4 คัน และ เกียร์ MT 4 คัน โดยได้แบ่งการทดสอบ เป็น 2 ส่วน โดยในวันแรก เป็นการวิ่งแบบ Eco Run เน้นประหยัดน้ำมัน แต่ไม่ได้ปั้นตัวเลข จนเกินไป วิ่งแบบ ชิลๆ สบายๆ แอร์เย็น ขับเรื่อยๆ ที่ความเร็ว 90-100 กม./ชม และในวันที่ 2 ให้สื่อมวลชนได้แบบ Free Running แต่ยังคงอยู่ในรูปแบบ Caravan เช่นเดิม
สำหรับวันแรก ทางผมได้รับรถหมายเลข 1 สีฟ้า GLS ltd. ตัวท๊อป กับเส้นทางในวันแรก เริ่มต้นเดินทางโดยผมเป็นผู้โดยสาร เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามบินอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปยัง อ.เขมราฐ ซึ่ง ในช่วงนี้เป็น Eco Run วัดอัตราสิ้นเปลืองจากการเติมน้ำมัน กลับเข้าไปในถังจริง โดยมีระยะทาง 102 กม. แต่ผมได้ขับเป็นมือที่สอง วิ่งออกต่อจากปั๊มน้ำมัน เขมราฐ ไปยัง โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ มุกดาหาร ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้วัดอัตราสิ้นเปลือง ระยะทางในช่วงนี้ 94 กม. ดูจากมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองทำได้ที่ 5.2 ลิตร/ 100 กม. (19.23 กม./ลิตร) ขับบนเส้นทางลักษณะ พื้นถนนไม่เรียบ เป็นทางชันขึ้น-ลง ความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. และมีเร่ง kick down แซงรถคันหน้าบ้าง ซึ่งถือว่าตัวเลขที่ได้ จากมาตรวัดนี้ทำออกมาได้ดูดี ทีเดียว
ในวันที่ 2 ได้สลับรถเป็นหมายเลข 7 สีแดง GLX เกียร์ MT ดูบ้าง โดยผมได้รับมอบหมายมือขับที่ 2 อีกเช่นกัน โดยออกจากพระธาตุพนม จนไปสุดที่สนามบินนครพนม ซึ่งยังเป็นรูปแบบขบวนอยู่ ถึงแม้เป็น Free Running แต่ก็ ยังไม่สามารถ ทดสอบอัตราเร่งแซง ได้เนื่องจากขับแบบ ไหลตามขบวนกันไป
ขอเข้ารายละเอียดของตัวรถที่ได้ทดสอบกันเลย
รูปลักษณ์ภายนอก หลังปรากฏโฉม Concept G4 ใน Motor Show ที่ผ่านมา นั่นล่ะ คือตัวถังของ Attrage คันนี้ แตกต่างตรงที่ กันชนหน้า กระจังหน้า ไฟหน้า ล้อแม็ก ซึ่งเป็นรายละเอียดแบบปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น สำหรับจุดที่แตกต่างในรุ่นของ GLX กับ GLS ขึ้นไป ได้แก่ ไฟตัดหมอก, ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง, ล้ออัลลอย (15” สำหรับ GLS และ ล้อกระทะ สำหรับ GLX)
ห้องโดยสารภายใน ของรุ่นท๊อป GLS ltd. ภายในวัสดุจะเป็นหนังและวัสดุสังเคราะห์สีเบจ ในขณะที่ GLS ลงมาจะเป็นเบาะผ้า ในรุ่น GLS ltd. มาพร้อมเครื่องเสียงพ่วง ระบบ Navi จอ 6.5” Touch Screen ระบบนำทางดูง่ายขึ้นกว่า Mirage แต่ยังไงก็รู้สึกว่ายังเทียบกับ G9 ใน Lancer EX ของผมไม่ได้อยู่ดี และหน้าจอนี้จะแสดงผลจากกล้องมองหลังเมื่อเข้าเกียร์ R อีกด้วย พวงมาลัย สามก้านหุ้มด้วยขอบหนัง และมีการตกแต่ง Silver Decorate ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่พบใน Mirage Bloom Edition แต่ได้ฝังสวิทช์ควบคุมเครื่องเสียงเข้าไปเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งจุดขาย และมาพร้อมกับปุ่ม Push Start ร่วมกับระบบกุญแจอัจฉริยะ KOS ในขณะที่รุ่น GLS ลงมา เครื่องเสียงจะเป็น แบบเครื่องเล่น CD รวมถึงพวงมาลัยแบบสามก้านที่ใช้วัสดุพอลียูรีเทน อย่างที่พบใน Mirage
เครื่องยนต์ 3 สูบ DOHC พ่วงระบบ วาล์วแปรผัน MIVEC 12 วาล์ว ความจุ 1,193cc ให้กำลังสูงสุด 78 แรงม้า ที่6,000rpm และแรงบิด 100Nm ที่4,000rpm ระบบการจ่ายน้ำมันเป็นหัวฉีด Multi point ควบคุมด้วยกล่องสมองกล 32bit รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง E20 ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 4 ได้มีการปรับในส่วนชอง Camshaft ให้มีการตอบสนองที่ลื่นไหล ยิ่งขึ้น แต่จากการใช้งานจริง เรายังพบว่า รถดูตื้อกว่า Mirage อยู่ ในช่วง Kickdown แซง นั่นพบว่า รถดูจะไม่พุ่งทะยานไปอย่างที่คิด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขับแบบ Eco Run เพราะในช่วง ที่ได้ขับคัน CVT นี้ ได้ขับ Eco Run มาก่อน สำหรับการตอบสนองสำหรับเกียร์ธรรมดา ถือว่าทำได้น่าพอใจ ลากรอบได้ จนชนขีด Redline ก่อนจะถูกตัดรอบไป ซึ่งนั่นบังคับให้เราต้อง Shift เกียร์ ขึ้นต่อไป นั่นรู้สึกทำให้ได้อรรถรสมากกว่าการขับเกียร์ CVT เป็นอย่างยิ่ง พอสัมผัสถึงแรงดึงที่มีมากกว่า ถึงแม้จะไม่มากนักกับเครื่องยนต์ 3 สูบนี้ แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่หนักกว่า Mirage เพียงแค่ 30 กก. นั่นยังส่งผลให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้แบบไม่ขี้เหล่ อายใครนัก
ระบบส่งกำลัง แบบเกียร์ CVT เอกสิทธิ์เฉพาะ ของ Mitsubishi ด้วยการพ่วงระบบ INVECS-III ซึ่งช่วยในการเรียนรู้การจดจำ พฤติกรรมของผู้ขับขี่ และในวันแรก ที่ผมได้ทดสอบ นั่นทำให้เกียร์เรียนรู้และจะจำสไตล์การขับ ซึ่งเรายังคงต้องค่อยๆ นวดคลึงเลี้ยงคันเร่งกันไป แต่เมื่อ Kickdown ปุป ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น มาแต่รอบ ความเร็วค่อยๆไต่ ซึ่งในบางครั้งผมจึงต้องดึงคันเกียร์โยกลงมาที่โหมด S อีกที เพื่อช่วยในการลดเกียร์ให้อัตราทด เพียงพอที่จะแซงได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับเกียร์ธรรมดา แบบ 5 Speed หัวเกียร์ดูเล็ก จับไม่กระชับมือนัก ทั้งที่มือผมก็ไม่ได้ใหญ่มาก ซึ่งเป็นแบบที่พบใน Triton ลักษณะของการ Shift เข้าเกียร์ จะเป็นแบบ Short Shift ช่วงเข้าเกียร์จะสั้น เป็นล๊อคๆ ซึ่งในการเข้าเกียร์ทำให้เราไม่ต้องโยกข้อมือมากนัก ทำให้การเข้าเกียร์ดูจะทำได้รวดเร็ว
ความสัมพันธ์ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ (เกียร์ธรรมดา) ลองวัด 3 ค่าได้ดังนี้ 80 กม./ชม. = 2400rpm 100 กม./ชม. = 3,000rpm 120 กม./ชม. = 3,500rpm
แฮนด์ลิ่งพวงมาลัย แบบผ่อนแรงไฟฟ้า วงเลี้ยวแคบสุด 4.8 เมตร ซึ่งยังคงให้ความคล่องตัวในการขับขี่แบบตัวเมืองได้ดี ไม่ต่างจาก Mirage และการขับขี่ที่ความเร็วต่ำ น้ำหนักเบา พอดีมือ แต่พวงมาลัยยังคงให้ฟีลลิ่ง แบบหลอกมือ ตามสไตล์ของพวงมาลัยไฟฟ้า และไม่คืนตัว เมื่อมีการหักวงเลี้ยว ซึ่งต้องประคองพวงมาลัยให้กับมาในระนาบแนวตรงเดิม แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ จะค่อยๆ หนืดตึงมือเพิ่มขึ้น ช่วง 60, 80,100 แต่เมื่อความเร็ว ประมาณช่วง 120 กม./ชม. ขึ้นไปจะเริ่มรู้สึกว่าเบามือไปเสียหน่อย พวงมาลัยไม่ค่อยไว คมนัก การตอบสนองดูช้าๆ อยู่บ้าง ในช่วง โยนเข้าโค้ง หรือ หักหลบ สิ่งกีดขวาง ยังดูไม่นิ่งสักเท่าไร ทางด้านความ Linear ของพวงมาลัย เท่าที่ลองขับปล่อยมือดู ช่วงความเร็ว 120 กม./ชม. พบว่า ยังคงประคองตัวอยู่ในไลน์ได้ดี แม้ช่วงล่างจะโอนเอนไปบ้างก็ตาม
ช่วงล่าง อิสระแม็คเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง สำหรับด้านหน้า และ ทอร์ชั่นบีม สำหรับด้านหลัง เซ็ตออกมาให้ดูนุ่มนวลนั่งสบายขึ้นกว่า Mirage จริง (ยกเว้นวันแรกที่อัดลมยางสูงถึง 45 psi ซึ่งนั้นทำให้เรานึกว่าเราขับรถกระบะอยู่) แต่เวลาเข้าโค้ง กลับรู้สึก ถึงการยุบลงแบบจมหาย ซึ่งบางครั้งก็เล่นเอาใจผู้ขับหล่นหายตามไปด้วย เมื่อเข้าโค้งที่ความเร็วสูง และทิ้งโค้งหนัก แน่นอนมีอาการ Understeer (หน้าดื้อโค้ง) ออกมาให้เห็นชัดเจน ซึ่งมากกว่าที่พบใน Mirage การยึดเกาะในทางตรงถือว่าทั่วๆไป ไม่ได้ดีและไม่ถึงกับแย่ ตามสไตล์รถน้ำหนักเบา ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ไปจะมีโคลนเคลนบ้าง แต่ ถ้าระดับ 120 กม./ชม. ขึ้นไปนี้จะเริ่มมีอาการ ลอยๆ ของตัวรถมากขึ้น รวมถึงบางครั้งที่มีการขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอริยาบถ นั่นก็ส่งผล ต่อการทรงตัวของตัวรถเช่นเดียวกัน
ระบบเบรก แบบดิสก์พร้อมช่องระบายความร้อน สำหรับคู่หน้า และ ดรัมเบรก สำหรับคู่หลัง ฟีลลิ่งของแป้นนั้น ดูจะไร้น้ำหนักเสียจริง เมื่อแตะแป้นลงไปครึ่งหนึ่งจะรู้สึกถึงสภาพไร้น้ำหนัก ก่อนที่จะถึงจุดที่สัมผัสแป้นเบรกได้นั้น ต้องลงลึกไปถึง 75% ซึ่งอาการแป้นเบรกลึก มันช่างดูทำให้เบรกไม่อยู่เอาได้ และเมื่อจังหวะติดขบวน ชัดเจนว่า เบรก Fade ไปมาก ทั้งที่รถวิ่งมา ราว 2000 กม. เท่านั้น การเบรก อาจต้องมีเผื่อระยะ ยิ่งกาวิ่งเป็นขบวนด้วยแล้ว ต้องทิ้งระยะห่างไว้มากพอสมควร เพื่อความปลอดภัย เพราะหลายครั้งที่ขณะขับในขบวน แล้วผู้ขับชินกับรถที่แป้นเบรก ตื้นและ เบรกได้นิ่งอยู่เท้า หลายครั้ง การ Shift Down เกียร์ช่วย เป็นสิ่งที่ช่วยให้ปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น
สรุป 2013 New Mitsubishi Attrage เป็น Eco Car ซึ่งทาง Mitsubishi ได้จัดทำให้เป็นรถแบบ City Car เต็มตัว เน้นการขับขี่ใช้งานในตัวเมือง ขับขี่ง่ายคล่องแคล่ว นั่งได้สบาย และฟังก์ชั่นที่ให้มาครบเหนือใคร ทางด้านสมรรถนะ กำลังเครื่องยนต์ ก็ยังเป็นในแบบเดียวกับ Mirage ซึ่งดูๆ ไปแล้ว แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย ถึงแม้ น้ำหนักจะมากกว่าเพียงเล็กน้อย และอัตราสิ้นเปลืองก็ยังถือเป็นจุดขายที่ยังดีอยู่กับ 22 กม./ลิตร ซึ่งคาดว่า ถ้าขับทางยาว นั่นสามารถทำได้จริง แต่เมื่อมามองถึงสมรรถนะการขับเคลื่อนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะช่วงล่าง, เบรก ตัวถังรถ ซึ่งนั่นตามราคาตัวรถเลย แลกกันกับ สิ่งที่ได้กับออปชั่น ต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะออก Mitsubishi Attrage นี้ คงมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ขับขี่คล่องแคล่ว สบาย ประหยัดน้ำมัน และออปชั่นแบบไม่ขี้เหล่ นั่นถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว
หมายเหตุ ทางทีมงานไม่ได้แจ้งอัตราสิ้นเปลืองให้เรารับทราบ ทางผมจึงถามไปว่า อัตราสิ้นเปลืองได้สูงเกินจริง (30กม./ลิตร ขึ้น) จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือนัก หากมีโอกาส ทางเราอาจจะขอยืม เจ้า Attrage ใหม่นี้มาทำการทดสอบใช้งานจริง ในแบบของเรา รวมถึงการวัดอัตราเร่ง และ ความเร็วสูงสุด กันอีกครั้ง
ภณ เพียรทนงกิจ ผู้เขียน
ชมภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก http://photos.autospinn.com/2013-Mitsubiahi-Attrage-TestDrive-Eco-Run/
ความคิดเห็น