ศูนย์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ระยอง พร้อมแล้วที่จะเปิดสายการผลิตเครื่องยนต์ดูราแมกซ์รุ่นใหม่ ที่มีพละกำลังและแรงบิดที่สูงกว่า โดยคาดว่าจะติดตั้งในรถกระบะโคโรลาโด และรถยนต์ดัดแปลงเทรลเบลเซอร์ในอนาคตอันใกล้
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และเชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ได้เชิญชวนสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมสายการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลดูราแมกซ์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองประกอบเครื่องยนต์ดีเซลในไลน์การผลิตจริง (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
นอกเหนือจากการทดลองผลิตแล้ว ในวันนั้นทีมงานของเชฟโรเลตได้ทำการเปิดเผยรายละเอียดของเครื่องยนต์ดูราแมกซ์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมรหัสเครื่อง X2DE ซึ่งเป็นเครื่องยนต์โมเดลปี 2014 โดยจะติดตั้งในเชฟโรเลต โคโรลาโดและเทรลเบลเซอร์ ที่จำหน่ายในประเทศไทยและอาเซียนในอนาคต
แน่นอนครับว่าด้วยเหตุผลทางการตลาดทำให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลกันตั้งแต่วันนั้น ตามกำหนดการก็คือ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนที่เชฟโรเลตจะทำการเปิดตัวเครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ศูนย์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของเชฟโรเลตที่ตั้งอยู่ที่ระยองนั้น ถือเป็น 1 ใน 2 ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ดีเซลดูราแมกซ์ของเชฟโรเลต นอกเหนือไปจากศูนย์การผลิตที่บราซิล ซึ่งทำการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก
ถามว่าทำไมต้องทำเครื่องยนต์ใหม่ คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาเพื่อให้ได้สมรรถนะที่ดีและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นไปกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม แม้ว่าจะยังคงใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรและ 2.8 ลิตร เหมือนในรุ่นที่ทำตลาดอยู่ก็ตาม
ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรนั้น มีการเพิ่มพละกำลังเป็น 120 กิโลวัตต์ที่ 3,600 รอบต่อนาที เปรียบเทียบกับ 110 กิโลวัตต์ที่ 3,800 รอบต่อนาทีในรุ่นเดิม ขณะที่แรงบิดเพิ่มขึ้นเป็น 380 นิวตัน-เมตรที่รอบต่ำตั้งแต่ 1,800-2,400 รอบต่อนาที เทียบกับ 350 นิวตัน-เมตรที่มาที่ 2,000 รอบต่อนาทีขึ้นไป
สำหรับเครื่องยนต์ 2.8 ลิตรนั้น อัพมาให้อย่างเต็มพิกัด ด้วยสมรรถนะ 147 กิโลวัตต์ที่ 3,600 รอบต่อนาที และแรงบิดระดับ 500 นิวตัน-เมตรที่ 2,000-2,200 รอบต่อนาที เหนือกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิมที่ให้กำลัง 132 กิโลวัตต์ที่ 3,800 รอบต่อนาทีและให้แรงบิดสูงสุดที่ 470 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบต่อนาที
ทั้งนี้ แรงบิดที่เพิ่มขึ้นในเครื่องยนต์ทั้ง 2 รุ่น จะส่งผลต่อสมรรถนะและการขับขี่เป็นอย่างมาก โดยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ ระบบหัวฉีด ปั้มแรงดันน้ำมันร่นใหม่ เสื้อสูบแบบใหม่ที่มีน้ำหนักเบากว่า การเปลี่ยนมาใช้ท่อลมไอดีแบบพลาสติก หรือการเปลี่ยนเทอร์โบของเครื่องยนต์ 2.8 ลิตรเสียใหม่
ที่สำคัญและน่าตื่นเต้นกว่านั้นก็คือ การประกาศของเชฟโรเลยว่าเครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้ ได้เตรียมการและมีความพร้อมในการเดินหน้าพัฒนาต่อยอดให้สามารถรองรับมาตรฐานไอเสียระดับ 6 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประกาศใช้กันในประเทศพัฒนาแล้วได้ แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่ได้ต้องการมาตรฐานระดับนี้ก็ตาม
รายละเอียดที่เหลือนอกจากนี้ในเรื่องของการทำตลาด จะติดตั้งในรถรุ่นไหน เมื่อไรจะวางตลาดอย่างเป็นทางการ รวมถึงแผนงานต่าง ๆ ในอนาคต ติดตามได้พรุ่งนี้เป็นต้นไป...
ความคิดเห็น