ผลสำรวจจากฟอร์ดเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ของผู้ขับขี่ในประเทศไทย พบว่า 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าตัวเองขับรถยนต์ปลอดภัยดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง 70% ของกลุ่มสำรวจกลับยอมรับว่าตัวเองมีพฤติกรรมการขับขี่ที่สุดแสนจะเสี่ยงอันตราย
พฤติกรรมในการขับขี่ที่เสี่ยงอันตรายนั้น ประกอบไปด้วยการขับรถเร็วกว่าอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด การคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่งหน้า และขับรถขณะมึนเมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่จำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการขับขี่บางประการ
“ผู้ขับขี่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในทักษะการขับขี่ของตนเองสูงเกินไป และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการขับขี่ที่เสี่ยงภัยในระดับต่ำเกินไป ผู้ขับขี่ในประเทศไทยก็มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน” ยุคนธร วิเศษโกสิน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว
แม้ว่าผู้ขับขี่ชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าตนขับรถปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ขับขี่จำนวนมากยังขาดสมาธิในการขับรถ และมีพฤติกรรมวอกแวก อาทิ การคุยโทรศัพท์มือถือ (76%) ในขณะที่ผู้ขับขี่อีกถึง 45% ยอมรับว่าตนส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยด้วยว่า 68% ของผู้ขับขี่ในประเทศไทยมักจะขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 28% ของผู้ขับขี่เพศหญิงยังยอมรับว่าตนแต่งหน้าขณะขับรถอีกด้วย และในบางครั้งพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนนก็เกิดจากจากความอ่อนล้า โดย 73% ยอมรับว่าตนเคยขับรถขณะง่วงนอน ขณะที่ 31% ยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นั่นคือ การขับรถหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
การสำรวจของฟอร์ดในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างทัศนคติของผู้ขับขี่และพฤติกรรมในการขับขี่จริงแล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังเผยด้วยว่าผู้ขับขี่ชาวไทยมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้ตนตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่และเป็นนักขับขี่ดีขึ้นกว่าเดิม
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 90% เผยว่าตนสนใจเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง อาทิ ระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร ฟอร์ด ซิงค์ ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถได้โดยไม่ต้องปล่อยมือออกจากพวงมาลัยหรือละสายตาออกจากถนน
“การที่ผู้ขับขี่ถึง 64% ระบุว่าการรับโทรศัพท์ขณะขับรถเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะมองหาวิธีการตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว โดยไม่ทำให้ความปลอดภัยในการขับขี่ลดลง อีกสิ่งหนึ่งที่ผลสำรวจนี้แสดงให้เราเห็น นั่นคือ การที่ผู้ขับขี่ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง และยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัยที่มากกว่า”
สำหรับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ผู้ขับขี่ต้องการนั้น มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานไปจนถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่ถึง 87% เผยว่าตนจะยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อรถที่มีถุงลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ผู้ขับขี่ถึง 82% เผยว่าตนมีความสนใจเทคโนโลยีที่ช่วยไม่ให้รถเฉไปยังเลนอื่นบนนถนน
ความคิดเห็น