จัดงานมหกรรมยานยนต์ต่อเนื่องมาถึงปีที่ 30 เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิการจัดงานแสดงรถยนต์มาอย่างช่ำชอง สำหรับงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่หลายต่อหลายครั้งมักจะแจ็คพอต เจอผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงปลายปีของประเทศไทยอยู่เป็นระยะ
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด และผลกระทบจากการหดตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำถามไปถึงผู้จัดงานว่ามีความมั่นใจเพียงใด ในการจัดงานในช่วงเวลาดังกล่าว และจะมีผลลกระทบต่อเป้าหมายในการจัดงานหรือไม่
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 30 เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดผู้เข้าชมงานและยอดจำหน่ายรถยนต์ที่มีการคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน เนื่องจากมองว่าม๊อบนี้เป็นม๊อบอารยะ ผู้เข้าร่วมม๊อบก็ดูมีความสุข ทำให้ไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมงานก็มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จำนวนมาก รวมถึงมีการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์อย่างรุนแรง เนื่องจากต้องการชดเชยการส่งมอบรถยนต์ที่ค้างสต๊อกอยู่ ทำให้แคมเปญที่เกิดขึ้นในงานน่าจะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้มากพอสมควร
“เราเชื่อว่ายอดคนเข้างาน 1.6 ล้านคนและยอดจำหน่ายรถ 5 หมื่นคัน สร้างเงินสะพัดในงานกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่ตั้งเป้าเอาไว้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ทำได้ เราเองมีประสบการณ์ในการจัดงานที่นี่มา 13 ปี เคยผ่านม๊อบเหลือปิดสนามบิน ม๊อบแดงปิดศาล รวมถึงน้ำท่วมใน 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าสถานการณ์ปีนี้ไม่เลวร้ายขนาดนั้น”
อย่างไรก็ตาม ขวัญชัยบอกว่าตลาดรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากน่าจะเป็นกลุ่มรถยนต์ระดับกลางลงมา ซึ่งจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการตัดสินใจของลูกค้า ขณะที่รถยนต์หรูหราระดับบีบวกขึ้นไปนั้น ถือว่าไม่มีผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำยอดจำหน่ายได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ประเมินว่าภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะปิดที่ไม่น้อยกว่า 1.25 ล้านคัน คิดเป็นอัตราการหดตัวจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% ซึ่งก็ยังถือเป็นตลาดที่ดี ซึ่งมียอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านคัน พร้อมทั้งประเมินว่ายอดจำหน่ายในปี 2557 จะไม่เลวร้ายถึงขั้นหดตัวเหมือนที่ค่ายรถคาดการณ์ แต่แน่นอนว่าการเติบโตจะต้องลดลงเหลือราว 5-7% จากปกติที่ตลาดรถยนต์โต 7-15% ต่อเนื่อง
ขวัญชัยมองว่าการเติบโต 80% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2555 ถือเป็นการเติบโตที่ผิดปกติและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้มีการคาดการณ์ตลาดรถยนต์ผิดพลาด ส่งผลให้สต๊อกรถยนต์และการผลิตมีปัญหาจนถึงในปัจจุบัน
“แน่นอนว่าค่ายรถก็ต้องทำแคมเปญออกมาเพื่อรองรับตลาดที่ผิดเพี้ยนดังกล่าว และเชื่อว่าแคมเปญเหล่านี้จะลากยาวออกไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งปีนี้ถือว่าแคมเปญรุนแรงมาก เนื่องจากค่ายรถคาดการณ์การสต๊อกรถยนต์กันผิด แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ค่ายรถยนต์กว่าครึ่งน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้”
เพราะฉะนั้นอย่าได้หวาดหวั่นกริ่งเกรงกันไป ผู้จัดงานยังมั่นใจ ใครอยากไปเดินชมงานก็ลุยโลด...
ความคิดเห็น