หลังจากที่ Autospinn เราได้ทำการทดสอบ Mazda CX-5 ในรุ่นท๊อปไลน์ กับเครื่องยนต์ดีเซล กันไปแล้ว วันนี้ทาง Autospinn เราได้รับเชิญให้ไป ทำการทดสอบในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินกันอีกครั้ง ซึ่งมีพิกัดไซส์ 2.0 และ 2.5 ลิตร
โดยในวันนี้ มีรถทั้งสิ้น 20 คัน เป็นรุ่น 2.0 S จำนวน 10 คัน หมายเลข 01-10 และ 2.5 S อีก 10 คัน หมายเลข 11-20
สำหรับการขับขี่ในเส้นทางวันนี้ เริ่มเดินทางออกจาก โรงแรม Imperial Queen Park ไปจนถึงที่พัก เทวัญดาราบีช กุยบุรี ซึ่งใช้ระยะทางทั้งสิ้น 327km มีการสลับรถ 1 ครั้ง และ สลับผู้ขับอีก 2 ครั้ง คือ รถคันหนึ่งมีผู้ขับ 2 คน ทุกคนจะได้ขับทั้ง 2.0 และ 2.5 ทางเราได้ขับรถหมายเลข 17 ก่อนในช่วงแรก เครื่องยนต์ 2.5 คันสีฟ้า หลังจากนั้นมีการสลับขับเป็นหมายเลข 07 เครื่อง 2.0 คันสีบรอนซ์เงิน
ขอพูดสรุปแบบรวดรัด กับ Mazda CX-5 คันนี้ ก่อนจะเข้าในส่วนทดสอบกันสักนิด
CX-5 ยังคงยึดการออกแบบตามหลัก KODO Design ที่มีเอกลักษณ์จากเส้นสาย ไฟหน้า-ท้าย กระจังหน้า และได้รับรางวัลการันตีรถยนต์ยอดเยี่ยมในประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2012-2013 ด้วย
สำหรับจุดเด่นของ Skyactiv Technology นั่นคือ การที่ Mazda คิดค้นเทคโนโลยี เอกสิทธิ์ของค่าย โดยใช้ชื่อว่า Skyactiv ทั้ง บอดี้ตัวถัง, เครื่องยนต์, เกียร์, ช่วงล่าง สำหรับในการมาเทสรุ่นเบนซิน Skyactiv-G ที่มีเครื่องยนต์ 2 ขุมพลัง ทั้ง 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังอัดสูงที่สุดในโลก 14:1 มีแรงม้า 165 ตัว และแรงบิด 210Nm กับเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ที่มีกำลังอัดสูงถึง 13:1 มีแรงม้า 192 ตัว และแรงบิด 256Nm
โดยในรุ่นเบนซิน นี้ จะมีเพียงระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ หน้าเท่านั้น ถ้าต้องการขับเคลื่อน 4WD จะมีในรุ่น ดีเซลเท่านั้น รวมถึงระบบ i-Stop ก็จะมีเฉพาะในดีเซลเช่นกัน
การเริ่มต้นขับขี่ในช่วงแรกด้วยเครื่องยนต์ 2.5 ที่ต้องเริ่มเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ออกจากซอยสุขุมวิท 22 นั้นทำให้ผมรู้สึกเฉยๆ กับขุมพลัง 2.5 ลิตร ที่ใครหลายคน โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศว่ากันนักหนาว่าอัตราเร่งมันดี…. แต่หลังจากได้ จ่ายเงินค่าทางด่วนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ลองกดคันเร่งมิด ผมจึงเริ่มเชื่อแล้วว่า อัตราเร่งนั้น ทำได้น่าประทับใจจริงๆ รอบกวาดขึ้นไปที่ ราว 6,500rpm ก่อนตัดขึ้นเกียร์ใหม่ มันทำให้ได้อรรถรสการขับขี่ ในแบบที่ไม่เหมือน SUV ทั่วไป อัตราเร่งช่วงออกตัวทำได้อย่างน่าประทับใจจัดจ้าน ดี แต่สำหรับช่วงความเร็วกลาง ขึ้นไป ก็ ยังทำได้ดี แต่ในจังหวะที่มีการ Kick Down เพื่อเร่ง แซงที่ความเร็ว ระดับ 100 กม./ชม. ขึ้นไป รอบจะไต่ขึ้นแบบเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการแซงรถสัญจร ทั่วไปแล้วยังถือว่าเพียงพอ แต่ความรู้สึกตื่นเต้น น่าประทับใจนั้น จะไม่เท่ากับช่วงอัตราเร่งตีนต้นนัก ด้านอัตราสิ้นเปลืองตามเคลมอยู่ที่ 15.2 กม./ลิตร กับน้ำหนักตัว 1,521 กก. นั่นก็ยังถือว่า อัตราสิ้นเปลืองค่อนข้างดีพอตัว เมื่อเทียบกับพละกำลังเครื่องยนต์ และน้ำหนักตัวที่หนักพอควร
ระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed Skyactiv ใหม่นี้ พร้อมระบบ Manual Activematic ใช้ + - ควบคุมเกียร์ได้เอง การเล่นเกียร์ในโหมด S พบว่าการเปลี่ยนเกียร์นั้น ยังมีจังหวะหน่วงช้าอยู่ ราว ครึ่งวินาที เช่นต้องการสับเกียร์ที่ Redline พอดี 6,500rpm จะต้องโยกคันเกียร์ตั้งแต่ รอบ 6,000rpm เล็กน้อย เกียร์ถึงจะตัดขึ้นที่ราว 6,500rpm พอดี และ สิ่งที่ทำให้ผมดูจะหงุดหงิดไปหน่อย และดูจะขัดแย้งกันเองนั่น คือ การลด เกียร์ลง ด้วยการดันคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง – จะลงได้เพียง ทีละ 1 เกียร์เท่านั้น ซึ่งทำให้การเข้าโค้งด้วยการใช้ E-Brake นั้น ทำไม่ได้อย่างที่นักต้องการ เนื่องจากระบบ safety ป้องกันรอบเครื่องขึ้นสูงเกินไป แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ขับได้ลองลากเกียร์ในโหมด M จนไปชนแถบ Redline ที่รอบเครื่องยนต์ 6,500rpm ปรากฏว่า เกียร์ไม่ตัดขึ้นเกียร์ใหม่ เข็มแช่อยู่ที่ Redline ตื้ออยู่อย่างนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ควรจะกลับกัน ก็คือ ควรถนอมเกียร์หากลากเกียร์ชนถึง Redline ควรที่จะตัดเกียร์ขึ้นให้ แต่ในขณะที่เบรก และลดเกียร์ลง เพื่อทำ E-Brake ก่อนเข้าโค้ง ควรที่จะลงเกียร์ให้ได้ถึง 2 เกียร์ขึ้นไป
สำหรับเกียร์ Skyactiv นี้ ต้องบอกตามตรงว่า มันก็คือเกียร์รูปแบบ AT ดีๆนี่เอง นั่นคือ รอบกวาดขึ้น และ ฟาดลงในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ แต่สิ่งที่พบเห็นแตกต่างนั้นก็คือ รอยต่อในจังหวะที่เปลี่ยนเกียร์จะไม่กระตุก และในจังหวะ E-Brake ด้วยการลดเกียร์ลง แรงฉุดของกำลังเครื่องยนต์จะไม่มากจนเกินไป นอกจากนั้นโดยรวมก็แทบจะเหมือนเกียร์แบบ AT 6 Speed แทบทุกอย่าง
ด้านระบบบังคับเลี้ยวและ ช่วงล่างนั้น โดยส่วนตัวถือว่าเป็นจุดที่น่าประทับใจรองจากเครื่องยนต์เลย พวงมาลัยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า ให้น้ำหนักที่ออกมาดี ที่ช่วงความเร็วต่ำน้ำหนักเบาพอดีมือ ไม่ถึงขั้นเบาโหวงเกินไป พวงมาลัยตอบสนองได้แม่นยำในการเข้าโค้ง หรือการหักวงเลี้ยวในช่วงขับเคลื่อนตัวในตัวเมือง ซึ่งนั่นทำให้รถ SUV คันนี้ มีความคล่องตัวในตัวเมืองไม่แพ้รถ Compact เลย เนื่องจากการควบคุมพวงมาลัยทำได้คล่องแคล่ว ด้านช่วงล่างออกมาสไตล์แน่นหนึบ ตามแบบฉบับของ Mazda หลากหลายรุ่น โดยการยึดเกาะที่ความเร็วสูงนั้น ยังทำได้ดี เมื่อเทียบกับรถ SUV ด้วยกัน แต่เมื่อความเร็วเกิน 140 กม./ชม. ขึ้นไปก็จะพบอาการเหินๆ ของตัวรถเข้ามา และจะเริ่มมากขึ้นที่ 150กม./ชม. ขึ้นไป ด้านการควบคุม ความเร็วในทางโค้งนั้นนี่ล่ะใช่เลย เพราะจากที่ลองเล่นดู ทำความเร็วได้สูงกว่ารถ SUV คันอื่นๆ โค้งลึกๆ เข้าที่ 100 กม./ชม. ยังทำได้ดี แต่เมื่อเข้าที่ประมาณ 120 กม./ชม. ขึ้นไป อาการรถจะเริ่มออกเริ่มจากการได้ยินเสียงกรีดร้องของยางเข้ามาบ้าง และด้วยตัวรถที่สูง ซึ่งนั่นอาจทำให้ความรู้สึกโยนตัวเป็นปกติ โดยรวมแล้วถือว่าทำได้ดีเกินกว่า SUV ด้วยกันจะทำได้
ในด้านความนุ่มนวลของช่วงล่าง สัมผัสได้เด่นชัดบนทางลูกรัง มันดูจะกระด้างแข็งตึงตังไปหน่อย กับล้อขอบ 19” ที่ถึงแม้ แก้มยางจะใช้ซีรีส์ 55 แล้วก็ตาม เนื่องจากระยะยุบตัวและดีดตัวกลับ นั้นมีไม่สูงมาก เพราะช่วงล่าง จะเซ็ตออกมาสไตล์เน้นเฟิร์มกระชับ หนักแน่นมากกว่า ซึ่งจะช่วยลดอาการโยนตัวออกมาได้มาก และเพิ่มเติมกับ เบาะนั่งที่กระชับโอบลำตัวได้ดีในรุ่น 2.5 เนื่องจากมีปีกที่โอบไหล่ออกมากว้างกว่า รุ่น 2.0 ทำให้ การเข้าโค้งลำตัวไม่ไถลหลุดออกจากเบาะ แต่หากต้องการเอนเบาะนอน นั้นจะพบว่ามันแข็ง และไม่สบายต่อการนอนเอาเสียเลย
ระบบเบรก แบบดิสก์ 4 ล้อ ซึ่งเป็นเบรกขนาดไซส์เดียวกันทั้งหมด 3 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น 2.0 2.5 และดีเซล 2.2 ด้วยการเซ็ตเบรกที่ออกมาลึก และเน้นนิ่ม ทำให้ดูแล้ว จะเบรกไม่อยู่เท้านัก ทั้งในช่วงหยุดจอดไฟแดง หรือการเบรกเมื่อ มีรถตัดผ่านเลนเข้ามา จะต้องลงน้ำหนักให้มากกว่าปกติ ซึ่งจากการสอบถามของเราพบว่า เบรกนั้น ทาง Mazda จงใจทำให้ออกมาเป็นเช่นนี้เพื่อ ลดอาการเทตัวไปข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดอาการเมารถของผู้โดยสาร ต้องใช้เวลาสักนิดเพื่อปรับให้ชินคุ้นเคยกับน้ำหนักเท้าในการลงแป้นเบรกนี้ สำหรับส่วนตัวนั้น ผมมองว่า Mazda ซึ่งถือเป็นรถที่เน้น Performance มากกว่าการขับขี่ที่สะดวกสบาย น่าจะเซ็ตเบรกให้ออกมาแนว Mazda 2, 3 ที่ค่อนข้างมั่นใจได้ ในทุกครั้งที่กดแป้นเบรก
ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย มีมาให้ครบครัน ระบบไฟหน้าเลี้ยวตามการเลี้ยวของรถ AFS ถุงลมนิรภัยถึง 6 ลูก กล้องมองหลัง กุญแจ Keyless พร้อม Immobilizer ระบบควบคุมเสถียรภาพของรถ DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน HLA, ระบบเตือนแรงดันลมยาง เป็นต้น
สรุปเบื้องต้น Mazda CX-5 2.5 S เป็นรถ SUV สไตล์สปอร์ต เมื่อเทียบกับรถยนต์ในกลุ่ม SUV ด้วยกัน ถือว่าสมรรถนะ มาแรง แซงหน้า แบรนด์อื่น แต่สำหรับออปชั่นภายในนั้น บางอย่างอาจดูด้อยกว่า คันอื่น เช่น แอร์ตอนหลังที่ไม่มี พื้นที่โดยสารตอนหลังที่แคบกว่าคันอื่น หน้าจอแสดงผลพร้อมควบคุมเครื่องเสียงที่มีขนาดเพียง 5.8” และน่าเสียดายที่ไม่มีระบบ Navigation เมื่อเปรียบเทียบข้อดีของรถคันนี้ นั่น คือ เทคโนโลยี Skyactiv ที่ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ และยอดเยี่ยมการันตีด้วยรางวัลรถยนต์แห่งปีของญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า Mazda CX-5 นี้จะขายให้กับผู้บริโภค ที่มีความรู้ในเรื่องของรถยนต์พอสมควร และผู้ที่ต้องการสมรรถนะการขับขี่ มากกว่าการขับขี่แบบเน้นสะดวกสบาย ซึ่งนั่น ทำให้ผู้ที่จะซื้อรถคันนี้ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นเพศชาย มากกว่าเพศ หญิง ราคา ของ CX-5 2.5 S คันนี้อยู่ที่ 1.44 ล้านบาท เทียบกับรุ่น ท๊อปของ SUV ด้วยกันแล้ว ยังถือว่าราคาดี และดูน่าสนใจกว่าคันอื่นๆ ในรุ่นท๊อปด้วยกัน สำหรับผู้ที่รักในการขับขี่รถสไตล์ SUV แต่ไม่ลืม สมรรถนะการขับขี่ในแบบรถ Comapact และการประหยัดน้ำมัน ไม่ควรพลาดกับการลองขับ เจ้า CX-5 เบนซิน 2.5 S คันนี้
สำหรับรุ่น 2.0 ลิตร และ รายละเอียด เพิ่มเติม อื่นๆ จะมาลงแบบเก็บตกให้อีกที พรุ่งนี้ครับ
ชมภาพเพิ่มเติม http://photos.autospinn.com/2013-Mazda-CX5-Gasoline-GroupTest/
ขอขอบคุณ Mazda เซลล์ ประเทศไทย สำหรับการเชิญไปร่วมทดสอบในครั้งนี้
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ความคิดเห็น