โตโยต้าประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ปัจจัยลบเพียบ หลังหมดอานิสงค์รถคันแรก ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ทำตลาดหดตัวเหลือ 1.15 ล้านคันในปีนี้ หดตัวกว่า 13.6% ชี้หากการเมืองยืดเยื้ออาจกระทบตลาดหดตัวแรงกว่าที่คาด แถมส่งผลกระทบการตัดสินใจลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต
เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในปี 2557 มีแนวโน้มหดตัวลงจากปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ภาพรวมของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว การสิ้นสุดโครงการคืนภาษีสำหรับรถยนต์คันแรก ส่งผลให้ตลาดรวมน่าจะเหลือที่ 1.15 ล้านคัน หรือหดตัวลงกว่า 13.6%
สำหรับผลกระทบทางด้านการเมืองนั้่น ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน แต่มองว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ให้หดตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบัน โตโยต้ามีการลงทุนในหลายตลาดของภูมิภาคอาเซียน
"แม้การลงทุนของแต่ละประเทศจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และโตโยต้าเองยังมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่ที่สุด แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลกระทบในเรื่องนี้ได้ ซึ่งการลงทุนเดิมนั้นเป็นเรื่องที่เราไม่ถอนอย่างแน่นอน แต่การดึงการลงทุนใหม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
ทานาดะกล่าวถึงภาพรวมการลงทุนของโตโยต้าในภูมิภาคอาเซียนว่าจะยังเน้นไปที่ประเทศไทยเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ประกอบกับรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างดี แม้มาเลเซียจะเปิดให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไปลงทุน แต่หากมองในแง่ของตลาดที่มีประชากรเพียง 30 ล้านคนและยอดจำหน่ายปีละ 6-7 แสนคัน ก็เทียบกับประเทศไทยไม่ได้
"โตโยต้ามีการลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนโดยมีโรงงานในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งสำหรับผมแล้วยังมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เรามองว่าตลาดนี้จะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยในตลาดโลก"
กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโตโยต้ากล่าวว่ามีความตั้งใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานประเทศไทยให้ได้มากกว่า 1 ล้านคันต่อปี โดยได้มีการเตรียมที่สำหรับการขยายโรงงานอีกแห่งที่โรงงานบ้านโพธิ์เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะสามารถเดินหน้าเปิดโรงงานและสายการผลิตแห่งใหม่ด้วยกำลังผลิตราว 2 แสนคันต่อปี และจะทำให้โตโยต้ามียอดผลิตเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านคัน จากที่มีการผลิต 8.5 แสนคันในปีที่ผ่านมา
สำหรับในประเทศไทย โตโยต้าประเมินว่าตลาดรถยนต์นั่งจะหดตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2557 จะมียอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง 5.27 แสนคัน ลดลง 16.5% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 6.23 แสนคัน ลดลง 10.9% โดยในปี 2556 ตลาดรวมปิดไปได้ที่ 1,330,668 คัน หดตัวลงไป 7.4% แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 631,221 คัน หดตัว 6.1% และรถเพื่อการพาณิชย์ 699,447 คัน หดตัว 8.4%
"โตโยต้าไม่ได้มองว่าตลาดหดตัวรุนแรง เนื่องจากภาพรวมก็ยังมียอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านคันอยู่ หากมองกลับไปในปี 2553-2554 ยังมียอดจำหน่ายหลัก 8 แสนคัน แต่จากการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ตลาดเติบโตเป็น 1.4 ล้านคันในปี 2555 และยอดจำหน่ายเริ่มปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับตัวสู่ฐานปกติในปีนี้ ตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวจึงถือว่าเหมาะสม"
ในส่วนของโตโยต้าเอง คาดว่าในปี 2557 จะมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 4 แสนคัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 10.2% แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 1.84 แสนคัน ลดลง 3.2% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2.16 แสนคัน ลดลง 15.4% โดยในปีที่ผ่านมา โตโยต้ามียอดขายรวม 445,464 คัน ลดลง 13.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 190,101 คัน ลดลง 15.4% และรถเพื่อการพาณิชย์ 255,363 คัน ลดลง 12.3%
ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ 4.45 แสนคัน คิดเป็นมูลค่า 1.98 แสนล้านบาท และการส่งออกชิ้นส่วนมูลค่า 6.56 หมื่นล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 263,600 ล้านบาท ซึ่งเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ขณะที่ตลาดส่งออกรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคันในปีนี้ เพิ่มจากการส่งออก 1.1 ล้านคันในปีที่ผ่านมาเล็กน้อย
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย โตโยต้าตั้งเป้าหมายที่จะกลับมาครองแชมป์ตลาดรถยนต์นั่งอีกครั้งในปีนี้ หลังเสียแชมป์ให้กับฮอนด้าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี โดยนอกจากจะเปิดตัวสินค้าใหม่แล้ว ยังมีแผนเพิ่มโชว์รูมจาก 390 แห่งเป็น 450 แห่ง และขยายโชว์รูมโตโยต้า ชัวร์ จาก 100 เป็น 120 แห่งในปีนี้
ความคิดเห็น