ในช่วงหลังมานี้ รถ Bigbike ต่างได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสวนทางราคาน้ำมันที่แพงในปัจจุบัน และรถ Bigbike รูปแบบ Touring ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม เช่นกัน จากทรงรถที่ดูใหญ่โต และนั่งเดินทางไกลได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมลุยไปกันได้ทุกที่ ไม่ว่าจะใกล้ ไกล แค่ไหน ด้วยอุปกรณ์ตกแต่งอย่างกระเป๋าข้าง ที่ช่วยให้คุณไม่ต้องแบกเป้ ให้เหนื่อย หรือต้องมานั่งแพ็คมัดข้าวของเดินทางกันให้ลำบาก และพูดถึงรถสไตล์นี้ที่ผลิตในบ้านเรา มากับราคาเริ่มต้นที่ไม่แพงจนเกินไป ก็คงจะหนีไม่พ้น Honda CB500X อย่างแน่นอน
เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเราได้มีการลงรีวิว รถ Honda CBR500R Bigbike สไตล์ Sport ขนาดกลาง ที่ขับขี่ได้อย่างสบาย และมีความคล่องตัวกันไปแล้ว ในวันนี้เราจะขอมารีวิว อีก 1 รุ่นในตระกูล 500 กันอีกคัน กับ Honda CB500X ซึ่งเป็นรถในสไตล์ Touring Adventure กันดูบ้าง
Honda CB500X ถูกแนะนำให้รู้จักกัน ในงาน Motor Expo 2012 โดยเปิดตัวพร้อม อีก 2 Model CBR500R, CB500F มาพร้อมสีให้เลือก 3 สี แดง ขาว และดำ โดยมีราคาเปิดตัวในครั้งแรก อยู่ที่ 209,000 บาท ก่อนที่จะปรับเป็น 215,000 บาท จากการปรับโครงสร้างภาษี Bigbike ใหม่ จะคุ้มค่าแค่ไหน กับรถ Bigbike ในสไตล์ Touring ขนาดกลางคันนี้ ลองมาดูกัน
ดีไซน์ภายนอก Honda CB500X ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการวิ่งใช้งานแบบ Dual Purpose ได้ทั้งทาง On Road และ Off Road แบบไม่หนักจนเกินไป มีรูปลักษณ์ที่ดูทะมัดทะแมง บึกบึน ที่สุดในตระกูล 500 และมันดูดีที่สุดในทั้ง 3 รุ่น แต่หากมองที่ด้านท้าย จะพบไฟท้าย ที่เหมือนกันในทุกรุ่น 500 แต่จุดที่แตกต่าง คือ มือจับหลัง ที่มีความยาวมากกว่า จากเบาะตอนท้ายที่มีขนาดยาว สามารถที่จะซ้อน 3 คนได้แบบสบายๆ
ในคันนี้ได้ใส่การ์ดแฮนด์ จาก Barkbusters มาให้ด้วย ให้ look การขับขี่แบบลุย มากยิ่งขึ้น แต่ เมื่อต้องมุดรถติด มันสร้างความลำบากไม่น้อยเลยทีเดียว และสำหรับรถในเวอร์ชั่นไทย บ้านเรา บริเวณท่อไอเสีย จะมีติดตั้ง จุดกันความร้อนปลายท่อมาให้ ลักษณะเป็นตะแกรงสแตนเลส ซึ่งในเวอร์ชั่นที่ขายต่างประเทศจะไม่มี
ที่บริเวณแผงคอบน ก็เหมือนกันกับ CBR500R ช่องเสียบกุญแจ HISS (Honda Ignition Security System) เป็นกุญแจแบบนิรภัย ลิขสิทธิ์ของ Honda บิดกุญแจขึ้น หน้าจอแบบดิจิตัล แสดงผลแถบวัดรอบเครื่องยนต์ แสดงผลในแนวนอน และตัววัดความเร็วบอกเป็นตัวเลข มีข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองทั้ง Real Time และ Average พร้อมกำหนัดทริป A, B และนาฬิกาบอกเวลา หันมองด้านซ้ายมือ สวิทช์ไฟซ้าย มีไฟ Pass ติดตั้งมาให้ ขณะที่สวิทช์ขวา มีสวิทช์ไฟฉุกเฉินมาให้
โดยรวมกับรูปลักษณ์นั้น ถือว่าดูดีเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถในระดับราคาที่ไล่ๆ กัน แต่ก็ยังมีบางจุดที่ดู จะไม่ถูกใจบ้าง ได้แก่ กระจกมองข้าง ที่ดีไซน์ อาจดูเชยไป นิด (แต่มันใช้งานได้จริง มุมมองกว้างชัดเจน ) กับ ฝาถังน้ำมันที่ดู แล้วอาจไม่เรียบร้อยสักเท่าไร และไฟท้าย ที่ใช้แบบเดียวกับ CBR500R, CB500F จึงทำให้ดูไม่รับกับทรวดทรงรถที่ดูบึกบึนนัก
Honda CB500X มีความสูงเบาะที่ 810mm (785mm ในรุ่น R,F ) และมีน้ำหนัก curb weight 197kg (195kg รุ่น R, 193kg รุ่น F) มีระยะฐานล้อ 1,421mm (1,409mm รุ่น R,F) ถือว่า CB500X นี้ มีความสูงเบาะมากพอสมควร ดูเหมาะกับผู้มีรูปร่างที่ใหญ่ และตัวสูง สำหรับน้ำหนักตัวถือว่าไม่มากอย่างที่คิด ไม่เกิน 200 กก.
เมื่อลองนั่งคร่อมดู สำหรับส่วนสูง 174cm ของผม พบว่าเหยียบได้ไม่เต็มเท้าดี ต้องมีเขย่งเท้ากันบ้างเล็กน้อย แต่จุดที่น่าประทับใจคือ ท่านั่งการในการขับขี่ที่ ดูจะสบาย ตั้งแต่องศาแฮนด์บาร์ที่กางตรง ไม่งุ้มงอเข้าหาลำตัวมากจนเกินไป ทำการวางแขน ต้องวางยืดตรง ข้อศอกไม่งอมาก แต่ด้วยช่วงตัวรถด้านหน้าที่ยาว คนที่แขนสั้นอาจจะดูต้องยืดแขนมาก หรือ โน้มตัวไปทางถังน้ำมันด้านหน้ามากหน่อย และด้วยตำแหน่งวางเท้าที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ขาไม่พับงอมากทำให้ไม่เมื่อยช่วงเข่านัก เมื่อต้องเดินทางไกล อีกทั้ง บริเวณขา อยู่ห่างไกลจากตำแหน่งเครื่องยนต์ที่เยื้องไปทางด้านหน้า ทำให้ไม่รู้สึกรับรู้ถึงไอความร้อนของเครื่องยนต์ และการที่มี wind shield หน้าช่วยบังลม ในการเดินทางไกล ได้ดี ไม่ต้านลมมากนัก จึงไม่ทำให้รู้สึกถึงลมปะที่ช่วงลำตัวมากจนเกินไป
เครื่องยนต์ แบบ 2 สูบ Parallel Twin DOHC หัวฉีด PGM-Fi ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีความจุจริง ที่ 471cc ให้กำลัง 47 แรงม้า @8,500rpm และ แรงบิด 43Nm @7,000rpm ส่งผ่านกำลังด้วยเกียร์ 6 Speed คลัชมือ
ในด้านการขับขี่ขุมพลังของเครื่องยนต์ ให้ความรู้สึกเช่นเดียวกันกับที่ขับขี่ในรุ่น CBR500R
เริ่มตั้งแต่บีบคลัชก่อนออกตัว แอบรู้สึกว่า ก้านคลัชดูค่อนข้างยาว และไกลมือไปสักนิด ซึ่งถ้าหากไม่ปรับระดับให้ก้านคลัชใกล้ตัว เข้ามา ผู้ขี่ที่นิ้วค่อนข้างสั้นดูน่าจะเป็นอุปสรรค อย่างมากซึ่ง ควรที่จะเปลี่ยนมือคลัช แบบปรับระดับได้ เมื่อเปิดคันเร่งออกตัว เครื่องยนต์เดินขึ้นอย่างราบเรียบ ไหลลื่นไม่มีสะดุด หรืออาการกระตุก แรงบิดขึ้นแบบเรื่อยๆ ไม่ดุดันจนเกินไป ทำให้ขับขี่ได้ง่าย เชื่องมือ การงัดเกียร์ ก็ทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องงัดด้วยความแรงเกียร์ก็สามารถขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ในขณะที่จอดติดไฟแดงและพยายามจะหาเกียร์ว่าง การกำคลัชด้วย 2 นิ้วดูจะหายากไปสักหน่อย จึงต้องกำด้วยนิ้วทั้ง 4 ก่อนที่จะแตะคันเกียร์เบาๆ ไฟเกียร์ N จึงติดขึ้น
หากขับขี่แบบกระแทกคันเร่งๆ หนัก อาจยังพบว่าคันเร่งดูหน่วงมือไปนิด ยังไม่ติดมือเท่าที่ควร Torque เริ่มสัมผัสได้ตั้งแต่ช่วง 3,000rpm ไปเรื่อยๆ จนถึงรอบประมาณ 6,000rpm ซึ่งช่วงนี้รถเริ่มมีอาการรอบตื้อให้เห็นบ้างแล้ว แต่ยังสามารถฝืนต่อไปได้ จนตัดรอบที่ Redline ที่ประมาณ 8,500rpm ซึ่งรอบเครื่องที่ไม่สูงมาก ทำให้การขับขี่ใช้งานไม่ต้องลากไปจนถึงรอบสูง เพื่อเรียกกำลังมากนัก แต่ข้อเสีย คือ มันดูไม่ตื่นเต้นเราใจมากเท่าใด
การออกตัวในช่วงเกียร์ต้นๆ ยังถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่ เมื่องัดเกียร์จนถึงเกียร์ 6 ช่วงความเร็ว 120 กม./ชม. เริ่มพบอาการกำลังเครื่องห้อย ให้เห็นบ้าง คือ คันเร่งจะไม่ติดมือมากแล้ว เพื่อให้รอบเครื่องนั้นไม่สูงจนเกินไป ขับขี่แบบไม่ต้องเครียด และช่วยในด้านอัตราสิ้นเปลืองด้วย
ลองดูอัตราสิ้นเปลืองจากหน้าจอได้ดังนี้ การวิ่งเดินทางไกลด้วยความเร็วระดับ 130 กม./ชม. แบบซัดเร่งแซงเมื่อมีจังหวะ ทำได้ที่ 4.5 ลิตร/100 กม. (22.22 กม./ลิตร) , รถติดหนักในตัวเมืองอยู่ที่ 5.2 ลิตร/100 กม. (19.23 กม./ลิตร) และ การขับขี่แบบสบายๆ ที่ความเร็วเฉลี่ย 90-100 กม./ชม. ได้ 3.5 ลิตร/100 กม. (28.57 กม./ลิตร)
ระบบกันสะเทือน ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ Telescopic ขนาด 41mm มีระยะยุบตัวมากกว่า ตัว R และ F (5.5” ในรุ่น X และ 4.3” ในรุ่น R, F) ด้านหลังใช้สวิงอาร์มหลังคู่ พร้อมโช้คอัพเดี่ยว Prolink ปรับ Preload ได้ถึง 9 ระดับ สำหรับยางใส่ซีรีย์ 120/70/R17 สำหรับล้อหน้า และ ยางหลัง 160/60/R17 จาก Pirelli Scorpion ซึ่งเป็นยางรูปแบบ Dual Sport เหมาะแก่รถสไตล์ Dual Purpose เช่นคันนี้ วิ่งได้ทั้งทางเรียบ และฝุ่น
ช่วงล่างของ CB500X นี้ ยังคงให้ความนุ่ม ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะขี่ผ่านทางขรุขระ หรือลองขี่ในแบบฉบับ กึ่งๆ Off Road มันซับแรงกระแทกได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถลุยพื้นถนนที่ยอดแย่ หรือ พื้นผิวที่มีหลุมบ่อ ได้อย่างไม่ดีดดิ้น ให้สะท้าน ขึ้นมาสัมผัสถึงช่วงแขน แต่อาจต้องยกขา ขึ้นยืนบ้าง ไม่งั้นอาจมีปวดไข่ กันได้
แต่ถึงแม้จะนิ่ม มันยังคงให้ความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งจากน้ำหนักตัวของรถที่ช่วยยึดจิกกับผิวถนน กับการยึดเกาะถนนที่ความเร็วเดินทางไกล ที่ไม่สูงจนเกินไป สักความเร็วในระดับ 130 กม./ชม. ยังทำได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าไหลไปถึงระดับ 150 กม./ชม. ขึ้นไป อาจเริ่มมีเหนื่อย กันบ้าง
เมื่อลองหักเลี้ยวในทางโค้ง พบว่า รถทดสอบคันนี้ แกนโช้คคู่หน้า ด้านซ้าย และขวา ดูจะมีน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน น่าจะมีผลจากระดับน้ำมันในแกนโช้คไม่ Balance คือ มีอาการพับซ้าย คือเวลาหักเลี้ยวซ้าย หน้าจะไปไวกว่า การหักเลี้ยวทางขวา ซึ่งดูจะหักเลี้ยวไม่ค่อยลง อาจต้องใช้โหนช่วยเอา หรือในช่วงที่ขับที่ความเร็วสูง และต้องการเปลี่ยนเลนเข้าทางขวา อาจต้องใช้การเขยิบช่วงสะโพกในการถ่ายเอนน้ำหนักเข้าช่วย เมื่อความมั่นคง
ระบบเบรก ด้านหน้าใช้แบบจานดิสก์เดี่ยวขนาด 320mm ปั๊มคาลิปเปอร์ 2 สูบจาก Nisin เบรกหลังใช้จานเดี่ยวขนาด 240mm คาลิปเปอร์ 1 ลูกสูบ Nisin เช่นกัน พร้อมระบบ ABS ทั้งหน้าและหลัง ซึ่งไม่สามารถปิดระบบได้
เบรกแบบจานเดี่ยว ถามว่าใช้งานเพียงพอหรือไม่? ในการเดินทางในตัวเมือง รวมถึงใช้ความเร็วเดินทางไกล มันสามารถหยุดรถได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หากเบรกแบบกระทันหัน หรือ ชะลอที่ความเร็วสูง คงต้องใช้ทักษะในการใช้ Engine Brake เข้าช่วยด้วย รวมถึงน้ำหนักตัวรถที่มาก อาจทำให้รู้สึกถึงอาการไถลของตัวรถร่วมด้วยเช่นกัน
สรุป Honda CB500X รถสไตล์ Adventure Touring ที่หน้าตาดูดีเกินราคา (ดูดีที่สุดในตระกูล Honda 500) เครื่องยนต์เดินเรียบ แรงบิดพอประมาณ ช่วงล่างนิ่ม ที่สำคัญขี่ง่ายมากๆ อัตราสิ้นเปลืองดีพอประมาณ
มันเป็นรถที่พร้อมเดินไปกับคุณได้ทุกที่ แม้สมรรถนะด้านกำลังอาจไม่จี๊ดจ๊าด ถูกใจพวกบ้าทอร์ค หนักๆ แต่รับรองการรันตี การ ขับขี่เดินทาง ได้สบายๆ แถมราคาไม่เกินเอื้อมต่อการครอบครอง
หากคุณอยากมี Bigbike สักคันที่มีรูปลักษณ์ดูดีเกินราคา ในราคาเพียง 2 แสนต้นๆ แถมขี่ได้สบายๆ ไม่ยากเย็น พร้อมเดินทางได้ทั้งใกล้ และไกล ลองมองเจ้า Honda CB500X รถสไตล์ Adventure Touring ที่ใช้งานได้แบบ Dual Purpose เอาไว้สักคัน
ขอขอบคุณ Honda Big Wing สำหรับรถทดสอบ Honda CB500X คันสีดำ คันนี้ ราคา 2.15 แสนบาท
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ชมภาพเพิ่มคลิ๊ก
ความคิดเห็น