มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 31 ประกาศแนวคิดการจัดงานต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สร้างเวทีผนวกความคิด 10 ประเทศสมาชิก พร้อมหวังตลาดรถยนต์ไทยที่ซบเซาจากปัญหาการเมืองจะกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3 ส่งผลดีต่อการจัดงาน ประเมินภาพรวมตลาดรถยนต์หดตัว 15% เหลือ 1.1 ล้านคัน
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 31 (The 31st Thailand International Motor Expo 2014) เปิดเผยเปิดเผยแนวคิดของการจัดงานในปีนี้ เพื่อต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
การเปิดเออีซีจะนำมาซึ่งความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับการส่งเสริมให้อยู่ภายใต้ฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน
"งานมหกรรมยานยนต์ในปีนี้่ จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก้าวเคียงกัน ยานยนต์อาเซียน (MOVING FORWARD TOGETHER…ASEAN AUTOS) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่สดใสร่วมกัน"
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุด โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งครึ่งหนึ่งส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ อินโดนีเซีย ผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับสองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามด้วย มาเลเซีย ที่มีขนาดอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับสาม โดยร้อยละ 90 เป็นการผลิตรถยนต์นั่ง
ฟิลิปปินส์นั้น แม้จะมีการผลิตรถยนต์จำนวนไม่มาก ปีละไม่ถึง 1 แสนคัน แต่ก็มีความสำคัญในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของภูมิภาค รวมไปถึงเวียดนามที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจีนหลายราย ในการลงทุนเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถเชิงพาณิชย์
“ผมเชื่อว่าศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ในทุกประเทศดังกล่าว จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังการเปิดเออีซี ด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ การเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี การปรับลดและยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกัน การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน หรือเครือข่ายสินค้าและบริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแรงงานมีฝีมือ”
ภูมิภาคอาเซียนนั้นมีจำนวนประชากรรวมในภูมิภาคที่สูงกว่า 600 ล้านคน และมีการคาดหมายว่า ภายในปี 2561 ตลาดยานยนต์อาเซียนจะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านคันต่อปี ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ ประเมินว่าตลาดรวมน่าจะหดตัวลงประมาณ 15% หรือคิดเป็นยอดจำหน่าย 1.1 ล้านคัน หดตัวจากปีที่ผ่านมาที่มียอดจำหน่าย 1.4 ล้านคัน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผลกระทบการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้ตลาดรถยนต์ในเดือนม.ค.ปีนี้หดตัวไปกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะต่อเนื่องไปถึงครึ่งปีแรก และน่าจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดงานในปีนี้ในช่วงไตรมาส 4 อย่างแน่นอน
ความคิดเห็น