7 ค่ายรถยนต์ขานรับจองสิทธิ์อีโคคาร์เฟส 2 'มิตซูบิชิ-เอสเอไอซี' ยังลังเล Share this

7 ค่ายรถยนต์ขานรับจองสิทธิ์อีโคคาร์เฟส 2 'มิตซูบิชิ-เอสเอไอซี' ยังลังเล

Golf Autospinn
โดย Golf Autospinn
โพสต์เมื่อ 26 March 2557

มหากาพย์อย่างโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ทำท่าว่าจะได้ข้อสรุปเร็วกว่าที่คาด แม้จะปิดรับการยื่นเรื่องเพื่อขอส่งเสริมการลงทุนในสิ้นเดือนนี้ เมื่อ 7 ค่ายรถยนต์ประสานเสียงขอร่วมด้วย ขณะที่อีก 2 ค่ายขอคุยรัฐบาลครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจเดินหน้า อย่างไรก็ตาม หากยื่นเรื่องแล้วไม่ลงทุนก็ไม่มีผลผูกมัดหรือข้อลงโทษแต่อย่างใด

ฟอร์ด, เชฟโรเลตและมาสด้าคือผู้เล่นหน้าใหม่ที่พร้อมจะเข้าร่วมในโครงการนี้ ขณะที่ 4 ผู้ประกอบการเดิมอย่างโตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสันและซูซูกิ ประสานเสียงร่วมขบวนแม้ยังติดขัดในหลักการ มิตซูบิชิซึ่งลงทุนโครงการแรกไปมหาศาลขอเจรจาเครียดกับรัฐบาลอีกครั้ง ขณะที่เอสเอไอซี ยอมรับว่าสนใจโครงการนี้ แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช่แบรนด์โฟล์กสวาเกนอย่างแน่นอน

2014 Ford Ka concept

ยุคนธร วิเศษโกสิน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ฟอร์ดได้ยื่นเอกสารเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนอีโค คาร์ เฟส 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของฟอร์ดมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

"ฟอร์ดได้ศึกษาและทำความเข้าใจในเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด และมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมา ฟอร์ดได้ลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตถึง 2 แห่งในประเทศไทย"

2014 Chevrolet Spark EV –  high tech electric city car priced

มาร์คอส เพอร์ตี กรรมการผู้จัดการ จีเอ็ม ประเทศไทยและบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เริ่มแผนระยะกลางและระยะยาวสำหรับภูมิภาคและประเทศไทย โดยได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามที่บีโอไอกำหนดเงื่อนไขไว้

“แผนการลงทุนใหม่ของเชฟโรเลต เป็นกลยุทธ์จะช่วยกระตุ้นยอดขายของเชฟโรเลตในเชกเมนต์ใหม่ ที่มีการเติบโตสูงและการตัดสินใจร่วมโครงการดังกล่าว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจที่จีเอ็มยังให้ความสำคัญในภูมิภาคนี้โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางในการเติบโตในภูมิภาค”

5

ขณะที่ โชอิชิ ยูกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ จะยื่นเพื่อขอเข้ารับการส่งเสริมในโครงการอีโคคาร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องของความต้องการของตลาดรถยนต์ และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดของโครงการได้ เนื่องจากยังต้องปรึกษาในรายละเอียดของโครงการทั้งหมด และเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายที่เสนอตัวเข้าในโครงการก็มองเห็นศักยภาพของตลาด และเชื่อว่าไม่มีใครที่เสนอโครงการเข้ามาโดยไม่ได้ทำการศึกษาอย่างชัดเจน

"สิ่งที่สำคัญตอนนี้ก็คือทั้งบีโอไอและรัฐบาลเองไม่สามารถอนุมัติโครงการนี้ได้ เนื่องจากบอร์ดบีโอไอหมดอายุไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและรัฐบาลรักษาการณ์แต่งตั้งบอร์ดใหม่ได้ ทำให้บีโอไอไม่สามาถอนุมัติโครงการที่มูลค่าเกินกว่า 200 ล้านบาทได้ ซึ่งจะทำให้ข้อจำกัดในเรื่องการผลิตที่ 1 แสนคันภายในปี 2562 ก็จะถูกบีบเวลามากขึ้น"

นอกจากนี้ มาสด้ามองว่าการพิจารณาลงทุนในแต่ละโครงการ จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ละเอียด เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนใหม่ ขนาดใหญ่ และจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในส่วนของซัพพลายเออร์ที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับโครงการใหม่นี้เช่นเดียวกัน

4

วิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า โตโยต้าได้ตัดสินใจว่าจะส่งเอกสารเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ที่จะหมดเขตการยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2557 นี้

“หากมองในเรื่องของตลาดและการเติบโตแล้วถือว่าตัวรถยนต์อีโคคาร์เองก็ถือว่ามีความน่าสนใจ และมองว่ายังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอยู่ โตโยต้าจึงตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม”

2

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ตัดสินใจยื่นเรื่องเพื่อขอสนับสนุนการลงทุนในโครงการเฟส 2 เช่นเดียวกัน แม้จะมีเรื่องที่ต้องพูดคุยกับรัฐบาลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ในอนาคต

“เราต้องมองในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเฟสแรกด้วยว่าจะมีผลกระทบจากโครงการนี้อย่างไรบ้าง ภาพรวมของตลาดที่จะเกิดขึ้นจากนี้ ซึ่งคงต้องพูดคุยเพื่อเสนอปัญหาและแนวทางข้อสรุปที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลอีกครั้ง”

Nissan_March

ประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ คาดว่าจะยื่นเสนอเพื่อขอรับการส่งเสริมในโครงการดังกล่าวเช่นกัน และคาดว่าผู้ประกอบการที่ลงทุนในเฟสแรกทุกราย จะยื่นเพื่อขอเข้าโครงการในเฟส 2 ทั้งหมด

"ที่มีการพูดกันว่ามีการได้เปรียบเสียเปรียบในกลุ่มผู้ที่ลงทุนเฟสแรกและเฟส 2 นั้น มองได้หลายมุม หากมองในแง่ของเงินลงทุนที่ผู้ที่ลงทุนตั้งแต่เฟสแรกจะต้องลงทุนมากกว่าก็เป็นเรื่องที่เสียเปรียบ แต่หากมองว่ามีการทำตลาดมาก่อน มีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น เช่น นิสสันที่ขายไป 2 แสนคัน ก็อาจจะเป็นแต้มต่อได้เช่นเดียวกัน"

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้าน วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าซูซูกิเองก็สนใจที่จะลงทุนในโครงการดังกล่าวเช่นกัน และเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายก็พร้อมที่จะจองสิทธิ์เพื่อลงทุนเช่นกัน เนื่องจากหากถึงเวลาแล้วไม่ต้องการลงทุนก็สามารถทำได้ โดยไม่มีบทลงโทษใดใด

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีโคคาร์จะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง โดยตลาดที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นรถยนต์นั่งขนาด 1.5-1.8 ลิตร ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าจากรถยนต์มือสองก็จะหันมาซื้อรถยนต์ใหม่ได้ง่ายขึ้น

“แน่นอนว่าประเด็นในเรื่องของการผลิต 1 แสนคันนั้นอาจจะยังมีข้อสงสัยอยู่ แต่ผมเชื่อว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนไป การซื้อรถคันเดียวเพื่อใช้งานทุกอย่างคงน้อยลง หันมาใช้รถยนต์ตามความต้องการที่แท้จริงมากขึ้น ทำให้ตลาดอีโคคาร์ เฟสสองน่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”

3

สำหรับผู้ที่ยังมีปัญหาในการลงทุนดังกล่าวนั้น มาซะฮิโกะ อูเอะกิ ประธานกรรมการและซีอีโอ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอให้พิจารณาการลงทุนจากโครงการอีโคคาร์ เฟสแรก ปรับมาใช้กับโครงการใหม่ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากกับโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ มิตซูบิชิได้ประกาศลงทุนมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านบาทในการเข้าร่วมโครงการแรก ด้วยการลงทุนเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ปีละกว่า 1.8 แสนคัน ซึ่งมากกว่างบลงทุนที่รัฐบาลกำหนดไว้เพียง 5,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าหากรัฐบาลไม่อนุมัติแล้วมิตซูบิชิจะไม่สนใจลงทุน เนื่องจากการตัดสินใจเดินหน้าโครงการใดใดนั้น ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาประกอบในหลายปัจจัย ซึ่งบริษัทฯ หวังจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้”

E50

ขณะที่เอสเอไอซีที่มีข่าวลือว่าจะนำแบรนด์โฟล์กสวาเกนมาทำตลาดกับโครงการนี้นั้น หวู ฮวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เปิดเผยว่าแม้จะเพิ่งเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แต่ก็มองว่าโครงการอีโคคาร์เป็นโครงการสำคัญที่จะผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในอนาคต และบริษัทฯ ก็มีความต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของรถยนต์ในเครืออีกครั้งว่าจะนำรุ่นใดมาเข้าโครงการ

“สำหรับข่าวลือที่ว่าจะเป็นการนำแบรนด์โฟล์กสวาเกนเข้ามาทำตลาดในโครงการนี้นั้น ขอยืนยันว่าหากทางบริษัทฯ ลงทุนก็จะไม่ใช้แพลตฟอร์มของโฟล์กสวาเกนในการทำตลาดอย่างแน่นอน แต่จะเป็นโมเดลใดนั้น ขณะนี้ยังพอมีเวลาให้ตัดสินใจได้อยู่”

แม้จะมีการยื่นเพื่อขอร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามต่อก็คือบีโอไอจะอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนของค่ายใดบ้าง และจะสามารถอนุมัติได้เมื่อใด เนื่องจากทั้งบอร์ดบีโอไอที่หมดอายุและรัฐบาลรักษาการณ์ ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้โครงการทั้งหมดไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดจริง ๆ สำหรับเรื่องนี้!!!


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ