ย้อนกลับไป วันที่ 18 มีค. 2013 ประมาณ 1 ปีที่แล้ว ทาง Hyundai Motors ไทยแลนด์ ได้เปิดตัวรถสปอร์ตในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร กับประตู 2+1 Hyundai Veloster ที่ลานบิน Best Ocean Air Park สมุทรสาคร โดยจับเจ้า Veloster ทั้งรุ่น Turbo และ NA มาวิ่งกันบนรันเวย์ พร้อมให้นักข่าวได้ สัมผัส สมรรถนะของรถทั้ง 2 รุ่นนี้ เพียงคันละ 1 รอบ รันเวย์ สั้นๆ เท่านั้น จนวันนี้ได้มีโอกาส มาจับพวงมาลัยของสปอร์ตจากแดนกิมจิ ดีไซน์ประตูอันเป็นเอกลักษณ์คันนี้อีกครั้ง ซึ่ง ในวันนี้ Veloster คันที่ได้รับมาทดสอบนี้ ไม่ธรรมดา เพราะสวมใส่ชุดแต่งจาก Mobis มาแบบจัดเต็ม
ขอท้าวความกลับไปถึงการดีไซน์ Hyundai Veloster กันอีกครั้ง คำว่า Veloster มาจาก Veloscity + Roadster ได้รับแรงบรรดาลใจการออกแบบ มาจากรถ Superbike เพื่อให้มีหน้าตาที่ดุดดัน ร่วมกับปรัชญาการออกแบบใหม่ของ Hyundai “Fluidic Sculpture Design” ที่เน้นความลื่นไหลของเส้นสายตัวถัง ร่วมกับดีไซน์การออกแบบประตูแบบ 2+1 ซึ่ง กลายเป็นจุดขายของ Veloster คันนี้ หากมองจากด้านซ้ายตัวรถจะพบว่า เป็นรถ Hatchback 5 ประตู โดยมีมือเปิดประตูหลังที่ซ่อนอยู่แบบ Integrated แต่เมื่อมองจากทางด้านขวา จะพบว่า มันจะดูเป็นรถ Coupe Hatchback เพราะมีประตูเดียวทางด้านขวา สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ได้แก่ ฝากระโปรงหน้าที่เป็นรูปแบบ 2 plane เจาะรู บนฝากระโปรงเพื่อให้เพิ่มความดุดันยิ่งขึ้น สปอยเลอร์หลังแบบ Turbulence ซึ่งช่วยส่งผลให้ ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน cd= 0.32 พร้อมไฟท้าย LED ในตัว ปลายท่อไอเสียคู่ออกกลางทรงเหลี่ยมเพิ่มความสปอร์ต นอกจากนั้นสีตัวถัง มีให้เลือกมากถึง 7 สี สำหรับ Veloster ได้แก่ เหลือง Sunflower, เขียว green apple, เงิน sonic silver, แดง veloster red, ส้ม vitamin c, น้ำเงิน blue ocean, ขาว white crystal และ 5 สี สำหรับ ตัว Turbo ได้แก่ แดง veloster red, ส้ม vitamin c, น้ำเงิน blue ocean, ขาว white crystal, เทาดำ petrol grey
สำหรับคันนี้พิเศษกว่าคันอื่นตรงที่ใส่ชุดแต่ง จากสำนัก Mobis ซึ่งประกอบไปด้วย กันชนหน้า, หลัง สเกิร์ตข้าง, ไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์, ไฟท้าย LED รวมไปถึง สติกเกอร์ตกแต่งลายจุด pixel รอบคัน และสติกเกอร์ครอบกระจกมองข้างลายเคฟล่า โช้คอัพ, คอยล์สปริงใหม่
และปิดท้ายที่ล้ออัลลอย ขนาด (18”x7.5” ET49) และยาง Hankook Ventus V12 Evo 225/40/18 Made in Korea
เปิดประตูเข้ามาภายใน Veloster ด้วยระบบกุญแจอัจฉริยะ มาพร้อมปุ่ม Push Start จะพบว่าห้องโดยสารภายในเป็นแบบ 4 ที่นั่ง ใช้โทนสี Silver Accents และ Glossy Black ในคันนี้ใช้วัสดุหุ้มเบาะเป็นผ้า tricot บนเบาะปักคำว่า Veloster เอาไว้บนเบาะนั่ง 2 ฝั่ง
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกพื้นฐานที่มีมาให้ ได้แก่ พวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และเชื่อมต่อโทรศัพท์ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ หน้าจอเครื่องเสียงขนาด 7” แบบ LCD รองรับ USB, Aux และ CD และมี Eco Game เอาไว้ให้เล่น เพื่อฝึกการขับขี่แบบประหยัดอีกด้วย นอกจากนั้นทางฝั่งขวามือ จะมีปุ่มเปิด-ปิด เซ็นเซอร์ถอยจอด
เมื่อนั่งลงที่ตำแหน่งคนขับ พบว่าเบาะมีขนาดไม่ใหญ่มาก มีปีกที่โอบลำตัวในรูปแบบ Sport Seat แต่ด้วยความที่เบาะดูจะขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งจะพอโอบกระชับกับผู้ขับที่ขนาดตัวไม่ใหญ่มาก แต่ถ้าผู้โดยสารตัวใหญ่มานั่งอาจพบว่าเบาะอาจดูเล็กอึดอัดไปสักนิด เมื่อหันไปดึงที่คาด Belt ฝั่งคนขับ พบว่ามันสามารถปรับระยะได้ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องเอื้อมแขนไปข้างหลังจนตึงเมื่อย เหมือนพวกรถสปอร์ตคูเป้ ในหลายรุ่น และพื้นที่เบาะตอนหลังพับได้แบบ 60:40 จึงช่วยขยายพื้นที่เก็บสัมภาระมากขึ้นไปถึง 440 ลิตร ถือว่ามากกว่ารุ่น Turbo ที่มีเพียง 320 ลิตร สำหรับพื้นที่โดยสารตอนหลังไม่ถึงกับแคบตามแบบรถ Coupe หลายๆคัน แต่ถ้าเทียบกับรถในระดับ Sub-Compact 5 ประตู ก็ถือว่ามีพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือจะมากกว่าเล็กน้อย ในส่วนของพื้นที่ Leg Room แต่สำหรับ Head Room นั้น อาจดูเตี้ยไปหน่อยจากรูปทรงของรถ ซึ่งคนที่ตัวสูงมานั่งอาจจะอึดอัด ติดศรีษะ ตรงกระจกบานหลัง แต่ก็ยังนั่งได้แบบไม่อึดอัด เพราะเบาะ ไม่ได้ชันตั้งตรงเกินไปนัก แต่ด้วยตำแหน่งเบาะที่ดูต่ำ คนตัวสูงยาว เข่าอาจจะชันขึ้นมากหน่อย
ในส่วนของทัศนะวิสัย นั้น ในด้านท้าย อาจจะต้องทำใจกันหน่อย กับรถในสไตล์ สปอร์ต ท้ายลาด เช่นนี้ เพราะช่วงเสา C นั้นมีขนาดหนา เมื่อเชื่อมต่อกับฝากระโปรงหลัง ด้วยแล้ว ทำให้ การเลี้ยวออกจากซอย ต้องระวัง รถที่แล่นมาให้ดี รวมถึงการมองกระจกบานหลังด้วยเช่นกัน เนื่องจากระจกที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น
สมรรถนะของระบบส่งกำลัง เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร MPI DOHC พร้อมระบบวาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย D-CVVT มอบพละกำลัง 130 แรงม้า@6,300rpm และแรงบิด 157Nm@4,850rpm ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter 6 Speed ลงสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
การตอบสนองของเครื่องยนต์นั้น ในช่วงที่ขับแบบรถติดในตัวเมือง หรือที่ความเร็วไม่สูงเกินไป ดูๆ แล้วจะไม่ต่างจากรถในกลุ่มรถเล็ก B-Car นัก (เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร) ความรู้สึกออกมาใกล้เคียงกัน ทำในจังหวะออกตัว และเร่งแซง อยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่เมื่อมีโอกาสวิ่งเดินทางไกล ที่เริ่มจะใช้ความเร็วได้บ้าง กลับรู้สึกว่า ช่วงความเร็ว ระดับ 120 กม./ชม. ขึ้นไปมันไม่มาเลย ดูเอื่อยเฉื่อย อย่างเห็นได้ชัด เส้นทางที่เราได้ทดลอง บนถนนมิตรภาพ ที่มีความยาว แต่ความเร็วนั้นไต่ขึ้น แบบเฉื่อยกว่าที่เราคิดไว้มาก จนผมไม่มีโอกาสทำความเร็วได้เกินกว่า 160 กม./ชม.ไปได้
ซึ่งหากเทียบกับความเป็นรถสปอร์ตด้วยกันแล้ว ชัดเจนว่ามันอืดไปเลย ลองขับกระแทกคันเร่ง ลากในโหมด S เพื่อหวังให้การตอบสนองดีขึ้นสักเล็กน้อย เมื่อลากรอบถึงราว 6,500rpm เกียร์จะตัดขึ้นใหม่ให้เอง แต่ถ้าต้องการจะ Shift เกียร์ขึ้นเอง ที่รอบเครื่องยังต่ำ เมื่อเน้นการประหยัด จะพบว่า ไม่สามารถขึ้นเกียร์ที่รอบต่ำกว่า 2000rpm ลงไปได้ ซึ่งถ้าพูดถึงการขับในโหมด S นี้ อาจจะไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเท่าที่ควร ทั้งจะขับในแบบซิ่ง หรือจะเน้นประหยัด แต่อาจช่วยได้ในกรณี อยู่บนทางชัน หรือ ช่วงแซงต่อเนื่องบางจังหวะ ที่ต้อง hold รอบเครื่องเอาไว้
ลองวัดตัวเลขสมรรถนะ ด้วย OBD ได้ค่าดังนี้
0-100 กม./ชม. = 13.27 วินาที ¼ ไมล์ = 19.15 วินาที
หมายเหตุ ในการทดสอบด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์คันนี้ ตัวเลขที่ได้อาจไม่สู้ดีนัก จากการใช้ล้อขอบ 18” ซึ่งดูจะกินกำลังเครื่องพอสมควร กับเครื่องยนต์ 1.6 ซึ่งเดิมๆ ที่ใส่ล้อ ขนาด 17”x7” มาให้
สำหรับการขับขี่ด้วยเกียร์ 6 Speed ลูกนี้ ถือว่าเป็นเกียร์ Torque Converter ที่ทำการเปลี่ยนเกียร์ ให้เกิดช่วงรอยต่อที่ดูสมูท ไม่กระโชกโฮกฮากนัก และการตอบสนองในจังหวะ Shift เกียร์ด้วยตัวเอง ก็พบว่า ไม่ถึงกับช้าจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้เร็วมากนัก
ถัดมาดูความสัมพันธ์ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ 3 ค่าได้ดังนี้
80 กม./ชม.=1,750rpm 100 กม./ชม.=2,250rpm 120 กม./ชม.=2,750rpm
ในด้านอัตราสิ้นอัตราสิ้นเปลืองจากมาตรวัด ในการเดินทางไกล ได้เฉลี่ย 14 กม./ลิตร โดยใช้ความเร็วราว 100-110 กม./ชม. และการวิ่งในตัวเมือง ที่มีรถติดร่วมด้วย ได้อัตราสิ้นเปลือง ราว 12 กม./ลิตร
โดยรวมแล้วสมรรถนะเครื่องยนต์ อยู่ในระดับ รถเล็กพิกัด 1.5 ลิตร ทั่วๆไป ดูไม่หวือหวา อะไร หากมองว่ามันอยู่ในครายรถสปอร์ต กับอัตราสิ้นเปลืองที่สมกับขุมพลังเครื่องยนต์ ถ้าหากชอบความแรง ให้สมกับคำว่ารถสปอร์ต ขอแนะนำเพิ่มเงินไปอีก 4 แสนกว่าบาท คว้าเครื่อง GDi-Turbo เลยจะดีกว่า
ระบบบังคับเลี้ยว Handling พวงมาลัยแบบมอเตอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า MDPS ของ Veloster นี้ ทันทีที่ได้สัมผัส ก็รู้สึกได้ถึงความว่องไวของพวงมาลัย และนั่นเป็นฟีลพวงมาลัยแบบผ่อนแรงไฟฟ้า ของรถสปอร์ตโดยแท้ ในช่วงออกตัวน้ำหนักเบา คล่องมือแก่การสาวจอด หรือ ขับเคลื่อนที่ต้องการความคล่องแคล่วในตัวเมือง มันก็ตอบสนองได้ดีทันใจ แต่เมื่อเคลื่อนตัวออกไปมีอาการแน่นตึ้บ มีความหนืดมากขึ้น โดยมีระยะฟรีพอควรให้พร้อมที่จะควบคุมได้อย่างทันท่วงที การประคองความเร็วในโค้ง ซึ่งต้องยอมรับเลยว่ามันดูหนักทีเดียว แถม พวงมาลัย มีอาการดึงกลับไปยัง Center ซึ่งถือว่า มันดูมีความแม่นยำดี และ มีความไวสูง เมื่อผ่านพ้นช่วงระยะฟรีของพวงมาลัยไป
แต่สำหรับในคันทดสอบนี้ เราพบว่า มันมีอาการกินซ้ายของพวงมาลัยให้เห็น
ระบบช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบ Macpherson Struts ตามพิมพ์นิมยม ด้านหลังเป็น Coupled Torsion Beam Axle (คานบิด) อาการของช่วงล่างนั้น มาในแบบสปอร์ตชัดเจน คือออกแนวแข็ง เนื่องจากคันนี้ถูกปรับเปลี่ยนช่วงล่างทั้งโช้คอัพ และสปริงใหม่จาก Mobis และล้อที่ใส่ใหญ่ถึง 18” สัมผัสได้ถึงช่วงล่างแบบรถสปอร์ตที่มีอาการตึงตึง ให้เห็นพอสมควร และจะพบการยุบตัว และ rebound กลับของโช้คอัพที่ค่อนข้างน้อย และนั่นอาจส่งผลให้การปรับเปลี่ยนเลนด้วยความรวดเร็ว รถจะโยนมาแบบทั้งลำ ซึ่งก็ถือว่ามันดูเกาะหนึบติดพื้นถนนดี แต่อาจทำเอาเวียนหัวได้อยู่เหมือนกัน
นอกจากนั้น การยึดเกาะบนถนนที่ความเร็วในระดับ 140 กม. ถึง 160 กม./ชม. มันยังทำได้อย่างดี ไม่มีอาการหวาดเสียวให้เห็นซึ่งก็มีผลจากบอดี้ตัวถังที่ค่อนข้างเตี้ยช่วยด้วย สำหรับการยึดเกาะในโค้งนั้น อาจพบว่า Under Steer (หน้าดื้อ) ให้เห็นกันอยู่บ้าง เมื่อโยนเข้าที่ความเร็วสูงๆ ทั้งจากน้ำหนักของพวงมาลัยที่ค่อนข้างหนักแน่น และช่วงล่างที่อาจจะดูยืดหยุ่นน้อยไปนิด แต่ถ้าขับในโค้งที่กว้างแบบวาดกันได้ยาวๆ ก็ถือว่าควบคุมได้ของข้างมั่นคงในทางโค้งดีทีเดียว
ระบบห้ามล้อ ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมครีบระบายความร้อนบนจานคู่หน้าขนาด 280mm และ จานดิส์คู่หลังขนาด 262mm มาพร้อมระบบ ABS, BA, EBD มาให้เป็นมาตรฐาน การตอบสนองเบรก อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เบรกดูติดเท้าใช้ได้ แต่หากเร่งมาด้วยความเร็ว หากต้องเหยียบลงแบบทิ้งน้ำหนัก เพื่อหยุดรถ อาจมีอาการหน้าจิก หน้าทิ่มพอสมควร แต่ขณะที่ขับขี่แบบทั่วๆ ไป แป้นเบรกไม่ถือว่าตอบสนองไวจนเกินไป ยังสามารถเหยียบเ แบบคงความนุ่มได้อยู่ เนื่องจากตำแหน่งของแป้นเบรกนั้น อยู่ค่อนข้างลึก ในสไตล์แบบรถบ้าน ว่าง่ายๆ การเซ็ตเบรก อาจดูไม่เหมือนรถสปอร์ต เต็มตัวนัก ที่มักเซ็ตแป้นเบรกตื้นๆ แตะนิดเดียวจิก จนหัวทิ่ม สำหรับ Veloster คันนี้ ออกแนวรถบ้านทั่วๆไป แป้นไม่ตื้น ต้องเหยียดเท้าลงไปลึกหน่อย แต่โดยรวมมันตอบสนองได้ดี เบรกอยู่ ในการขับขี่ที่ความเร็วค่อนข้างสูง
สรุป Hyundai Veloster รถสปอร์ตสายพันธุ์ใหม่ Import จากเกาหลีใต้ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นเจ้าแรกในโลกกับประตูแบบ 2+1
ถ้าขับแบบเอาหล่อเฉยๆ พอให้ได้ฟีลรถสปอร์ต จากช่วงล่าง และพวงมาลัย รวมถึงตำแหน่งการนั่ง นอกจากนั้นออปชั่นที่ควรจะมีมาให้เพื่ออำนวยความสะดวก ก็จัดมาแบบไม่น้อยหน้ารถสปอร์ตคันอื่นๆ รวมทั้งคุณภาพงานที่นำเข้ามาทั้งคัน ซึ่งถือว่าดูดีทีเดียว แต่เมื่อคาดหวังกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ ที่ขึ้นชื่อว่ารถสปอร์ตแล้ว อาจจะผิดหวัง เพราะว่าในตัว NA นี้ มันไม่ได้เน้นแรง แต่มันช่วย save cost ค่าใช้จ่ายของคุณไปได้เยอะ ทั้งค่าตัวรถที่ถูกกว่า Turbo ถึงราว 4 แสนกว่าบาท และค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายในยุคข้าวของราคาแพงเช่นนี้
แต่ถ้าหาก คุณคือคอสปอร์ต ตัวจริง รักในความแรง แล้วล่ะ ก็ ขอแนะนำกำเงินเพิ่มอีก 4 แสนกว่าบาท คว้ารหัสแรง GDi-Turbo มาขับให้สนุกเต็มสมรรถนะ พร้อมทั้งออปชั่นที่มีมาให้แบบครบครัน ด้วยจะดีกว่า
สำหรับผู้ที่สนใจชุดแต่ง Mobis สามารถติดต่อได้ทาง Hyundai Motors
ขอขอบคุณ Hyundai Motors สำหรับรถทดสอบ Veloster คันสีเหลือง สุดสวยคันนี้ 1.299 ล้านบาท (ไม่รวมชุดแต่ง Mobis)
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ชมภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก
รายละเอียดทางเทคนิค Hyundai Veloster
เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร MPI DOHC พร้อมระบบวาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย D-CVVT 130 แรงม้า@6,300rpm และแรงบิด 157Nm@4,850rpm
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed แบบ Torque Converter
ระบบบังคับเลี้ยว พวงมาลัยแบบมอเตอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า MDPS
ระบบช่วงล่าง ด้านหน้าแบบ Macpherson Struts ด้านหลังแบบ Coupled Torsion Beam Axle
ระบบเบรก ดิสก์ 4 ล้อ พร้อมครีบระบายความร้อนคู่หน้า
พบรถ Hyundai มือ 2 ได้ที่ Thaicar.com
ความคิดเห็น