รถยนต์รุ่นหนึ่งที่ถือเป็นรถที่มียอดขายสุงที่สุดของ Honda นั่นก็คือ รถในกลุ่ม B-Segment อย่าง Honda City และเมื่อ 2 ปีก่อน Honda ได้เปิดตัว City ที่ติดตั้งก๊าซ CNG มาจากโรงงานกันไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้เชิญทางเราเข้าไปร่วมทดสอบมาแล้ว (อ่านบททดสอบที่นี่) และเมื่อต้นปีนี้ทาง Honda ก็ได้เปิดตัว Honda City โฉมใหม่ล่าสุดเจนเนเรชั่น 4 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย เพราะสามารถกวาดยอดขายกว่าแสนคันใน 7 เดือน ที่เปิดตัวทั่วโลก และเราก็ได้ทดสอบกันไปเป็นที่เรียบร้อยกับตัวท๊อปในรุ่น SV+ (อ่านบททดสอบได้ที่นี่) ถัดมาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ Honda ได้ทำการเปิดตัว Honda City CNG ต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่ง City CNG นี้จึงมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะมาตอบโจทย์ผู้ใช้รถอย่างหนัก ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งในวันนี้ทาง Honda ได้จัดทริปทดสอบ City CNG ใหม่นี้ขึ้น พร้อมรับเชิญทางเราเข้าไปร่วมทดสอบเป็นกลุ่มแรกๆด้วย
โดยที่ทริปทดสอบนี้ จะเป็นการเดินทางแบบสั้นๆ ใช้เวลาไม่นาน โดยเริ่มต้นออกเดินทางจาก พระนคร Honda รามอินทรา โดยมุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครนายก เพื่อเปลี่ยนผู้ขับและวิ่งกลับมายังปั๊มก๊าซ CNG ที่อยู่ใกล้โชว์รูม พระนคร Honda รามอินทรา ทางเราได้รถทดสอบในรุ่น V AT สีบรอนซ์เงิน โดยเป็นผู้ขับในช่วงที่ 2 จากนครนายก กลับมาที่ปั๊มก๊าซ CNG
Honda City CNG ในเจนเนอเรชั่น 4 นี้ ได้ถูกออกแบบพัฒนาระบบ CNG มาพร้อมกันกับโมเดลพื้นฐานแรก ซึ่งแตกต่างจาก เจนเนอเรชั่น 3 ที่พัฒนารุ่น CNG ตามหลังออกมาเมื่อ 2 ปีก่อน โดยในรุ่นนี้ได้ออกมาแบบภายใต้แนวคิด Advanced Cool Stunner ซึ่งเพียบพร้อมทั้ง ความประหยัด ความสบาย และความมีสไตล์
ในส่วนของภายนอกนั้น ฟังก์ชั่นอุปกรณ์จะเหมือนกับรุ่นพื้นฐานแทบทั้งสิ้น ซึ่งในรุ่น V นี้จะมีระบบ Keyless Entry ให้ พร้อมล้ออัลลอยขอบ 15” สิ่งที่เห็นเป็นสังเกตุถึงความต่าง นั่นก็มีเพียง Emblem ที่ด้านหลังฝากระโปรงใต้คำว่า i-Vtec จะพบคำว่า CNG ติดอยู่ และในส่วนของสีภายนอกนั้น จาก 7 สี จะปรับลดเหลือ 6 สี โดยสีที่หายไปคือ น้ำเงินตัวชูโรง
โดยทั้ง 3 รุ่น จะมีสีให้เลือก ดังนี้
- รุ่น S CNG MT มี 3 สีให้เลือก คือ สีขาวทาฟเฟต้า, สีเงินอลาบาสเตอร์ (เมทัลลิก)และสีดำคริสตัล (มุก)
- รุ่น S CNG AT มี 4 สีให้เลือก คือสีขาวทาฟเฟต้า, สีเงินอลาบาสเตอร์ (เมทัลลิก) สีดำคริสตัล (มุก)
และสีเทาโมเดิร์นสตีล (เมทัลลิก)
- รุ่น V CNG AT มี 6 สีให้เลือก คือ สีขาวทาฟเฟต้า, สีเงินอลาบาสเตอร์ (เมทัลลิก), สีดำคริสตัล (มุก),
สีเทาโมเดิร์นสตีล (เมทัลลิก), สีแดงคาร์เนเลียน (มุก), และสีน้ำตาลโกลเด้น (เมทัลลิก)
เมื่อเปิดประตูเข้ามาภายในด้วยระบบ Keyless พร้อมสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยปุ่ม Engine Start ในรุ่น V AT คันนี้ จะพบหลายสิ่งที่แตกต่างไปกับรุ่น SV+ ที่เราได้นำมาทดสอบกันไปก่อนหน้านี้ ทั้งเบาะที่ใช้เป็นเบาะผ้าสีเบจ เครื่องเสียง Module ฝังพร้อมเครื่องเล่น CD เพลง โดยรองรับระบบเชื่อต่อ USB, AUX และ Bluetooth พวงมาลัยสามก้านตกแต่ง Trim Metallic แต่ไม่มีปุ่มใดๆ บนพวงมาลัย
สำหรับหน้าจอมาตรวัดเรืองแสง พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID ยังคงมีเช่นเดิมในรุ่น V AT นี้
มีสิ่งหนึ่งที่ย่อมต้องเสียไปในรุ่นที่ติดตั้งถัง CNG ขนาด 65 ลิตรนี้ ก็คือ พื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังจะลดลงเหลืออยู่ที่ 282 ลิตร และในเรื่องของเบาะหลังที่ไม่สามารถพับได้
สำหรับเครื่องยนต์ i-VTEC 1.5 ลิตร รองรับทั้งระบบน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบการจ่ายเชื้อเพลิงแบบก๊าซ CNG พร้อมกล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์(ECU) โดยติดตั้ง ECU ตัวที่ 2 นี้แยกเพื่อใช้สั่งจ่าย CNG โดยเฉพาะ
ระบบให้กำลัง 112 แรงม้า สำหรับ CNG และ 120 แรงม้า สำหรับน้ำมัน โดยกำลังสูงสุดนี้ออกมาที่รอบเครื่อง 6,600rpm และแรงบิด 127Nm สำหรับ CNG และ 145Nm สำหรับน้ำมัน ที่รอบเครื่อง 4,600rpm ผสานกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าด้วยระบบเกียร์ CVT ใหม่ EarthDreams เทคโนโลยี ขยายอัตราทดเกียร์ให้กว้างขึ้น พร้อมระบบ G-Design Shift
มีจุดสังเกตุที่แตกต่างจาก Honda City ใหม่ ตัวพื้นฐาน คือ กำลังเครื่องยนต์ที่มาเพิ่มเป็น 120 แรงม้า เท่ากับโมเดลเจนเนอเรชั่นก่อน ซึ่งทำให้เราคาดเดาได้ว่าการปรับเซ็ตคงไม่ต่างจากเจนเนอเรชั่นเดิมมากนัก และในรุ่น CNG จะไม่รองรับน้ำมัน E85 จุดที่แตกต่างกันกับในโฉมเจนเนอเรชั่น 3 นอกจากในเรื่องของระบบเกียร์แล้ว ก็คือเทคโนโลยีของระบบหัวฉีด CNG ได้เปลี่ยนใหม่ จากการใช้ของ BRC ในโฉมก่อน มาเป็นของ Keihin ในโฉมนี้ นอกเหนือจากนั้นชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนก็มี วาล์วชีท และหัวเทียน เพื่อให้เกิดความคงทนต่อการสึกหรอมากยิ่งขึ้น
ในด้านของการทำงานของระบบ CNG นี้ คือให้สังเกตุที่สวิทช์เลือกชนิดของเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีจุดอยู่ 4 จุดบอกระดับของปริมาณก๊าซคงเหลือในถัง และจุดไฟทางด้านขวา ซึ่งจะแสดงผลอยู่ 2 สี คือ แดง จะหมายถึงใช้โหมดน้ำมันขับขี่ และ เขียวซึ่งก็คือ โหมด CNG
โดยเริ่มตั้งแต่การติดเครื่องยนต์ หากดับเครื่องที่โหมดไหนระบบก็จะสตาร์ทเริ่มที่ระบบนั้น ซึ่งเราขอแนะนำให้เลือกไว้ที่โหมด CNG ค้างเอาไว้โดยตลอดเลย เนื่องจากเวลาที่เราดับเครื่องด้วยระบบ CNG การติดเครื่องยนต์จะยังติดเครื่องด้วยน้ำมันก่อน และเมื่ออุณหภูมิพอเหมาะ ระบบก็จะตัดเข้า ใช้ CNG เองอัตโนมัติ ซึ่งสามารถฟังได้จากเสียงบี๊บที่เกิดขึ้น หรือ หน้าจอ MID ที่แสดงผลอัตราสิ้นเปลือง หรือ ระยะทางคงเหลือที่วิ่งได้ จะไม่สามารถแสดงค่า เมื่อวิ่งด้วยระบบ CNG และหากวิ่งไปเรื่อยๆ จน CNG หมดถัง ระบบก็จะตัดเข้าสู่ระบบน้ำมันโดยอัตโนมัติเองเช่นกัน
ด้านสมรรถนะการขับขี่ ในโหมด CNG เมื่อกดคันเร่งเพื่อเร่งแซง พบว่า อัตราเร่งจะดูด้อยกว่าน้ำมัน แบบรู้สึกได้เล็กๆ แต่เมื่อ Kick Down แช่ไว้สักระยะ จนรอบเครื่องขึ้นมาสูงถึงประมาณ 6,000rpm ระบบจะตัดเข้าใช้น้ำมันเอง ซึ่งสังเกตุได้จากหลายสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งเสียงบี๊บ หน้าจอ MID ที่แสดงผลอัตราสิ้นเปลืองจะกลับมาโชว์ตัวเลขแสดงค่า รวมถึงอาการกระตุกของเครื่องยนต์ให้รู้สึก นิดๆ หลังจากที่ระบบกลับมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันอัตราเร่งนั้นตอบสนองได้อย่างดีขึ้น และเมื่อเรายกคันเร่งเพียงสักครู่ ระบบก็จะตัดกลับคืนสู่การใช้ CNG อีกครั้ง ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ถือว่าทำได้อย่างรวดเร็ว ค่อนข้างฉลาดจากกล่อง ECU อีกตัวที่ช่วยควบคุมการจ่ายของก๊าซ
จุดที่อยากเสนอแนะเพิ่มเติมคือ การตัดกลับมาใช้ระบบน้ำมันที่รอบเครื่องสูง ซึ่งส่วนตัวคิดว่า การเซ็ตรอบไว้สูงถึง 6,000rpm ช่วยให้ใช้เชื้อเพลิงจาก CNG ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ว่าการเร่งแซงนั้น อาจจะดูตอบสนองช้าไป ซึ่งถ้าหากลดรอบเครื่องยนต์ลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 5,000rpm น่าจะให้การเร่งแซงนั้น อาจจะดูปลอดภัยยิ่งขึ้นอีกนิด แต่ก็แลกกับอัตราการใช้น้ำมันที่รอบเครื่องยนต์ที่มาไวขึ้น
สำหรับอัตราสิ้นเปลืองที่รถคันสีเงิน ของเราได้ทำไป ในการวิ่งระยะทาง 198.6 กม. แต่มีการเติมก๊าซกลับคืน 10.90 กก. ซึ่งในการเทสครั้งนี้ อาจชี้วัดอะไรไม่ได้อย่างเป็นทางการนัก เพราะเริ่มต้นออกเดินทางสเกลก๊าซ มีเพียง 3 ขีด และเราวิ่งจนมาสิ้นสุดที่ปั๊มก๊าซใกล้ๆ โชว์รูมเหลือก๊าซอยู่ 1 ขีด ซึ่งในการขับขี่ครั้งนี้เราไม่ได้ขับแบบเน้นประหยัดนัก เพราะต้องการทดสอบสมรรถนะ และการทำงานของระบบตัดจ่ายเชื้อเพลิงด้วย อีกทั้งทันทีที่รอบเครื่องยนต์สูงเกินไประบบจะตัดเข้าใช้น้ำมันทันที จึงอาจสรุปได้สั้นๆ ว่า ก๊าซ CNG 1 ถัง นั้นเพียงพอต่อการวิ่งเดินทางท่องเที่ยว ไป-กลับในระยะ 200 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ หากขับขี่แบบปกติ ที่ความเร็วระดับ ไม่เกิน 120 กม./ชม.
ระบบพวงมาลัยแบบผ่อนแรงไฟฟ้า EPS ที่มีรัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร นั้นได้เซ็ตเหมือนเดิมทุกอย่าง ฟีลลิ่งแทบทั้งหมด จึงไม่แตกต่างกับที่พบใน Honda City 2014 ใหม่ โดยที่เอกลักษณ์ของพวงมาลัยตัวนี้ ยังคงอยู่ที่ความเร็วต่ำเบาสาวได้อย่างสบายๆ คล่องมือ พร้อมวงเลี้ยวที่แคบช่วยให้คล่องตัว แต่ยังไม่กระฉับกระเฉงนัก เนื่องจากสัมผัสได้ถึงอาการหน่วงมือในการสาวพวงมาลัยแบบไฟฟ้าที่ยังอาจดูตอบสนองช้าไปนิด และเมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้นพวงมาลัยก็ดูจะเบาไปหน่อย
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังแบบ ทอร์ชั่นบีม H-Shape ได้ถูก ปรับปรุงใหม่
- ด้านหน้า เซ็ทโช๊คอัพใหม่, เปลี่ยนค่าสปริงเรท ใหม่ ให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น และ Stabilizer Bar ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
- ด้านหลัง เซ็ทโช๊คอัพใหม่, เปลี่ยนค่าสปริงเรท ใหม่ ให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น และ ปรับขนาดของดรัมเบรกหลังให้มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นในส่วนของ Bogy Rigid ตัวถังก็ได้ติดตั้ง Cross (X ) Bar ซึ่งอยู่ด้านหลังเบาะผู้โดยสารตอนหลัง ซึ่งนั่นจะเปรียบเสมือนการติดตั้งค้ำโช๊คด้านหลังไปในตัว
ความรู้สึกแรกทันทีได้ที่นั่งโดยสาร รู้สึกได้ชัดเจนเลยว่า มันค่อนข้างแข็งกว่าตัวพื้นฐาน เมื่อวิ่งในตัวเมือง อาจรู้สึกนั่งได้ไม่สบายเท่าที่ควร จนในช่วง Q&A เรา ได้สอบถามถึงลมยางด้วยว่าใช้ลมยางอยู่ที่เท่าไร ซึ่งได้คำตอบคือ ลมยาง หน้า/หลัง = 32/30 เป็นค่ามาตรฐานสำหรับรถทั่วไป ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากปกติ
แต่เมื่อการเดินทางไกลที่ใช้ความเร็ว ต้องยอมรับเลยว่า อาการเหินลอยไม่ยึดเกาะถนนนั้น ไม่พบแล้วในด้านหลัง เนื่องจากทั้งถังก๊าซที่อยู่ทางด้านหลัง และสปริงเรท ใหม่ แต่บริเวณด้านหน้าอาจจะยังไม่รู้สึกต่างจากเดิมมากนัก มีอาการเคลื่อนตัวตามพื้นถนนให้รู้สึกกันอยู่บ้าง ซึ่งโดยรวมแล้วนั้นสมรรถนะของการยึดเกาะ ถือว่าทำได้ดีขึ้นพอสมคร แต่ก็แลกมาด้วยอาการความแข็งของช่วงล่างที่เพิ่มมากขึ้น
สรุป Honda City CNG ใหม่ รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก นอกเหนือจากเชื้อเพลิง E85 และระบบไฮบริด ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายราว 0.6 บาท/กม. ช่วยให้คุณเดินทางไปไหนมาไหน อย่างสบายใจสบายกระเป๋าสตางค์มากขึ้น แถมอุ่นใจด้วยการติดตั้งระบบมาจากโรงงาน Honda ซึ่งไม่ต้องห่วงกับประกันที่จะหลุดหาย และการปรับเซ็ตตัวรถต่างๆ ที่ได้พัฒนามาพร้อมกันตั้งแต่เริ่มต้น โดยเพิ่มเงิน 62,000 บาท ซึ่งถือว่าดีกว่าการไปเสียเวลาติดตั้งเอาเอง City CNG ใหม่นี้จึงตอบโจทย์แก่ผู้ที่ต้องการใช้รถอย่างหนัก แม้อาจมีข้อเสียในด้านของพละกำลังที่ลดลงเล็กน้อย และช่วงล่างที่แข็งขึ้นอีกหน่อย แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค เพราะโดยรวมมันยังเป็นรถพลังงานทางเลือกก๊าซ CNG ที่ให้กำลังได้สูงกว่ารถค่ายอื่นอยู่ดี อีกทั้งจุดเด่นในด้านของความปลอดภัยที่มีมาให้เต็มในทุกรุ่น ทั้งถุงลม SRS, ESS, VSA, HSA เป็นต้น
แต่เป็นที่น่าเสียดายอีกนิด ที่รุ่นย่อยสำหรับตัวติดตั้ง CNG นี้ มีมาให้เพียงแค่ 3 รุ่นย่อย S MT, S AT, V ซึ่งที่จริง ถือว่ามีแค่ 2 รุ่นด้วยซ้ำไป ทำให้หลายคนที่อยากได้ตัวสเป็กออปชั่นเต็มอาจมีเสียดายกันไป
เอาเป็นว่าต้องมารอดูกันว่า กับเป้าที่ทาง Honda ตั้งไว้กับ City CNG นี้ ถึงปีละ 15,000 คัน จะทำได้หรือไม่คงต้องให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจกันเอาเองล่ะ
ขอขอบคุณ บริษัท Honda Automobile และ พระนคร Honda รามอินทรา สำหรับทริปทดสอบ Honda City CNG ใหม่ในครั้งนี้
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
พบรถ Honda และ Honda City มือ 2 ได้ที่ Thaicar.com
ความคิดเห็น