เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) แถลงข่าวเปิดโครงการ สาทรโมเดล โครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนบนถนนสาทร
โครงการนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลก ทั้งธุรกิจรถยนต์ พลังงาน ยาง และเคมีภัณฑ์ ตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์บรรเทาและแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิเช่น ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการจราจร ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก
ซึ่งทางโครงการฯ ได้เลือกเมืองใหญ่ 6 แห่ง ทั่วโลก ได้แก่ Indore-India, Chengdu-China, Campinas-Brazil, Lisbon-Portugal, Hamburg-Germany และ กรุงเทพมหานคร ทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก WBCSD ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาชิก WBCSD อีก 6 บริษัท ได้แก่ Honda, Nissan, Ford, Shell, Fujitsu และ Bridgestone โดยเริ่มจากถนนสาทรเป็นถนนต้นแบบ ใช้ชื่อ “Sathorn Model” - สาทรนำร่อง จราจรคล่องตัว/ Making Sathorn Flow
โดยโครงการนี้ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น จอดแล้วรถแล้วเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ที่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดย Sathorn Model มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2558 และมีแผนการที่จะขยายผลไปสู่ถนนเส้นอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ในโครงการฯ นี้ Toyota ได้นำประสบการณ์ที่ทำสำเร็จใน Toyota City มาใช้ 4 มาตรการด้วยกัน ได้แก่
1. รถโรงเรียน เป็นการรับ-ส่งนักเรียน ณ จุดจอดรับไปโรงเรียน (Station to Station) ด้วยรถโรงเรียนที่ทันสมัย มีระบบ IT เพื่อดูแลความปลอดภัย โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จำนวน 4 เส้นทางในวันนี้ ได้แก่ The Mall บางแค, Central พระราม 2, Central บางนา และ Lotus พระราม 3 โดยรถโรงเรียน 1 คัน จะสามารถลดปริมาณรถยนต์ที่ผู้ปกครองมารับ-ส่งนักเรียนได้ถึง 12 คัน
2. PARK & RIDE จอดแล้วจร รณรงค์ให้พนักงานที่ใช้รถส่วนตัวเข้ามาทำงานบริเวณถนนสาทร-สีลม จอดรถส่วนตัวไว้ที่จุดจอดหรือห้างสรรพสินค้าชานเมืองแล้วใช้บริการ Shuttle Bus เพื่อเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถลดปริมาณรถยนต์บนถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ได้ 7% หรือประมาณ 10,000 คันต่อวัน
3. การเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน
4. TRAFFIC FLOW MANAGEMENT การจัดการจราจรให้เกิดความคล่องตัว โดยการลดอุปสรรคที่กีดขวางการจราจร และปรับระบบควบคุมจราจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อควบคุมการจราจรบริเวณแยกสาทร-สุรศักดิ์ แยกนรินทร และแยกวิทยุ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
4.1 การปรับสัญญาณไฟจราจรให้สั้นลง ตามปริมาณจราจร และสอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจรของแยกข้างเคียง โดยทดสอบด้วยแบบจำลองการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic Simulation) ก่อนนำไปปฏิบัติจริง
4.2 Kiss & Go การหยุดรถยนต์เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารทันที แนวทางนี้จะทำให้ช่องทางเดินรถมีการไหลต่อเนื่องไม่ติดขัด โครงการได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โรงเรียน และ ผู้ปกครองกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้หยุดรถรับ-ส่ง เพียง 1 เลนจราจร แทนของเดิมที่จอด 3 เลน ทำให้ความเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
4.3 ตีเส้นทึบที่ต้นสะพานตากสินขาออก เพื่อบังคับไม่ให้มีการเปลี่ยนเลน ซึ่งกีดขวางการจราจร และอบรมอาสาจราจรโบกรถลงมาจากตึกต่างๆ ให้สอดคล้องกับสัญญานจราจรในแยกถัดไป
4.4 ติดกล้องวงจรปิด 4 ทิศทาง ที่สี่แยกนรินทร เพื่อให้เห็นสภาพการจราจร โดยจะเชื่อมต่อภาพไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร และป้อมตำรวจจราจร ตามสี่แยกจราจรบนถนนสาทร เพื่อควบคุมสัญญาณไฟจราจร ให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ติดกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจดูสภาพจราจร บนถนน สาทร – พระราม 4
ในโครงการนี้ จะมีการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า และในอีกครั้งในเดือน กันยายน ปีหน้าเช่นกัน ซึ่งต้องรอคอยการประเมินผล ว่าจะช่วยลดภาวะการจราจรติดขัด บนถนนสาทร ได้หรือไม่
ความคิดเห็น