ในปี 2558 จะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ นั่นคือ การเปิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภูมิภาค
น่ายินดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับการส่งเสริมให้อยู่ภายใต้ฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน ตามนโยบายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศสมาชิกที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
เมื่อเปรียบเทียบกันในภาพรวม อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นับว่ามีศักยภาพสูงสุด สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งครึ่งหนึ่งส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในประเภท รถเพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน หรือปิกอัพ และรถประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์
อินโดนีเซีย ผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 2 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐส่งเสริมการผลิตรถยนต์ราคาประหยัดรักษาสิ่งแวดล้อม
มาเลเซีย มีขนาดอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 โดย 90% เป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รวมถึงรถยนต์แห่งชาติที่ทั่วโลกรู้จักดี
ส่วน ฟิลิปปินส์ แม้จะผลิตรถยนต์ปีละไม่ถึง 1 แสนคัน แต่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของอาเซียน ขณะที่ เวียดนาม ได้รับความสนใจลงทุนจากผู้ผลิตจีนหลายรายเพื่อใช้เป็นฐานประกอบรถยนต์พาณิชย์ประเภทต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ
ศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ในทุกประเทศดังกล่าว จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ การเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี การปรับลดและยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกัน การเชื่อมโยง “ห่วงโซ่อุปทาน” หรือเครือข่ายสินค้าและบริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแรงงานมีฝีมือ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความคล่องตัวในการจัดหาวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องจักร และบุคลากร
ยิ่งกว่านั้น จำนวนประชากรรวมในภูมิภาคที่สูงถึงกว่า 600 ล้านคน บวกกับการคาดหมายว่า ภายในปี 2561 ตลาดยานยนต์อาเซียนจะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านคันต่อปี ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก จะดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศไทย และประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์มากมายไม่แพ้ผู้ประกอบการจากการรวมเป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน
ที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อต้นทุนด้านการผลิตและการจัดการของผู้ประกอบการลดลง ราคาจำหน่ายยานยนต์จะอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากว่าเดิม เมื่อการถ่ายทอดโนว์ฮาวเป็นไปอย่างไร้ข้อจำกัด มาตรฐานและเทคโนโลยีการผลิตจะสูงขึ้น และเมื่อปลอดกำแพงภาษี ในตลาดจะมียานยนต์ประเภทต่าง ๆ ให้เลือกหลากหลายตามความต้องการ
ด้วยความตระหนักว่า ผลดีนานัปการของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อันจะเกิดแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ย่อมมาจากความร่วมมือร่วมแรงของประเทศสมาชิก ยิ่งกว่าการแบ่งแยกแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง ผู้จัดงานจึงตั้งใจจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 31 ให้เป็นเวทีแสดงออกถึงความสามัคคี และอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ ภายใต้แนวคิด “ก้าวเคียงกัน ยานยนต์อาเซียน”
ความคิดเห็น