เริ่มแล้ว “สาทรโมเดล” โครงการนำร่อง แก้ปัญหาการจราจรแบบยั่งยืน Share this

เริ่มแล้ว “สาทรโมเดล” โครงการนำร่อง แก้ปัญหาการจราจรแบบยั่งยืน

Pon Piantanongkit
โดย Pon Piantanongkit
โพสต์เมื่อ 13 November 2557

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) แถลงข่าวเปิดโครงการ สาทรโมเดล โครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนบนถนนสาทร

โครงการนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลก ทั้งธุรกิจรถยนต์ พลังงาน ยาง และเคมีภัณฑ์ ตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์บรรเทาและแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิเช่น ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการจราจร ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

ซึ่งทางโครงการฯ ได้เลือกเมืองใหญ่ 6 แห่ง ทั่วโลก ได้แก่ Indore-India, Chengdu-China, Campinas-Brazil, Lisbon-Portugal, Hamburg-Germany และ กรุงเทพมหานคร ทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก WBCSD ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาชิก WBCSD อีก 6 บริษัท ได้แก่ Honda, Nissan, Ford, Shell, Fujitsu และ Bridgestone โดยเริ่มจากถนนสาทรเป็นถนนต้นแบบ ใช้ชื่อ “Sathorn Model” - สาทรนำร่อง จราจรคล่องตัว/ Making Sathorn Flow

โดยโครงการนี้ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น จอดแล้วรถแล้วเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ที่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดย Sathorn Model มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2558 และมีแผนการที่จะขยายผลไปสู่ถนนเส้นอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ในโครงการฯ นี้ Toyota ได้นำประสบการณ์ที่ทำสำเร็จใน Toyota City มาใช้ 4 มาตรการด้วยกัน ได้แก่

1. รถโรงเรียน เป็นการรับ-ส่งนักเรียน ณ จุดจอดรับไปโรงเรียน (Station to Station) ด้วยรถโรงเรียนที่ทันสมัย มีระบบ IT เพื่อดูแลความปลอดภัย โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จำนวน 4 เส้นทางในวันนี้ ได้แก่ The Mall บางแค, Central พระราม 2, Central บางนา และ Lotus พระราม 3 โดยรถโรงเรียน 1 คัน จะสามารถลดปริมาณรถยนต์ที่ผู้ปกครองมารับ-ส่งนักเรียนได้ถึง 12 คัน

2. PARK & RIDE จอดแล้วจร รณรงค์ให้พนักงานที่ใช้รถส่วนตัวเข้ามาทำงานบริเวณถนนสาทร-สีลม จอดรถส่วนตัวไว้ที่จุดจอดหรือห้างสรรพสินค้าชานเมืองแล้วใช้บริการ Shuttle Bus เพื่อเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถลดปริมาณรถยนต์บนถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ได้ 7% หรือประมาณ 10,000 คันต่อวัน

3. การเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน

4. TRAFFIC FLOW MANAGEMENT การจัดการจราจรให้เกิดความคล่องตัว โดยการลดอุปสรรคที่กีดขวางการจราจร และปรับระบบควบคุมจราจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อควบคุมการจราจรบริเวณแยกสาทร-สุรศักดิ์ แยกนรินทร และแยกวิทยุ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

4.1 การปรับสัญญาณไฟจราจรให้สั้นลง ตามปริมาณจราจร และสอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจรของแยกข้างเคียง โดยทดสอบด้วยแบบจำลองการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic Simulation) ก่อนนำไปปฏิบัติจริง

4.2 Kiss & Go การหยุดรถยนต์เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารทันที แนวทางนี้จะทำให้ช่องทางเดินรถมีการไหลต่อเนื่องไม่ติดขัด โครงการได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โรงเรียน และ ผู้ปกครองกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้หยุดรถรับ-ส่ง เพียง 1 เลนจราจร แทนของเดิมที่จอด 3 เลน ทำให้ความเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

4.3 ตีเส้นทึบที่ต้นสะพานตากสินขาออก เพื่อบังคับไม่ให้มีการเปลี่ยนเลน ซึ่งกีดขวางการจราจร และอบรมอาสาจราจรโบกรถลงมาจากตึกต่างๆ ให้สอดคล้องกับสัญญานจราจรในแยกถัดไป

4.4 ติดกล้องวงจรปิด 4 ทิศทาง ที่สี่แยกนรินทร เพื่อให้เห็นสภาพการจราจร โดยจะเชื่อมต่อภาพไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร และป้อมตำรวจจราจร ตามสี่แยกจราจรบนถนนสาทร เพื่อควบคุมสัญญาณไฟจราจร ให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ติดกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจดูสภาพจราจร บนถนน สาทร – พระราม 4

ในโครงการนี้ จะมีการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า และในอีกครั้งในเดือน กันยายน ปีหน้าเช่นกัน ซึ่งต้องรอคอยการประเมินผล ว่าจะช่วยลดภาวะการจราจรติดขัด บนถนนสาทร ได้หรือไม่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ