ผ่านปี 2557 ที่ผ่านมาแบบไม่ค่อยสวยหรูนักสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ภาพรวมของประเทศไทยและธุรกิจยานยนต์น่าจะจบปีแบบไม่ค่อยงดงามนัก
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ก็เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย เรียกได้ว่าหลังผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ก็เริ่มมีการเดินเครื่องอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมจากหลายภาคส่วน
และนี่คือ 7 เหตุการณ์สำคัญที่ออโต้สปินน์เลือกสรรค์มา และเรามั่นใจว่าจะเป็นบทสรุปหรือส่งผลกระทบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปจากนี้อีกนานแสนนาน
ลองมาติดตามกันได้เลย!!!
หนึ่ง การหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์
แม้จะผ่านภาพรวมของความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงต้นปี จนนำไปสู่การก่อรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมาดูแลประเทศในช่วงกลางปี ท่ามกลางความคาดหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์ว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยผลักดันให้กลับมาให้สถานการณ์สดใสอีกครั้ง
แต่ไม่มียาวิเศษหรือเวทย์มนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ เมื่อผ่านมาถึงเดือน 11 แนวโน้มตลาดก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นสักเท่าใด ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเป้าหมายการจำหน่ายลงอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ
การหดตัวของตลาดยังได้ส่งผลกระทบถึงโครงการและแผนงานต่าง ๆ ของค่ายรถหลายรายที่ต้องเลื่อนและชะลอออกไปจากแผนงานเดิมที่กำหนดเอาไว้ ขณะที่บางรายถึงขั้นทบทวนสถานการณ์ทางด้านการลงทุนกันอีกครั้ง
และก็เป็นความหวังลึก ๆ ของผู้ประกอบการว่าปี 2558 อุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาได้อีกครั้ง
สอง เดินหน้าโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง
แม้โครงการอีโคคาร์เฟสสองจะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่การเดินหน้าอนุมัติโครงการทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม 9 จาก 10 รายที่มีการเสนอตัวเข้าโครงการก็เกิดขึ้นในปีนี้
การผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ถูกโอนย้ายไปอยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้การอนุมัติโครงการเป็นไปได้อย่างรวดเร็วคล่องตัว และมีแผนงานที่จะจีบผู้ที่สนใจแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างโฟล์กสวาเกนเป็นรายสุดท้าย
และก่อให้เกิดการเดินหน้าอย่างรวดเร็วของมาสด้าในการชิงตลาด ด้วยการเปิดตัวอีโคคาร์รุ่นแรกในเฟสสองอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แม้จะได้สิทธิพิเศษเทียบเท่ากับอีโคคาร์เฟสแรกเพียงเท่านั้น
ปีหน้าจะเป็นปีแห่งรายละเอียดว่าใครจะตัดสินใจอยู่หรือไปกับโครงการนี้
สาม โครงการขนาดใหญ่ของมาสด้า
หลาย ๆ คนอาจจะจะมาสด้าในปีนี้แค่การเป็นผู้เปิดตัวรถยนต์อีโคคาร์เฟสสองเป็นรายแรกในประเทศไทย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ภายใต้แผนงานของมาสด้านั้น มีรายละเอียดและวัตถุประสงค์ที่ใหญ่โตมโหฬารซ่อนอยู่
การลงทุนมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทของมาสด้า จะพลิกโฉมให้มาสด้า ประเทศไทย กลายเป็นฐานการผลิตหลัก 1 ใน 3 แห่งของโลก และแน่นอนว่าจะต้องมีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคตในปรเะเทศไทย
การตัดสินใจลงทุนของมาสด้า เกิดขึ้นหลังความชัดเจนเรื่องความร่วมมือกับฟอร์ดในด้านโรงงานในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ต้องขอขอบคุณความผันแปรของค่าเงินเยนที่ทำให้เกิดโครงการเหล่านี้ในไทย
ทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่คือฐานผลิตอันดับ 2 ของมาสด้าทั่วโลก
สี่ การชะลอเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ของฮอนด้า
แม้จะประกาศแบบเงียบ ๆ และไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตอะไรในประเทศไทย แต่การชะลอการเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ของฮอนด้า น่าจะเป็นบทสรุปที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในรอบปีที่ผ่านมา
เดิมที่ฮอนด้าเองมีแผนที่จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเตรียมแผนรับมือหากเกิดอุทกภัยขึ้นอีกครั้งเหมือนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฮอนด้าไม่สามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะปรับแผนด้วยการนำรถยนต์ที่จำหน่ายในไทยเกือบทุกรุ่นมาผลิตในประเทศไทยแล้วก็ตาม
คาดว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สามารถกลับมาเดินหน้าได้ตามแผนอีกครั้ง
ห้า การเปิดตัวพร้อมวิกฤตศรัทธาของเอ็มจี
เอ็มจี คือแบรนด์รถยนต์น้องใหม่รายเดียวในประเทศไทยในปีนี้ ที่เข้ามาพร้อมเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แผนการลงทุนมหาศาล และโรงงานผลิตที่ว่ากันว่ามีแผนจะเติบโตขึ้นเป็นฐานการผลิตสำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวาของโลกในอนาคต
แต่บริษัทร่วมทุนระหว่างเอสเอไอซี มอเตอร์และซีพี กลับประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาสำหรับสินค้าจากประเทศจีนอย่างแรง แม้จะพยายามพร่ำบอกว่ารถยนต์ยี่ห้อนี้ยังสืบต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูงจากสหราชอาณาจักรก็ตาม
การเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกด้วยราคาจำหน่ายที่สูงกว่าความคาดหวังของผู้บริโภค แถมมาพร้อมออพชั่นแบบขาด ๆ เกิน ๆ และสมรรถนะที่ไม่โดดเด่น เรียกได้ว่าทำให้เอ็มจีแทบจะไร้ที่ยืนบนท้องถนนในประเทศไทยไปเลยทีเดียว
แต่ยังพอจะมีทางแก้ตัวได้บางสำหรับสินค้าใหม่อีก 2 รุ่นที่จะเปิดในปีหน้า ทำให้ดีล่ะ
หก โครงการผลิตและการศึกษาของบีเอ็มดับเบิลยู
บีเอ็มดับเบิลยูมาพร้อมแผนงานใหญ่ 2 ส่วนที่ประกาศในประเทศไทยปีนี้ เรื่องแรกที่สำคัญน้อยกว่าคือการลงทุนอีก 600 ล้านบาท สำหรับการเปิดไลน์การผลิตเครื่องยนต์ที่คาดว่าจะเริ่มต้นเดินสายการประกอบได้ช่วงปลายปี 2558
อีกเรื่องที่สำคัญกว่าก็คือการร่วมมือกับพันธมิตรมากมายในประเทศไทยทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบการชาร์จไฟความเร็วสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นชั้นนำสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกในปัจจุบัน
และนี่เป็นโครงการการศึกษาอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ทำขึ้นโดยบริษัทเอกชนและบริษัทรถยนต์ที่ประกาศว่าหากมีความพร้อมทางด้านระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทย ก็พร้อมที่จะเดินหน้าทำตลาดสินค้าต่อทันที
น่าจะเป็นตัวจุดประกายที่ดีสำหรับผู้ที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
เจ็ด การเปิดสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต หรือ ซีไอซี คือสนามแข่งรถยนต์มาตรฐานระดับสูงสุดของโลก ที่ไปตั้งอยู่ที่จังหวัดที่เคยติดอันดับยากจนที่สุดของประเทศไทยอย่างบุรีรัมย์ ภายใต้การผลักดันของเนวิน ชิดชอบ
นอกจากรายชื่อรายการแข่งรถยนต์ระดับโลกที่เตรียมจะเข้ามาใช้บริการสนามแห่งนี้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานของมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยให้สูงขึ้นแล้ว สนามแห่งนี้จะช่วยหมุนระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องไปอย่างน่าสนใจ
แม้บิ๊กเนจะประกาศว่ายังไม่มองถึงการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป และคงไม่โง่พอที่จะเดินหน้าโครงการที่ใหญ่โตขนาดนั้นด้วยตัวของตัวเองคนเดียว
แต่การเตรียมสนามให้พร้อมและออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน ก็แสดงให้เห็นถึงความบ้าระห่ำได้เป็นอย่างดี
ความคิดเห็น