เมื่อวันที่ 2 ธค. ที่ผ่านมา บริษัท อินเดียน-วิคตอรี่ มอเตอร์ไซเคิล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ Indian และ Victory แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จัดกิจกรรม “Indian-Victory Exclusive Press Trip 2014” เพื่อร่วมเปิดประสบการณ์วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของการขับขี่รถทั้ง 2 แบรนด์ บนเส้นทางกรุงเทพฯ-บางแสน-กรุงเทพฯ ซึ่งทางเราได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ด้วย
ในกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีรถทดสอบจำนวนทั้งสิ้น 5 คัน Victory 3 คัน ประกอบด้วยรุ่น Judge, Cross Country และ Hammer S และ Indian อีก 2 คัน ประกอบด้วยรุ่น Chief Classic และ Chieftain พร้อมทั้งจัดเตรียมรถโมบายเซอร์วิส รถนำขบวน และปิดท้าย ที่คอยดูแลในระหว่างทริปขับขี่ท่องเที่ยว ซึ่งได้รับเกียรติจากกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ทั้งท่าน คุณณัฐพล ไตรณัฐี ขี่รถ Victory Arlen Ness Vision เป็นผู้นำขบวนในช่วงแรก และคุณณัฐบูร ไตรณัฐี ขี่รถ Indian Chief Vintage เป็นผู้ขี่ปิดท้ายให้ตลอดทั้งทริปนี้
สำหรับผู้เขียนได้มีโอกาสขี่ทดสอบในช่วงขาไป กทม.-บางแสน โดยได้ขี่รถ 2 รุ่น คือ Victory Hammer S และ Indian Chief Classic
เส้นทางในการเดินทาง เริ่มเดินทางออกจากโชว์รูม Indian Victory ที่ซอยพัฒนาการ 76 มุ่งหน้าออกไปยังเส้นมอเตอร์เวย์ ก่อนตัดกลับเข้ามายังเส้นบางนาตราด เมื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี
ในช่วงแรกนี้ทางเราได้ลองขี่ Victory Hammer S รถในสไตล์ American Dragster ที่มากับล้อหลังขนาดใหญ่สวมหน้ายางไซส์ 250 mm. จากโรงงาน ตัวรถดูปราดเปรียวแลมีน้ำหนักตัวที่ไม่สูงมากนัก 305 กก. (Dry Weight) ทางด้านหลังมีฝาครอบเบาะท้าย ซึ่งสามารถถอดออกได้หากมีผู้ซ้อนท้าย ในด้านของระบบเบรกใช้เบรกแบบจานดิสก์คู่ ขนาด 300 มม. คาลิปเปอร์ 4 สูบ และจานดิสก์หลังเดี่ยวขนาด 250 มม. คาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบ
เครื่องยนต์เป็นแบบ V-Twin 50 องศา ขนาด 106 ลบ.นิ้ว (1,731cc) ให้แรงบิด 104 ปอนด์-ฟุต ให้กำลังการขับเคลื่อน อย่างดีเยี่ยม ตอบสนองรวดเร็วทันใจ แรงบิดมีให้ใช้ตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำ มาแบบตามข้อมือสั่ง ซึ่งจะต้องระมัดระวังบางจังหวะเปิดคันเร่งพรวดเน้นความมันส์ เล่นเอาก้นกระดกลอยจากเบาะ ถอยไปทางด้านหลังได้ นอกจากกำลังที่มีให้ใช้ตั้งแต่รอบต่ำแล้ว ยังสามารถลากเข้ารอบสูงเพื่อเรียกพละกำลังจากแรงม้า เพิ่มได้อีก แต่ช่วงรอบเครื่องยนต์สูงอาจจะไม่เร้าใจ เท่ากับพวกตระกูลรถสปอร์ตทั้งหลายที่ม้าเยอะ ระดับ 100 ตัวขึ้น แต่อารมณ์เครื่อง V-Twin แบบ 4 วาล์ว ตัวนี้ให้แรงบิดที่สัมผัสได้มาในสไตล์ Flat Torque ลากยาวสม่ำเสมอ และสิ่งที่ผู้เขียนชอบมาก คือ อารมณ์การ Shift Down Gear แบบดิบๆ เฉกเช่นรถสปอร์ตแท้ๆ แรงดึงจาก Engine Brake ที่มีสูง อาจทำให้การเบรกชะลอความเร็ว ต้องควบคุมรถให้มั่นคง แต่มันช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบฟีลลิ่งการขับขี่แบบนี้รู้สึกสนุก ในแบบ Fun to Ride การลดเกียร์ลงก่อนเทโค้ง ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มาก แต่สำหรับรถคันนี้ที่ล้อหลังขนาดใหญ่โต นั้น อาจทำให้ขาดความคล่องแคล่วในการเข้าโค้งไปเสียหน่อย รวมถึงการเข้าโค้งกว้าง จะต้องเทเอนตัวลงมามาก เพื่อดึงรถลงเข้าโค้งให้มากกว่าปกติ
สรุปแล้ว Victory Hammer S ขี่สนุก ผู้ชื่นชอบอารมณ์สปอร์ต คงหลงรักได้ไม่ยาก แต่ล้อหลังที่กว้างมาก อาจดูหนืดและขาดความคล่องแคล่วไปเสียหน่อย แต่ก็ถือว่าคุ้มเมื่อแลกกับความหล่อ จากล้อหลังที่ใหญ่โตไม่เหมือนใคร
เมื่อเข้าสู่ถนนบางนา-ตราด ผู้เขียนได้มีโอกาสสลับมาขี่ Indian Chief Classic รถครุยเซอร์คลาสสิคระดับตำนาน ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ากับจิตวิญญาณอันเป็นตำนานของ Indian บังโคลนล้อหน้าได้ติดตั้งโลโก้หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงอันเป็นเอกลักษณ์ แม้รูปลักษณ์จะคงความคลาสสิคสมชื่อ แต่มันมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขนาดรถสปอร์ต หรือรถยุโรปในหลายรุ่นยังไม่มีให้ ได้แก่ ระบบ Keyless เพียงแค่พก Key Fob ติดตัวไปก็จะสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ ด้วยการกดปุ่ม Push Start นอกจากนั้น ยังมีระบบ Cruise Control ช่วยเพิ่มความสบาย และสามารถควบคุมความเร็วในการเดินทางได้อย่างแม่นยำอีกด้วย สำหรับ Indian Chief Classic คันนี้มีน้ำหนักที่ 370 กก. (wet weight)
ด้วยเครื่องยนต์ Thunder Stroke 111 V-Twin ขนาด 111 ลบ.นิ้ว (1,811cc) ให้แรงบิดสูงสุด แรงบิดสูงสุดที่ 102.4 ปอนด์-ฟุต ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ 2,600rpm ส่งกำลังผ่านเกียร์ 6 Speed ด้วยพูลเล่ย์ สายพาน การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้านั้น ให้อารมณ์ที่แตกต่าง จาก Victory เป็นอย่างมาก เพราะการตอบสนองของตัวรถดูจะมีความสุขุมมากกว่า เดินคันเร่งได้อย่างสมูท ไม่กระชาก สามารถขับขี่ได้อย่างสบาย เครื่องไม่สั่นขึ้นมาให้รำคาญมือเวลาจับแฮนด์ หากเปรียบเทียบพละกำลังของ ทั้ง 2 คัน จะพบว่า Torque นั้นหนักมาหนักตั้งแต่รอบต่ำทั้งคู่ แต่ Indian จะสไตล์มาก่อน หมดไวกว่าหน่อย ขณะที่ Victory ดูจะมีช่วงรอบเครื่องให้ลากเล่นได้มากกว่าอีกหน่อย
นอกจากนั้นในด้านของระบบเบรก ด้วยความที่มีการติดตั้งระบบ ABS จึงทำให้ การกะระยะเบรกนั้น ต้องปรับเสียใหม่ เพราะในช่วงแรกที่ขับ Victory การตอบสนองของเบรกทำได้อย่างดีเยี่ยมแม่นยำ หยุดได้ดั่งใจสั่ง แต่กับ Indian คันนี้ อาจจะต้องเผื่อระยะ และการลงแป้นเบรกที่น้ำหนักมากลงไป และการเซ็ตเบรกไม่จิกมือ เน้นตอบสนองแบบนิ่มนวล เฉกเช่นเดียวกับจังหวะเปิดคันเร่งที่มีช่วงหน่วงมือมากกว่า ในส่วนของแฮนด์บาร์ ที่กางออกอาจทำให้ดูสบายเมื่อขี่เดินทางไกล องศาการกางแขนไม่ต้องงอมาก แต่หากขับขี่ในตัวเมือง หรือการหักเลี้ยวนั้น อาจต้องใช้พละกำลังในการเกร็งข้อมือมากเสียเหน่อย ในการดึงเพื่อคุมด้านหัวรถที่ดูค่อนข้างหนัก เมื่อเทียบกับ Hammer S ที่ได้ขี่ไปก่อนหน้านี้
โดยรวมแล้วมันทำให้ภาพรวมของ Indian Chief Classic คันนี้ ดูสุขุม ผู้ใหญ่คงจะชื่นชอบ ในความนิ่มนวลสบาย และสมูท ของเครื่องยนต์ และไม่เกิดการเมื่อยล้า เมื่อขับขี่เป็นระยะทางไกล
สรุปแล้ว รถทั้ง 2 แบรนด์ Victory และ Indian ต่างก็เป็นรถ American Cruiser ที่มีความแตกต่างในด้านของสไตล์การขับขี่ ความเป็นมาของรถในแบบยุคสมัยใหม่ กับรถที่มีตำนาน ย่อมจับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ผู้ที่ชื่นชอบอารมณ์การขับแบบสปอร์ต อย่างเช่นวัยรุ่นผู้ขับขี่รถในยุคใหม่ น่าจะชื่นชอบรถ Victory ได้ไม่ยาก ในขณะที่ Indian นั้นจะให้ความสมูท และความนุ่มนวลในด้านการขับขี่ที่มากกว่า ซึ่งจะช่วยให้การขับขี่ระยะทางไกลทำได้อย่างผ่อนคลายมากกว่า
แต่เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือ ความเป็นพรีเมี่ยม หรือ คุณค่าที่ผู้เป็นเจ้าของรถทั้ง 2 แบรนด์นี้จะได้กลับคืนมา ซึ่งมันให้ตัวตนความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากรถในแบรนด์ อื่นๆ อย่างแน่นอน และไม่ต้องกลัวว่าขี่ไปไหน แล้วจะไม่มีใครรู้จัก เพราะนักเลงรถมอไซค์ ทั้งหลายต่างจะมองคุณด้วยสายตาที่แตกต่างไปอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยที่สุด นั่นก็คือความภาคภูมิใจของตัวคุณเอง ที่ได้ขับขี่รถระดับตำนาน หรือรถที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้
Victory Hammer S ราคา 1.285 ล้านบาท และ Indian Chief Classic ราคา 1.475 ล้านบาท
ขอขอบคุณ บริษัท อินเดียน-วิคตอรี่ มอเตอร์ไซเคิล สำหรับทริปทดสอบรถจักรยานยนต์ Indian-Victory ในครั้งนี้
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ความคิดเห็น