กลายเป็นประเด็นใหญ่โตจากการที่บรรดาแท็กซี่มิเตอร์เจ้าปัญหาออกมาเรียกร้องให้กรมขนส่งทางบกบังคับให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ยกเลิกการให้บริการ ซึ่งในเบื้องต้น กรมขนส่งได้ออกมารับลูกด้วยการอ้างกฎหมายมากมาย
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้เรียกผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเข้าประชุม ประกอบไปด้วย แกร็บแท็กซี่ (GRAB Taxi) อีซี่แท็กซี่ (Easy Taxi) และอูเบอร์ ประเทศไทย (Uber Thailand) และได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการยกเลิกการให้บริการการเรียกแท็กซี่ที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด
ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากอูเบอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากคำสั่งให้หยุดให้บริการแท็กซี่ป้ายดำ หรือ อูเบอร์เอ็กซ์ (UberX) ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่แท็กซี่ป้ายเขียว หรือ อูเบอร์แบล็ก (Uber Black) ก็ถูกจำกัดการให้บริการให้อยู่เฉพาะในพื้นที่สนามบิน โรงแรม และเพื่อการทัศนาจรหรือนำเที่ยว เท่านั้น
ล่าสุด อูเบอร์ได้ส่งแถลงการณ์อย่างเป็นทางการออกมาแล้ว โดยได้ประกาศยอมรับการตัดสินใจของกรมการขนส่งทางบก โดยระบุว่ามีเจตนาดีในการให้บริการและเป็นการพัฒนา-ยกระดับมาตรฐานของการให้บริการแท็กซี่สาธารณะทั่วโลก
ลองอ่านรายละเอียดการแถลงอย่างเป็นทางการของอูเบอร์ด้านล่างนี้ ที่แน่ ๆ กรมขนส่งคงเจ็บจี๊ด ๆ น่าดูชม...
"ด้วยการให้บริการกว่า 250 เมือง จาก 50 ประเทศทั่วโลก อูเบอร์ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการเดินทางในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่ากระแสการตอบรับบริการของอูเบอร์บนท้องถนนทั้งใน กรุงเทพมหานครและภูเก็ตเป็นไปอย่างดีมาก ผู้ใช้บริการคนไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใช้บริการผ่านระบบของอูเบอร์ที่ใครหลาย ๆ คนชื่นชอบ
อูเบอร์ คือ บริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตแอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อผู้โดยสารกับบริการเดินทางบนสมาร์ทโฟน ซึ่งทางอูเบอร์มีความตั้งใจและมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ด้วยการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย และช่วยลดสภาพการจราจรหนาแน่นบนท้องถนน ทำให้อูเบอร์เป็นหนึ่งในทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างงานในประเทศ การให้บริการในลักษณะนี้จะยกระดับระบบการคมนาคมและนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิตอลตามแนวนโยบายที่รัฐต้องการขับเคลื่อน
เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้านความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของโลกดิจิตอลถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดัน แนวคิด "การแบ่งปันทรัพยากรเศรษฐกิจ หรือ Sharing Economy" โดยเชื่อว่าระบบสังคมที่ดีย่อมแบ่งปันและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สุดท้ายแล้วระบบการคมนาคมในเมืองจะก้าวไปสู่การพึ่งพาทางสังคม ช่วยให้ทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการอยู่ในระบบได้อย่างมีความสุข ปรากฏการณ์นี้ได้พัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ในยุคพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล และ sharing economy นี้ อูเบอร์ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมมาตรการความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนการบริหารจัดการประสิทธิภาพของระบบการคมนาคม ด้วยการเข้าหารือและร่วมสร้างระเบียบอย่างมีตรรกะยึดหลักความต้องการและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคมา
ในปัจจุบัน 14 เขตการปกครองได้ยอมรับและนำโครงสร้างการขับขี่แบบแบ่งปัน หรือที่เราเรียกว่า UberX มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ในท้ายที่สุดระบบจะพัฒนาจนนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบของโครงสร้างสำหรับการขับขี่แบบแบ่งปัน การขับขี่แบบแบ่งปันเป็นแนวคิดและระบบที่ใหม่มาก ซึ่งหากพูดเรื่องนี้เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว คงไม่มีใครเข้าใจเพราะยังไม่มีทางเลือกของการบริการแบบนี้เลย
อูเบอร์ขอยืนยันในความตั้งใจอันดี และเคารพในการทำหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ในการรักษากฎเกณฑ์ของระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย อูเบอร์พร้อมที่จะร่วมมือกันกับทางกรมฯ เพื่อให้การสนับสนุนและนำพาศักยภาพการคมนาคมที่ทันสมัยมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือและหารือถึงกระบวนการด้านกฎระเบียบที่เหมาะสมต่อไป"
ก็หวังว่ากรมการชนส่งทางบกจะมีมาตรการเร่งด่วนออกมาจัดการแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร แท็กซี่แก๊สหมด แท็กซี่ขับรถอันตราย หรือแท็กซี่อิงการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการแท็กซี่พบเจอกันอยู่ทุกวันละกัน!!!
ความคิดเห็น