ฟอร์ดได้เข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าอิเล็คทรอนิคส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronics Show หรือ CES 2015) พร้อมนำเสนอนวัตกรรมยานยนต์อันล้ำสมัย เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางของผู้คนทั่วโลก
ภายในงาน ฟอร์ดได้ประกาศแผนการสัญจรอัจฉริยะ (Ford Smart Mobility) ด้วยการนำนวัตกรรมล้ำสมัยทั้งการเชื่อมต่อการสื่อสาร, การสัญจร และ นวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ นอกจากนี้ ฟอร์ดยังเผยถึงโครงการทดลองด้านการสัญจร 25 โครงการทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค
โครงการทดลองด้านการสัญจร 25 โครงการทั่วโลก
ก้าวแรกของแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดในปัจจุบัน ประกอบด้วย 25 โครงการทดลองทั่วโลก แบ่งเป็น 8 โครงการในทวีปอเมริกาเหนือ 9 โครงการในทวีปยุโรปและแอฟริกา 7 โครงการในทวีปเอเชีย และ 1 โครงการในทวีปอเมริกาใต้ โดยมี 14 โครงการที่ฟอร์ดเป็นผู้ริเริ่มการวิจัย ส่วนอีก 11 โครงการเป็นแนวคิดที่ได้รับการนำเสนอเข้ามาภายใต้กิจกรรม Innovate Mobility Challenge Series ที่ฟอร์ดเป็นผู้สนับสนุน
โครงการทดลอง 25 โครงการ มุ่งเน้นการจัดการกับ 4 ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบด้วย จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของชนชั้นกลาง ปัญหาคุณภาพอากาศและสาธารณะสุข และการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการจัดลำดับความสำคัญของผู้บริโภค ซึ่งโครงการเหล่านี้นับเป็นการท้าทายวิธีการเดินทางของผู้คนในปัจจุบัน และมุ่งจำกัดการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง
ภายใต้กิจกรรม Innovate Mobility Challenge Series ประกอบด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีค้นหาพื้นที่จอดรถในเมือง วิธีที่การค้นหาเส้นทางสัญจรที่เร็วกว่าท่ามกลางการจราจรแออัด และการใช้ระบบนำทางรวมถึงเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ในพื้นที่ห่างไกล
เทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสาร ‘ซิงค์ 3’
ฟอร์ดยังได้เปิดตัวซิงค์ 3 ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่อการสื่อสารและความบันเทิงที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าเดิม
โดย ซิงค์ 3 ใช้เทคโนโลยีในการจดจำการโต้ตอบด้วยเสียงที่ทันสมัยกว่า ด้วยหน้าจอแบบสัมผัสเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนพร้อมกราฟฟิคที่อ่านง่าย พร้อมเชื่อมต่อกับมือถือได้อย่างง่ายดาย
ซิงค์ 3 เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีซิงค์ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ซิงค์ 3 จะเริ่มใช้กับรถฟอร์ดรุ่นใหม่ภายในปีนี้
รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติของฟอร์ด
ฟอร์ดยังได้จัดแสดงรถยนต์ขับขี่กึ่งอัติโนมัติที่บริษัทนำเสนออยู่แล้วในปัจจุบัน พร้อมเผยถึงรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในอนาคต
ทั้งนี้ รถยนต์ขับขี่กึ่งอัติโนมัติของฟอร์ดที่วางจำหน่ายในปัจจุบันได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย อาทิ ระบบรักษาช่องทางขับขี่ (lane-keeping assist) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้า (adaptive cruise control) ระบบป้องกันการชนพร้อมสัญญาณตรวจจับคนเดินถนน (Pre-Collision Assist with Pedestrian Detection) ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (active park assist) และในเร็วๆ นี้ จะมีการติดตั้งระบบช่วยการขับขี่ในสภาพการจราจรแออัด (Traffic Jam Assist) เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบัน รถ Ford Fusion Hybrid เป็นรถที่ขับขี่ได้เองแบบอัตโนมัติกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบบนท้องถนน โดยรถคันนี้ใช้เทคโนโลยีการขับขี่กึ่งอัตโนมัติแบบเดียวกันกับรถฟอร์ดรุ่นที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ LiDAR 4 แห่ง เพื่อใช้แสดงภาพสิ่งแวดล้อมรอบข้างแบบ 3 มิติเรียลไทม์
ทั้งนี้ รถสามารถตรวจจับวัตถุรอบๆ ตัวรถโดยใช้เซ็นเซอร์ LiDAR และใช้ระบบการคำนวณขั้นสูงเพื่อคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนไหวของรถคันอื่นๆ และคนเดินถนน เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย
ความคิดเห็น