เมื่อต้นปีวันที่ 2 มค. ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยกับ 5 สัญญาณ ที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นคนขับรถที่ย่ำแย่ กันไปแล้ว ในวันนี้ เรายังมีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทย ที่มักพบเป็นประจำ ซึ่งเป็นนิสัยการขับขี่ที่เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้สูง เราจึงอยากให้ผู้ขับขี่บนท้องถนนทุกท่าน (ใช้คำว่าขับขี่ เพราะรวมทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์) ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแก้ไข กับ 5 พฤติกรรมดังนี้
1. เมา ง่วง ไม่ขับขี่
การดื่มแอลกอฮอล์ นั้นส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการมึนเมา และ มีสติลดลง นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้กฎหมาย ได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ถึงโทษของการเมาและขับ รวมไปถึงห้ามผู้โดยสารดื่มแอลกอฮอล์ในรถด้วย นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ยังมักพบว่า คนไทยยังติดกับการใช้ชีวิตสังสรรค์ และ การเดินทางโดยการขับขี่รถส่วน เราจึงอยากจะขอให้ทุกท่านที่ต้องการสังสรรค์ เลือกใช้รถสาธารณะ หรือหาเพื่อนที่ไม่ดื่มเป็นผู้ขับขี่ให้ เพื่อความปลอดภัยทั้งลดความเสี่ยงต่อการถูกจับเป่าแอลกอฮอล์ และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย รวมไปถึงผู้ที่มีอาการง่วง แล้วขับก็เช่นเดียวกัน ควรที่จะจอดหาที่พัก หรือหาเพื่อนสลับกันช่วยขับ
2. ไม่คุย หรือเล่นโทรศัพท์ ขณะขับขี่
แน่นอนว่า การเล่น หรือคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นแต่การคุยโดยใช้ Small Talk หรือ Bluetooth ซึ่งในความเป็นจริงแม้คุณจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ แต่สมองของคุณก็ยังต้องถูกแบ่งไปใช้กับการพูดคุย ซึ่งนั่นก็จะทำให้สมาธิการในขับขี่ลดลงอยู่ดี ดังนั้นขณะขับรถควรใช้โทรศัพท์เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ
นอกจากนั้น พฤติกรรมอีกอย่าง ที่มักพบเห็นได้บ่อย ก็คือ ขี่มอเตอร์ไซค์ไป พร้อมกับคุยโทรศัพท์ หรือแย่กว่านั้นคือแชทไปขณะที่ขี่รถอยู่ โดยการใช้มือซ้ายถือโทรศัพท์เอาไว้ และขี่รถด้วยมือขวาเพียงข้างเดียว พฤติกรรมนี้ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเพื่อนร่วมถนน เพราะนอกจากจะไม่มีสมาธิในการขี่รถแล้ว ศักยภาพในการควบคุมตัวรถ ก็แย่ลงไปอีกเท่าหนึ่ง สังเกตุได้จาก ผู้มีพฤติกรรมเช่นนี้ มักขับกินเลน และไม่ดูผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น ไม่ให้สัญญาณไฟในการขับขี่ ดังนั้นหากจำเป็นต้องคุยโทรศัพท์ขณะที่ขี่มอเตอร์ไซค์ ควรจอดพูดคุยให้เรียบร้อยเสียก่อน หรือ อาจใช้ Bluetooth แบบที่สามารถติดตั้งบนหมวกกันน๊อคได้ เป็นต้น
3. ไม่ขับขี่ย้อนศร ไม่ฝ่าไฟแดง
พฤติกรรมในข้อนี้ มักพบกับผู้ขี่รถ 2 ล้อ มากกว่า 90% การขี่ย้อนศร หลายคนอาจไม่ต้องการอ้อมไกลจึงเลือกที่จะขี่ย้อนศรเพื่อประหยัดเวลาและระยะทาง แต่อย่าลืมว่ามันมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกับผู้ที่ขับขี่มาในทางที่ถูกต้อง
ขณะที่การขับขี่ฝ่าไฟแดง ผู้ขับขี่อาจไม่อยากรอไฟแดงเป็นเวลานาน จึงเลือกที่จะฝ่าข้ามไป ซึ่งหากฝ่าในจังหวะที่รถโล่งไม่มีรถมาก็โชคดีไป แต่ถ้าเป็นรถ Bigbike ที่ขี่มาด้วยความเร็ว หรือรถยนต์ที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงล่ะ? จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ รวมไปถึงพวกที่ชอบชิงฝ่า ก่อนที่รถฝั่งตรงข้ามจะไฟเขียวตรงนี้ การกระทำที่ไร้มารยาท เพราะผู้ที่มาในทางหลักถูกต้องกลับต้องเบรกรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนกฎจราจรข้ามผ่านไปก่อน
ผู้เขียนเข้าใจในฐานะ ที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งหลายคนมักต้องการความเร็วทำเวลา แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า เร็วประหยัดเวลา เป็นสิ่งมีค่า แต่สิ่งที่มีค่ากว่าคือ ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้นการขับขี่ให้ถูกกฎจราจร น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิตของเราและผู้อื่นมากกว่า
4. ไม่ขับขี่ด้วยความประมาท และไม่ใช้ความเร็วสูง ในเส้นทางที่ไม่เคยชิน
การขับขี่ด้วยความประมาท ไม่ใช่เพียงแค่การขับขี่ด้วยความเร็วสูง เพียงอย่างเดียว เพราะมันหมายถึงการขับขี่โดยไม่ดูเส้นทาง หรือผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่นให้ดีเสียก่อน ผู้เขียนมักพบบ่อยกับ รถจักรยานยนต์ ที่ต้องการจะเปลี่ยนตัดเลนขณะที่รถติด เกือบ 50% มักจะไม่มองผู้ที่แล่นตรงมาในช่องหลัก และผู้เขียนเองเกือบจะเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง เพราะความมักง่ายของผู้ที่ขี่ตัดเลน และไม่มองผู้ที่แล่นรถตรงมาในทางหลักเสียก่อน
ด้านการขับขี่รถด้วยความเร็วสูงนั้น เราเข้าใจถึงความเป็นจริงว่า หลายคนก็คงต้องมีใช้ความเร็วกันเกินกฏหมายกำหนดบ้าง เพราะขีดความสามารถของรถมันไปได้มากกว่านี้ หรือในช่วงที่ถนนโล่ง และปลอดภัย ก็ต้องมีลองกันบ้าง ซึ่งจุดนี้ไม่ถือเป็นปัญหา หากคุณไม่ได้แช่ความเร็วสูง เฉียด Top Speed ตลอดเวลา หรือ การขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ก็ไม่ควรใช้ความเร็วสูง เพราะอุบัติเหตุหลายครั้ง ที่เรียกกันว่าแหกโค้งนั้น มักเกิดเพราะผู้ขับขี่ไม่ชินเส้นทาง และโดนโค้งหลอกสายตาจึงทำให้เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ดังนั้นในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ควรขับขี่ด้วยความเร็วที่เหมาะสม และชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้ง อย่ามั่นใจในศักยภาพของรถ หรือตัวเองจนเกินไป
5. เปิดไฟเลี้ยว ขณะเปลี่ยนเลน หรือต้องการจะเลี้ยว และให้สัญญาณไฟฉุกเฉินเมื่อต้องการหยุดรถ ไม่เปิดไฟฉุกเฉินขณะข้าม 4 แยก
การขับขี่รถ โดยไม่เปิดสัญญาณไฟนั้น หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้โดยง่าย หากคุณต้องการจะออก เพื่อเปลี่ยนเลน และไม่เปิดไฟเลี้ยวรถที่แล่นมาอาจจะมองไม่เห็น และไม่ทราบว่าคุณต้องการจะเปลี่ยนเลน ย่อมเสี่ยงต่อการชนโดยง่าย หรือการที่จะเลี้ยวซ้าย-ขวา แล้วไม่เปิดสัญญาณไฟเช่นกัน ผู้ที่ขับตามหลังก็เข้าใจว่าคุณจะขับตรงไป และไม่ได้ชะลอรถ ก็อาจชนเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ การหยุดรถฉุกเฉินบนทางหลวง หรือการจะจอดรถนิ่งบนถนนนั้น ควรเปิดสัญญาณไฟ เพื่อให้ผู้ที่ขับขี่มาทางด้านหลังรับทราบ จะได้ชะลอ พร้อมที่จะเปลี่ยนเลนไปช่องทางอื่น
สุดท้าย ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินขณะข้าม 4 แยก เพราะ จะทำให้ผู้ที่อยู่ทางฝั่งซ้าย หรือขวา ของคุณเข้าใจผิดว่าคุณจะเลี้ยวไปในทิศทางนั้นๆ จนก่อให้เกิดการชนได้ ดังนั้นการข้าม 4 แยก ควรชะลอรถมองซ้าย-ขวา ให้ปลอดภัยก่อนที่จะข้ามผ่านแยก
ความคิดเห็น