วันนี้ เราได้นำรถยนต์รุ่นท๊อปตัวแรงในกลุ่มบี เซกเมนต์อย่าง มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ-ดี และฟอร์ด เฟียสต้า อีโคบูสต์ มาท้าชนกันอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนที่จะเปิดเผยถึงผลการทดสอบ มาลองดูรายละเอียดของทั้งคู่แบบทีละด้าน ทีละส่วนกันดีกว่า
ฟอร์ดและมาสด้ากลายเป็นสองค่ายรถที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดระบบขับเคลื่อนที่ติดหูลูกค้าในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้ง “อีโคบูสต์” ที่วางอยู่ในฟอร์ด เฟียสต้าและ “สกายแอคทีฟ” ที่เป็นหัวใจหลักของมาสด้า 2
เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนจากค่ายรถอเมริกันและญี่ปุ่นอาจแตกต่างกันในด้านแนวทางและหลักการพัฒนา แต่เป้าหมายมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเพิ่มสมรรถนะการขับขี่และความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
นอกจากขุมพลังแล้ว รถซับคอมแพกต์ทั้งสองคันยังมีอ็อปชั่นอำนวยความสะดวกที่ดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้มากพอสมควร เรามาชมสเปกกันว่ารุ่นใดจะมีเด่นมีด้อยมากน้อยเพียงใด
การออกแบบและอุปกรณ์
ฟอร์ด เฟียสต้า
เปิดตัวออกมานานหลายปีแล้ว แต่หลังจากการปรับโฉมครั้งใหญ่ที่มาพร้อมกระจังหน้าบิ๊กเบิ้ม ทำให้ฟอร์ด เฟียสต้าดูสปอร์ตและน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าผู้ชายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเสริมเส้นสายเพิ่มมัดกล้ามให้ตัวรถดูมีความบึกบึน โดยเฉพาะแนวเส้นบนฝากระโปรงหน้า
ส่วนด้านข้างก็มีการเปลี่ยนล้ออัลลอยเป็นลายใหม่ พร้อมยางคอนติเนนตัลไซส์ 195/50 R16 ส่วนบั้นท้ายมีการเปลี่ยนไฟท้ายและสปอยเลอร์แบบใหม่ให้ดูแตกต่างจากเดิมอีกนิด สีฟ้า Celestial Blue ยังสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ด้วย ดีไซน์ใหม่ไม่เพียงดูเตะตาขึ้นเท่านั้นแต่ยังลดสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานลงราว 3%
ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยหนังสีทูโทนสำหรับรุ่น 4 ประตู และภายในสีดำล้วน เบาะหนังกึ่งผ้าในรุ่น 5 ประตู เดินเส้นสายสีเงินเมทัลลิกสลับกับวัสดุสีดำมันเงาแบบเปียโนแบล็ก เช่นเดียวกับมือจับประตู มาตรวัดและแสงสีจากสวิทซ์ต่างๆเปลี่ยนจากสีแดงมาเป็นฟ้าและเพิ่มมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองที่มีอีโคโหมด รวมถึงหน้าจอแสดงผลข้อมูลขนาด 3.5 นิ้วพร้อมฟังชั่นแสดงภาพกราฟฟิกจากเซ็นเซอร์ถอยหลัง
อ็อปชั่นภายในนั้นมีมาให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Keyless ปุ่มสตาร์ทซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในโฟกัส อีกหนึ่งจุดเด่นที่ใช้ชูเป็นจุดขายของ Ford มาโดยตลอด ก็คือ เทคโนโลยีซิงค์หรือ Sync ซึ่งได้รับการพัฒนาร่วมกับไมโครซอฟต์ ช่วยให้เชื่อมต่อด้วยเสียงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ตลอดจนการใช้งานฟีเจอร์อ่านข้อความและการฟังเพลงผ่านลำโพง 6 ตัวที่สะดวกง่ายดายกว่าเดิม
มาสด้า 2
ดีไซน์ของมาสด้า 2 ทั้งภายนอกและภายในการันตีคุณภาพด้วยรางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากญี่ปุ่นและรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปีของแดนปลาดิบ ทางมาสด้าเคยประกาศไว้ว่าพวกเขาใช้ “ดีไซน์” นำหน้าระบบ “วิศวกรรม” นั่นหมายถึงบรรดาวิศวกรทั้งหลายจะต้องรับฟังทีมดีไซเนอร์มากขึ้น จากเดิมที่วิศวกรจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนารถเป็นส่วนใหญ่
เมื่อบวกกับเอกลักษณ์ดีไซน์แบบโคโดะหรือ KODO ผลลัพธ์ที่ได้คือความหล่อเหลาที่เน้นความสปอร์ตและปราดเปรียว แฝงมัดกล้ามดุดันตามคอนเซ็พท์ที่ทางมาสด้าคุยโวว่าถอดแบบมาจาก “เสือชีตาร์” ที่กำลังกระโจนตะครุบเหยื่อ ดีไซน์ภายนอกยังได้รับการออกแบบให้เป็นไปตามหลักแอโรไดนามิก ทั้งในส่วนการออกแบบการไล่อากาศด้านบนของตัวถังรถ (Upper Body) และด้านใต้ตัวถังรถ (Under Body)
การออกแบบและตกแต่งภายในห้องโดยสารเน้นความเรียบหรูสไตล์รถยุโรป ตกแต่งด้วยโทนเข้มสีดำ เบาะหนังเดินด้ายสีแดงตะเข็บคู่ ส่วนแผงคอนโซลหน้า คอนโซลกลางและแผงประตูแต่งด้วยสีเงินวาวและสีดำเงาสลับลวดลายคาร์บอนเคฟลาร์
บนคอนโซลมีจอทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วรองรับระบบสาระและความบันเทิงได้ตลอดเวลา ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากในรถที่ง่ายและรวดเร็ว คอนโซลกลางทีปุ่มหมุนควบคุม MZD CONNECT เพียงหมุนหาคำสั่งที่ปรากฏขึ้นบนจอ Center Display ใช้ได้ทั้งขณะรถวิ่งหรือรถจอดนิ่ง ให้ผู้ขับใช้สมาธิกับการขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น
เครื่องยนต์
ฟอร์ด เฟียสต้า
ถือเป็นขุมพลังเล็กพริกขี้หนูอย่างแท้จริง สำหรับเครื่องยนต์อีโคบูสต์ (EcoBoost) เทอร์โบที่วางอยู่ใต้ฝากระโปรงของเฟียสต้าใหม่ แม้จะมีขนาดแค่บล็อก 3 สูบ ความจุเพียง 1.0 ลิตร แต่ก็การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีระดับโลกถึง 3 ปีซ้อน
ฟอร์ดยังคุยโวว่าเครื่องยนต์อีโคบูสต์บล็อกนี้สามารถส่งกำลังได้เหนือชั้นเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ขนาด 2 ลิตร แต่สิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่า โดยก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยเชิญบุคคลทั่วไปเข้าร่วมทดสอบและแข่งขันความประหยัดเชื้อเพลิงของเฟียสต้า ผลปรากฏว่าผู้ชนะเลิศใน รุ่น 4 ประตู Titanium ทำตัวเลขได้สูงสุดถึง 20.37 กม./ลิตร และ 18.79 กม./ลิตร ในรุ่น 5 ประตู Sport เกียร์อัตโนมัติ
เฟียสต้ามีพละกำลังมากที่สุดในกลุ่มรถซับคอมแพกต์ตัวท็อปที่จำหน่ายในเมืองไทย ด้วยพลัง 125 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 170 นิวตันเมตร ซึ่งมีให้ใช้งานตั้งแต่รอบต่ำที่ 1,400 ไปจนถึง 4,500 รอบ/นาที ส่งถ่ายกำลังผ่านเกียร์คลัทช์คู่ PowerShift 6 สปีด
อัตราเร่งของเครื่องยนต์อีโคบูสต์ถือว่าทันอกทันใจพอตัว 0 – 100 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 10.8 วินาที ก่อนจะทะยานต่อเนื่องไปถึง 180 กม./ชม. ด้วยเวลา 49.2 วินาที ไหลยาว Top Speed ที่ทะลุระดับ 200 กม./ชม.
อย่างไรก็ตาม ระบบเบรกของเฟียสต้าเป็นแบบหน้าดิสก์และหลังดรัม ประสิทธิภาพอาจไม่แตกต่างกัน แต่ความหล่อเหลาอาจลดลงเล็กน้อย ส่วนระบบความปลอดภัยนั้นนอกจาก ABS , EBD และ TCS ที่ยกชุดมาจากรุ่นเดิมแล้ว ยังเพิ่มระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP และระบบช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน
มาสด้า 2
มาสด้า 2 วางเครื่องยนต์ดีเซลสกายแอดทีฟ-ดี (Skyactiv D) ความจุ 1.5 ลิตร ประกบกับระบบเกียร์สกายแอคทีฟ-ไดรฟ์ (Skyactiv-Drive) ซึ่งขึ้นสายการผลิตในประเทศไทย รีดพละกำลัง 105 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิด 250 นิวตันเมตรที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที จะเห็นได้ว่าแรงม้าของมาสด้า 2 มีน้อยที่สุด แต่ทดแทนด้วยแรงบิดที่เหนือชั้นที่สุดในกลุ่มนี้
มาสด้าคุยโวด้วยว่านอกเหนือจากสมรรถนะการขับขี่ที่เหนือชั้นแล้ว รถยนต์คันนี้ยังให้การประหยัดที่ยอดเยี่ยม โดยมีผลการทดสอบการประหยัดน้ำมันตามมาตรฐานยุโรปที่สูงถึง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร
จากการทดสอบโดยทีมงาน Autospinn บนเส้นทางจากกรุงเทพมหานครถึงพัทลุง บนเส้นทาง 798.9 กิโลเมตรนั้น มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ-ดี ซีดาน ใช้น้ำมันอยู่ที่ 35.83 ลิตรเท่านั้น หรือคิดเป็น 22.296 กิโลเมตรต่อลิตร ปัดเศษตามกติกาที่ระบุไว้ก็คือ 22.30 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้นเอง จุดนี้ถือว่าเหนือกว่าเฟียสต้าอยู่เล็กน้อย
สำหรับการขับขี่ นักทดสอบของเราชี้ว่าเครื่องยนต์ดีเซลตอบสนองได้ดีตามสไตล์ขุมพลังแรงบิดสูงที่มารอบต่ำ นั่นทำให้การขับขี่ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่งมีความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คันเร่งไฟฟ้า (Drive by Wire) ยังมีจังหวะหน่วงอยู่เล็กน้อย ขุมพลังดีเซลยังทำได้ดีพอตัวและมีสุ้มเสียงแบบสปอร์ตในรอบเครื่องยนต์สูง
แม้รุ่น 5 ประตูจะได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามในเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ที่เป็นเยี่ยม ช่วงล่างที่แน่นหนึบ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย แต่ก็มีเสียงติในเรื่องความแข็งกระด้างของช่วงล่าง ขณะที่รุ่นซีดาน 4 ประตูนั้นได้รับการแก้ไขจุดนี้เป็นอย่างดีโดยเน้นความนุ่มนวลมากขึ้นและมีอาการโยนตัวน้อยลง
ขณะที่ห้องโดยสารด้านหลังที่ไม่ได้เน้นเรื่องการนั่งโดยสารแบบสะดวกสบายก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยส่วนตัวมองว่าเป็นรถที่เหมาะกับการขับขี่เป็นหลัก ตำแหน่งที่นั่งที่ดีคือเบาะโดยสารคู่หน้า ขณะที่ห้องโดยสารตอนหลังเดินทางไกลอาจจะเหนื่อยหน่อย
สรุป
ฟอร์ด เคาะราคาเฟียสต้ารุ่นเครื่องยนต์อีโคบูสต์เริ่มต้นที่ 7.49 แสนบาทถึง 7.54 แสนบาท ขณะที่มาสด้า 2 เจนเนอเรชั่นใหม่เปิดราคาเริ่มต้นที่ 6.75 แสนบาทถึงตัวท็อป 7.90 แสนบาท
มาสด้า 2 ที่เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์มีราคาจำหน่ายแพงที่สุดในเซกเมนท์นี้จนขึ้นแท่นรถซับคอมแพกต์ระดับพรีเมียมไปโดยปริยาย แต่มาสด้า 2 ก็อัดแน่นเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติไอ-สต๊อปและระบบการหมุนเวียนพลังงานไอ-อีลูป รวมถึงระบบด้านความปลอดภัยไอ-แอคทีฟเซนส์ พร้อมมีหน้าจอแสดงผล head-up display เรียกได้ว่าอ็อปชั่นอัดแน่นมากที่สุดในกลุ่มนี้
ด้านเฟียสต้ามีราคาจำหน่ายที่ย่อมเยากว่าอยู่หลายหมื่นบาท พร้อมกับมีอ็อปชั่นที่จัดเต็มมาไม่แพ้กัน อัตราเร่งแบบยาวๆ ขุมพลังเบนซินเทอร์โบได้เปรียบกว่าดีเซลเล็กน้อย แต่อัตราเร่งสำหรับใช้งานในเมืองแทบจะไม่แตกต่างกัน
สำหรับคนที่ชื่นชอบภาพลักษณ์ความสปอร์ตและอ็อปชั่นลูกเล่นครบครัน แน่นอนว่ามาสด้า 2 ตอบโจทย์มากที่สุดในเวลานี้ ส่วนคนที่มองหารถที่มีช่วงล่างแน่นหนึบแบบอเมริกันและต้องการขุมพลังเบนซินที่ได้การยอมรับทั่วโลก เฟียสต้าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมทีสุดครับ
ความคิดเห็น