หลังจากที่ได้มีการทดลองขับแบบทางไกลบนถนนพื้นที่ปรกติไปแล้ว ในงานเดียวกัน ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้จัดพื้นที่แบบออฟโรดไว้ เพื่อให้ได้ทดลองขับ และได้ทดลองใช้ระบบช่วยเหลือการขับขี่กันอย่างจุใจ
โดยพื้นที่ออฟโรดในครั้งนี้อยู่ในส่วนที่เป็นป่าย่อมๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าโหดเอาเรื่องอยู่พอสมควร เพราะก่อนที่จะได้ทดลองขับ ได้มีฝนตกหนักมาก จนทำให้พื้นดินบริเวณที่จะทำการทดลองค่อนข้างเหลว
อีกทั้งในส่วนที่เป็นพื้นที่ต่างระดับได้กลายเป็นแอ่งน้ำย่อยๆ ไปโดยปริยาย แต่ก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราสามารถรับรู้ได้ว่า ออลล์นิว โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ จะเอาอยู่ขนาดไหน เพราะฉะนั้นตามมาดูกันเลย
บนที่พื้นการทดลองการขับขี่แบบออฟโรดกว่า 700 เมตร อาจจะเห็นว่าดูไม่ยาวมากแต่ถ้าได้มาทดลองขับจริงๆ จะทราบได้ว่ากว่าจะผ่านแต่ละด่านที่ค่อนข้างเละ จะใช้เวลานานพอสมควร
เริ่มต้นกับการออกตัวกับการทดสอบด่านแรกพร้อมเปิดโหมดการขับขี่ในแบบ L4 เพื่อช่วยในการขับขี่บนพื้นที่แบบสมบุกสมบัน แล้วพบการทดสอบระบบ เอชเอซี หรือ ระบบหน่วงเวลาป้องกันรถไหลในจังหวะออกตัวบนทางลาดชัน
โดยจากการทดลอง หลังจากขับขี่ขึ้นไปบนทางลาดชันแล้วทำการเหยียบเบรค หลังจากเราปล่อยเท้าจากแป้นเบรค ระบบจะช่วยส่งแรงดันเบรคไปยังทั้ง 4 ล้ออัตโนมัติ โดยจะมีเวลาหน่วงอยู่ที่ประมาณ 3-4 วินาที
จากนั้นจะเป็นการขับขี่ในส่วนของพื้นที่ต่างระดับ และการขับผ่านทางที่มีอุปสรรค์เช่นท่อนไม้ โดยการทดสอบนี้จะให้เห็นในส่วนของอัตราแรงดึงของเครื่องยนต์ โดยเราทดลองไม่แตะคันเร่งเพื่อปล่อยให้รถไหลไปเรื่อยๆ เพื่อทดสอบอัตราแรงดึงเครื่องยนต์ และระบบช่วงล่างว่าเป็นอย่างไร
ระบบช่วงล่างในช่วงขับแบบออนโรดจะรู้สึกว่ามันนุ่มมากจนแอบเสียวว่าเวลาขับในพื้นที่แบบนี้จะเป็นอย่างไรแต่ ออลล์นิว ฟอร์จูน ก็ทำได้ดีในระดับนึงสามารถผ่านไปได้ แถมยังมีความนุ่มนวล น่าจะถูกใจผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ชอบแบบฮาร์ดคอร์มากมาย
ต่อมาเป็นช่วงทดลองการขับผ่านแอ่งน้ำ(โดยจำเป็น)เพราะตอนแรกในพื้นที่นี้จะเป็นเพียงทางลาดลงแล้วก็ทางชันขึ้นทันที่เพื่อทดสอบระบบช่วงล่างและแรงขับจากเครื่องยนต์แต่อย่างที่กล่าวไปว่ามีฝนตกหนักมากทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแอ่งน้ำไปโดยปริยาย
ก็ทำการลุยกันไป สามารถผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แรงขับในช่วงขึ้นทางลาดชันสูงทางทีมงานทดลองแตะคันเร่งบางๆ เพียงประมาณ 1100-1200 รอบ/นาที ก็สามารถขึ้นไปได้อย่างไม่ยากเย็น อีกทั้งในช่วงลงทางลาดชัน ระบบ ดีเอซี ได้โชว์การทำงานเพื่อช่วยชะลอรถขณะลงทางชันอีกด้วย
สถานีถัดมาเรียกได้ว่าเด็ดที่สุดก็ว่าได้กับการทดสอบระบบ เอ-ทีอาร์ซี หรือระบบช่วยเหลือเมื่อเซ็นเซอร์จับได้ว่ามีล้อใดล้อหนึ่งหมุนฟรี ระบบจะตัดการส่งกำลังล้อนั้นแล้วไปเพิ่มกำลังในล้อฝั่งตรงข้ามเพื่อให้รถยนต์สามารถขับไปต่อได้สบายๆ หรือถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือระบบช่วยเหลือเวลาล้อติดหล่มโคลน นั้นเอง
จากการทดสอบเมื่อพอมาถึงพื้นที่หลุมโคลนต่างระดับ ผมได้ทำการปล่อยเท้าจากคันเร่ง เพื่อให้รถไหลไปช้าที่สุด จุดประสงค์คือต้องการให้ ตัวรถติดหล่มโคลน จะได้ทดลองระบบกันอย่างเต็มที่
ทันใดนั้นเมื่อรถยนต์เคลื่อนตัวมาติดหล่มโคลนอย่างที่ตั้งใจไว้ เรียกได้ว่าหน้าจมท้ายลอยกันเลยทีเดียว ระบบ เอ-ทีอาร์ซี จะทำงานโดยจะมีช่วงเหมือนว่าระบบกำลังประมวลผลอยู่ประมาณ 1 วินาที ว่ามีล้อหมุนฟรี จากนั้นเมื่อระบบทำงานรถยนต์ก็สามารถผ่านไปได้อย่างสบายๆ เลยทีเดียว
ต้องยอมรับว่าระบบนี้มีประโยชน์และใช้งานได้จริงเพื่อเป็นตัวช่วยเวลาล้อติดหล่มหรือ มีการหมุนฟรี ซึ่งน่าจะเป็นระบบที่สำคัญสำหรับผู้ที่ชอบเดินทางไปที่สมบุกสมบัน
จากการทดสอบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ออลล์นิว ฟอร์จูนเนอร์ สามารถผ่านอุปสรรค์ไปได้โดยไม่ยากเย็น ทั้งสำหรับผู้ขับขี่ หรือมือเก่าก็ตาม แถมช่วงล่างที่ค่อนข้างนุ่มนวลน่าจะถูกใจผู้ขับขี่ที่ไม่เน้นซิ่งมากมาย
แต่ก็ตามที่กล่าวไว้ว่า สำหรับ ออลล์นิว ฟอร์จูนเนอร์ น่าจะถูกใจสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ต้องการรถยนต์อเนกประสงค์เพื่อนั่งโดยสาร ระบบช่วงล่างนุ่มนวล การเก็บเสียงภายในรถยนต์ทำมาค่อนข้างดี อัตราเร่งเครื่องยนต์ไว้ใจได้ทุกสถานการณ์
อารมณ์การขับขี่ของ ออลล์นิวฟอร์จูนเนอร์คันนี้ ประมาณ แฟมมิลี่คาร์ แต่ก็ยังมีระบบช่วยเหลือในช่วงที่ต้องพบกับอุปสรรค์ต่างๆ บนเส้นทางที่เดินทางไป ก็ถือว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งทีน่าสนใจสำหรับรถยนต์ อเนกประสงค์ เอสยูวี หรือ พีพีวี ในช่วงนี้
ขอขอบคุณ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สำหรับการจัดทริปทดสอบรถยนต์ ออลล์นิว ฟอร์จูนเนอร์ ทั้งแบบทางออนโรด และออฟโรด ณ ที่นี้ด้วยครับ
เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โตโยต้า ออลล์นิว ฟอร์จูนเนอร์ ไว้ทั้งหมดแล้ว ที่นี่
สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์มอเตอร์ไซค์อัพเดตเพิ่มเติม ได้ที่นี่
ความคิดเห็น