ฟอร์ด เรนเจอร์ แคมป์ : การเทรนนิ่งออฟโรดเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ณ นิวซีแลนด์ Share this

ฟอร์ด เรนเจอร์ แคมป์ : การเทรนนิ่งออฟโรดเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ณ นิวซีแลนด์

Golf Autospinn
โดย Golf Autospinn
โพสต์เมื่อ 20 November 2558

Kia Ora สวัสดีครับจากประเทศนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ ซึ่งอย่างที่เราเคยบอกไปในคอลัมน์ What's Up! แล้วว่า ออโต้สปินน์ได้รับเชิญจากฟอร์ด อาเซียน ให้ร่วมเดินทางเป็น 1 ใน 2 สื่อมวลชนจากประเทศไทย เพื่อร่วมทริปทดสอบฟอร์ด เรนเจอร์กันไกลถึงเมืองควีนส์ทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์

ทริปนี้ถือเป็นทริปพิเศษมากสำหรับฟอร์ด เนื่องจากมีการเชิญสื่อมวลชนมาเข้าร่วมทางทั่วโลกเพียง 14 ราย และมีเพียง 9 รายจาก 5 ประเทศในอาเซียนเท่านั้นที่ได้รับประสบการณ์สุดพิเศษนี้ และที่พิเศษไปกว่านี้ก็คือ รถยนต์ทุกคันที่ใช้ในการทดสอบเป็นรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย ทั้งสิ้น

สาเหตุที่ฟอร์ดเลือกประเทศนิวซีแลนด์เป็นที่ทดสอบรถในครั้งนี้่ เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์นั้นมีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการทดสอบการใช้งานรถปิกอัพอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นตลาดที่เรนเจอร์เองก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่แพ้ในหลาย ๆ ประเทศที่ฟอร์ดเลือกเชิญสื่อมวลชนมาทดสอบในครั้งนี้

Ford-1-1

จริง ๆ แล้ว นิวซีแลนด์ก็เป็นเหมือนประเทศในฝันของใครหลาย ๆ คนที่เคยรับชมความสวยงามของประเทศผ่านภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ยิ่งเป็นควีนส์ทาวน์ที่มาทดสอบกันนั้น ยังมีความเป็นธรรมชาติแบบดิบ ๆ อยู่มากกว่าเมืองหลวงอย่างเวลลิงตันและเมืองยอดนิยมอย่างโอ๊คแลนด์มากนัก

แค่รู้ว่าต้องมาควีนส์ทาวน์ก็ตกใจกับการเดินทางมากพอแล้ว เพราะว่าเราต้องบินในเครื่องบินโดยสารที่ชั้นธุรกิจยังไม่เป็นที่นอนแบบราบกว่า 11 ชั่วโมง แล้วไปต่อเครื่องที่โอ๊คแลนด์ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะบินอีก 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางมาถึงเมืองหลักในการทดสอบของเราในครั้งนี้

Ford-1-2

ก่อนที่จะตกใจเพิ่มเติมในวันเดินทางเมื่อได้รับเอกสารว่าไอ้ที่พูดมานั้นไปถึงแค่กลางทาง เพราะสถานที่ทดสอบของเรานั้นอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขาที่เป็นธรรมชาติที่สุด และเป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่มีการส่งสินค้าที่ผลิตที่นี่ออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก

การเดินทางนั้นออกจากสนามบินควีนส์ทาวน์แล้วจะต้องนั่งรถตู้ไปอีกร่วมชั่วโมง จากนั้นก็ต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์ต่อไปที่มิเนอเรต สเตชั่นอีกราว 20 นาที เรียกว่าเดินทางกันให้คุ้มค่า แถมที่สถานที่ทดสอบก็ไม่มีสสัญญาณโทรศัพท์นะครับ นี่เราอยู่ในโลกยุคปัจจุบันกันจริง ๆ ใช่หรือไม่

Ford-1-3

ฟอร์ด เรนเจอร์ที่ทำการทดสอบนั้น มองเผิน ๆ อาจจะเหมือนกับที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยทุกอย่าง แต่ก็มีแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยไปตามความต้องการของท้องถิ่น อาทิ ระบบเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกตำแหน่งนั้น มีมาให้มากกว่าที่จำหน่ายในประเทศไทย

ในรุ่นที่นำมาทดสอบกันทั้งหมดเป็นรุ่นไวล์ดแทร็คหรือไม่ก็เอ็กซ์แอลเอส ซึ่งเป็นรุ่นท๊อป โดยมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ วีจี เทอร์โบ ขนาด 3.2 ลิตร แบบ 5 สูบ ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร เรียกว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวกันกับที่จำหน่ายในประเทศไทย

Ford-1-4

แม้ฟอร์ดจะพาเรามาเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทดสอบรถยนต์เพื่อให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และการใช้งานประจำวัน แต่เมื่อมาถึงเราต้องผ่านการสอนปรับพื้นฐานกันก่อน ด่านแรกของเราก็เลยกลายเป็นการเรียนรู้การขับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ และระบบต่าง ๆ ภายในรภของฟอร์ด

ทีมงานฟอร์ดพาเราผ่านท้องทุ่ง ขุนเขาและลำธารอันสวยงามของมิเนอเรต สเตชั่น เพื่อทำการทดสอบการขับขี่ออฟโรดพื้นฐาน 3 ด่าน ประกอบไปด้วย การวิ่งลุยโคลน การวิ่งไต่ขึ้นลงหุบเขา และการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบช่วงล่าง รวมไปถึงการใช้ระบบช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อให้เราคุ้นเคยกับรถมากขึ้น

Ford-1-5

เอาจริง ๆ แม้ว่าเราจะทำการทดสอบฟอร์ด เรนเจอร์ในประเทศไทยมาหลายรุ่น นับกันไม่ถ้วน แต่เมื่อถูกนำมาปล่อยกลางป่าเขาให้ขับรถไปโดยมีทีมงานนั่งดูห่าง ๆ ก็ถือว่าเกร็งเอาเรื่องเหมือนกัน เพราะฟอร์ดบอกเลยว่ารถก็ไม่ได้แต่ง ทางก็ไม่ได้ปรับ เรียกว่าลุยกันไปดิบดิบ มีแค่ปรับความดันลมยางให้เหมาะสมกับการใช้งานเท่านั้น

เราเริ่มกันที่โหมดการลุยโคลน หลักการไม่มีอะไรมากครับ ใส่ 4L แล้วคุมพวงมาลัยให้ดี รถห้ามหยุด เพราะหยุดเมื่อไหร่จมเมื่อนั้น นอกจากโคลนแล้ว เรายังมีโอกาสวิ่งผ่านลำธารขนาดเล็กยาว ๆ เพื่อทดสอบช่วงล่างอันยอดเยี่ยม ซึ่งฟอร์ดบอกว่านี่คือเส้นทางที่ชาวฟาร์มแถวนี้ใช้งานกันจริง ๆ ในการทำงานทุกวัน

Ford-1-6

ย้ายจากสถานีโคลนมาไต่เขากันต่อ กับการลองใช้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติระหว่างการขึ้น-ลงเขา งานนี้กดเข้าระบบแล้วปล่อยไหลไปเรื่อย ๆ คุมความเร็วผ่านแป้นคุมความเร็วของครูสคอนโทรล ระบบนี้ทำงานที่ความเร็วตั้งแต่ 2-32 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันเลยทีเดียว เรียกว่าปรับใช้งานได้ตามความเหมาะสม

นอกเหนือไปจากการทดลองระบบแล้ว ในเส้นทางการทดสอบดังกล่าวเรายังได้มีโอกาสขับผ่านทางธรรมชาติที่ลัดเลาะไปตามภูเขาที่มีความแคบของทางที่ไม่แตกต่างจากรถมาก ระบบบังคับเลี้ยวของฟอร์ดทำงานได้อย่างดีงาม ทำให้เราไม่ต้องลุ้นมากนักในการขับรถเลาะเลี้ยวไปตามทางแคบ ๆ เหล่านั้น

Ford-1-7

ปิดท้ายกันที่การทดลองระบบช่วงล่างทั้งหมด ฟอร์ดอธิบายว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการขับออฟโรดก็คือความชัดเจนของทางที่วิ่งผ่าน ต่อให้จะต้องชะโงกมอง พับกระจก วอนคนข้าง ๆ มองทางให้ หรือแม้แต่เดินลงรถไปดูก็ต้องทำ เพื่อให้ทั้งคนทั้งรถสามารถเดินทางไปสู่ที่หมายอย่างปลอดภัยที่สุด

การทดสอบก็คือการพาเรนเจอร์วิ่งผ่านไปตามทางแคบ ๆ ที่วางเสาคุมเส้นทางการวิ่งเอาไว้ โดยพื้นผิวแบบธรรมชาติจริง ๆ ปล่อยระบบขับเคลื่อนไว้ที่ 4L ถ้าตรงไหนติดล้อหมุนฟรีก็แค่เปิดดริฟท์ล็อคมาช่วย เรียกว่าไม่มีติดขัดให้เสียอารมณ์ รถเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แปปเดียวก็หมดทางทดสอบแล้ว

Ford-1-End

นี่แค่น้ำจิ้มย่อย ๆ ก่อนการทดสอบจริงผ่านกิจกรรมของฟอร์ดที่เตรียมไว้อย่างมากมายตลอด 2 วัน ซึ่งฟอร์ด เรนเจอร์ใหม่ในต่างประเทศนั้น มาพร้อมสโลแกนที่ว่า TOUGH DONE SMARTER หรือความแข็งแกร่งที่ถูกพัฒนาให้ชาญฉลาดขึ้น ซึ่งจากการได้มาลองของจริงในพื้นที่ธรรมชาติ ก็ทำให้เชื่อได้มากขึ้น

แต่จะดีกว่านี้ไปขนาดไหนนั้น โปรดติดตามตอนต่อไปให้ดี เราจะพาไปสนุกกันให้มากกว่านี้อีก...


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ