ทำความรู้จัก “เรียว มูคุโมโตะ” หัวหน้าทีมพัฒนาฮอนด้า เอส660 ที่อายุน้อยที่สุดในวัย 27 ปี Share this

ทำความรู้จัก “เรียว มูคุโมโตะ” หัวหน้าทีมพัฒนาฮอนด้า เอส660 ที่อายุน้อยที่สุดในวัย 27 ปี

Satapana
โดย Satapana
โพสต์เมื่อ 26 November 2558

คุณทำอะไรอยู่เมื่อตอนอายุ 27 ปี? สำหรับเรียว มูคุโมโตะ เขาได้เป็นผู้นำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหญ่หรือที่ฮอนด้าเรียกว่า “Large Project Leader” ของรถสปอร์ตรุ่นเล็กอย่าง “ฮอนด้า เอส660”

มูคุโมโตะได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่การแต่งตั้งมูคุโมโตะที่อายุยังน้อยมากและยังไม่ได้จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นผู้นำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหญ่ถือเป็นการ “เดิมพัน” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับฮอนด้า

เอส660 เป็นรถสปอร์ตขนาดเล็กที่สานต่อความสำเร็จของฮอนด้า บีทอันโด่งดังในยุค 1990 มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก 3 สูบ ความจุ 660 ซีซี มีพละกำลังแค่ 64 แรงม้า แรงบิด 104 นิวตันเมตร ถือเป็นการกำหนดนิยามใหม่ของรถสปอร์ตเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม เอส660 ถือเป็นรถเล็กพริกขี้หนู บางคนนำไปเปรียบกับสุนัขพันธุ์ชิวาว่าที่ตัวเล็กแต่มักมีนิสัยดุดัน ถึงแม้จะมีเรี่ยวแรงน้อยนิดแต่ก็ทดแทนด้วยโครงสร้างแบบรถซูเปอร์คาร์

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/ao3-s660_vtecturbo-028.jpg

เอส660 แตกต่างจากรถที่มีความสวยงามแค่หน้าตาอย่างไดฮัทสุ โคเปน เพราะขุมพลัง 660 ซีซีถูกวางอยู่ด้านหลังผู้ขับขี่และใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเหมือนกับฮอนด้า เอ็นเอสเอ็กซ์ คาลิปเปอร์เบรกและถังน้ำมันถูกติดตั้งในระยะฐานล้อเพื่อรักษาน้ำหนักที่สมดุลและรักษาศูนย์ถ่วงตัวรถ

ด้วยขนาดตัวถังที่เล็กกะทัดรัด เอส660 อาจไม่มีความคล่องตัวบนถนนโล่งทางไกล แต่สำหรับถนนหนทางอันคับแคบในญี่ปุ่นแล้ว เอส660 คือเจ้าถนนดีๆ นี่เอง ขณะเดียวกัน ด้วยพิกัดภาษีการใช้งานและภาษีที่จอดที่เอื้อต่อรถที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 660 ซีซี (เคคาร์ได้รับการยกเว้นภาษีที่จอด) ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่เหมาะสมในเชิงกลยุทธ์ของรถสปอร์ตรุ่นเล็กคันนี้

ตัวถังที่เล็กและน้ำหนักเบายังทำให้เคคาร์ได้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมฮอนด้าถึงพัฒนารถสปอร์ตขนาดเคคาร์ที่ดึงดูดลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้อย่างถล่มทลาย

Carlist.my เว็บไซต์พันธมิตรของเราในมาเลเซียได้พบปะกับมูคุโมโตะซังที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮอนด้าในจังหวัดโทชิกิของญี่ปุ่น เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังการพัฒนารถรุ่นนี้

ตามปกติแล้ว ตำแหน่งผู้นำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหญ่หรือ Large Project Leader (LPL) เทียบเท่ากับหัวหน้าทีมวิศวกรระดับบริหารหรือถ้าเป็นบริษัทรถยนต์รายอื่นก็จะเรียกว่าผู้จัดการโครงการ ซึ่งมักถูกมอบหมายให้แก่ผู้ที่มีแบ็คกราวนด์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่มีประสบการณ์คร่ำหวอด

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/dsc06879.jpg

แต่สำหรับมูคุโมโตะ เขาเริ่มทำงานกับฮอนด้าในปี 2007 ในตำแหน่งนักขึ้นรูปตัวถังจำลองที่ศูนย์การออกแบบฮอนด้า เขาทำหน้าที่ขึ้นรูปตัวรถสเกล 1:1 ด้วยพลาสติกและเรซิน

เมื่อถูกถามว่าทำไมเขาถึงถูกแต่งตั้งจากนักขึ้นรูปตัวถังกระโดดมาเป็นผู้นำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ เขาตอบสั้นๆ ว่า “มันเหมือนปาฏิหาริย์!”

“ก่อนหน้านี้มีการประกวดยานยนต์เพื่อรำลึกการครบรอบ 50 ปีของมูลนิธิ ฮอนด้า ทุกคนในฮอนด้าได้รับการสนับสนุนให้นำเสนอรถต้นแบบ ผมส่งรถสปอร์ตเคคาร์เข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ บริษัทตัดสินใจพัฒนารถต้นแบบให้เป็นรถโปรดักชั่นออกขายจริง ผมจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำโครงการนี้” มูคุโมโตะกล่าว

ในเวลานั้น มูคุโมโตะเพิ่งมีอายุเพียง 22 ปี บางคนอาจมองว่าฮอนด้าเสียสติที่ไว้วางใจเด็กหนุ่มอายุ 22 ปีที่ไม่มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมให้มาเป็นผู้นำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เอส660 ซึ่งถูกพัฒนาภายใต้การนำของมูคุโมโตะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังสร้างความสำเร็จครั้งสำคัญของฮอนด้าในญี่ปุ่น โดยภายใน 5 เดือนแรกหลังจากเปิดตัว ฮอนด้าจำหน่ายเอส660 หมดเกลี้ยงล่วงหน้าโควต้าผลิต 12 เดือน เอส660 ที่ตอนแรกถูกวางแผนให้จำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นแห่งเดียว กลับได้รับความสนใจจากหลายตลาดทั่วโลก โดยมีข่าวลือว่าฮอนด้าอาจวางเครื่องยนต์ 1,000 ซีซีเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน

เอส660 จึงเป็นมากกว่ารถทั่วไป หากคือรูปแบบการพัฒนาและฟูมฟักบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้อย่างยอดเยี่ยม

เมื่อหลายทศวรรษก่อน ไออิจิ โตโยดะ ประธานของโตโยต้าในเวลานั้นเคยจิกกัดโซอิจิโระ ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้าไว้ว่า “ต้องมีบางสิ่งผิดปกติกับฮอนดะและบริษัทของเขาแน่นอน” เพราะฮอนดะมักมีวิสัยทัศน์ฉีกกรอบและมีภาพลักษณ์แบบขบถ

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/dsc07302.jpg

เมื่อครั้งที่ฮอนดะเกษียณการทำงานในปี 1973 ด้วยวัยเพียง 65 ปี (ซึ่งถือว่าเด็กมากสำหรับคนญี่ปุ่น) หนึ่งในข้อความที่เขาส่งถึงพนักงานก็คือ

“ผมไม่เคยแม้สักครั้งในชีวิตที่จะพูดว่า ‘ทำไมเด็กสมัยนี้เป็นแบบนี้’ เพราะผมรู้ดีว่าเมื่อผมเป็นเด็กผมก็มีความคิดที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเหมือนกัน คนรุ่นใหม่มักมีหัวก้าวหน้าเสมอ ถึงแม้ผมจะอยู่ในช่วงอายุที่ควรคิดถึงบั้นปลายของชีวิต แต่สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือช่วยเหลือให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพที่ดี ดังนั้นผมขอเน้นย้ำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่า คุณควรมีเป้าหมายในชีวิตเป็นของตนเอง ควบคุมชีวิตของตนเองและบินให้สูงเข้าไว้”

อายุที่น้อยมากของมูคุโมโตะและการขาดคุณสมบัติที่ควรจะมี อาจทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย แต่แท้จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮอนด้าเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่

ย้อนกลับไปในปี 1981 ฮอนด้า ซิตี้ เจนเนอเรชั่นแรกได้รับการพัฒนาโดยทีมงานที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 27 ปีเท่านั้น ขณะที่ในปี 1985 ฮอนด้าก่อสร้างโรงงานเครื่องยนต์แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างชัค เอิร์นส์ คนหนุ่มที่ไม่มีปริญญาด้านวิศวกรรมให้เป็นผู้ออกแบบแผนผังโรงงานมอเตอร์ไซค์ ทำให้เอิร์นส์ต้องสอนตัวเองว่าเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์มีการประกอบอย่างไร และออกมาเป็นแผนผังโรงงานที่ดีที่สุด

โตโยจิ ยาชิกิ ผู้จัดการโรงงานเครื่องยนต์ของฮอนด้าในโอไฮโออธิบายว่า ฮอนด้ามักสอนให้พนักงานใหม่เรียนรู้วิธีการทำงานแบบฮอนด้า ซึ่งให้ความสำคัญกับไอเดียที่ขาดประสบการณ์แต่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมักมีความคิดที่ฉีกกรอบเดิมๆ

ปัจจุบัน พนักงานใหม่ของฮอนด้ามักได้ยินเรื่องราวของสอง “โซอิจิโระ” นั่นคือ โซอิจิโระ ฮอนดะและโซอิจิโระ อิริมาจิริ วิศวกรอากาศยานผู้ปราดเปรื่องซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เขาออกแบบเครื่องยนต์เอฟ1 ตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/dsc03634.jpg

ครั้งหนึ่ง อิริมาจิริ เคยได้รับมอบหมายให้พัฒนาเครื่องยนต์เอฟวัน RA273 F1 สำหรับการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ในปี 1966 โดยในการแข่งขันบริติช กรังด์ปรีซ์ เครื่องยนต์ของเขาเกิดระเบิดและลุกไหม้ ตัวรถถูกส่งกลับไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮอนด้าเพื่อทำการวิเคราะห์ กระทั่งพบว่าเกิดความผิดปกติที่แหวนลูกสูบที่เป็นสาเหตุหลักของการระเบิด

“ใครผลิตแหวนลูกสูบ!?” โซอิจิโระ ฮอนดะ ตะโกนถามด้วยความกราดเกรี้ยวซึ่งพนักงานฮอนด้าหลายคนในอดีตทราบดีถึงความน่ากลัว อิริมาจิริยกมือรับว่าเขาเป็นผู้ออกแบบ ทำให้ฮอนดะตะคอกใส่ “คุณออกแบบเพื่อให้มันไหม้แบบนี้น่ะหรือ!??"

“ผมคำนวณอย่างดีที่สุดแล้ว ผมไม่คิดว่าแหวนจะไหม้ได้ ผมคิดว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น” อิริมาจิริ พยายามอธิบาย

ฮอนดะ ตอบกลับทันควัน “ผมมีความเชี่ยวชาญในการผลิตแหวนลูกสูบ ผมผลิตมันก่อนเกิดสงครามเสียอีก ผมก่อตั้งบริษัทที่ไม่ได้ผลิตอย่างอื่นเลยนอกจากแหวนลูกสูบ ผมมีสิทธิบัตรแหวนลูกสูบ แล้วตอนนี้คุณจะสอนผมว่าผมไม่รู้เรื่องแหวนพวกนี้อย่างนั้นหรือ ผมไม่เคยเข้าใจพวกที่จบมหาวิทยาลัยดังๆ เลย พวกคุณมีมันสมองใหญ่โต แต่ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง!”

ด้วยความที่ฮอนดะไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษา เขาจึงไม่เข้าสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตร โดยเขามองว่า ใบปริญญามีค่าน้อยกว่าตั๋วหนัง โดยหนึ่งในคำกล่าวอมตะของเขาก็คือ “อย่างน้อยตั๋วหนังยังทำให้คุณได้ดูหนังและมีช่วงเวลาดีๆบ้าง”

ฮอนดะยังบอกอิริมาจิริด้วยว่า “คุณทำให้ทุกคนที่ทำงานหนักผิดหวัง คุณจะต้องนำไอ้แหวนลูกสูบนี้ไปขอโทษกับทุกคนในทีมงาน คุณออกแบบมัน และทำให้ทุกคนมีปัญหา”

ด้วยการบ่มเพาะอันดุดันของฮอนดะ ทำให้อิริมาจิริกลายเป็นหนึ่งในวิศวกรที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเขาเป็นผู้ออกแบบนวัตกรรมเครื่องยนต์ใหม่ๆ มากมาย และถึงแม้ฮอนดะจะเสียชีวิตไปนานหลายปีแล้ว แต่แบรนด์ฮอนด้าทุกวันนี้ก็ยังเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ และการทำงานหนักมากกว่าคุณสมบัติด้านการศึกษา

มูคุโมโตะกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีแค่เขาที่ขาดประสบการณ์ แต่หลายคนในทีมงานพัฒนาเอส660 ก็ยังเป็นคนรุ่นใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วมีอายุไม่ถึง 30 ปี

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/dsc07299.jpg

“ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำโครงการ ผมอาจถูกพูดถึงมากหน่อย แต่แท้จริงแล้ว ทีมงานของเราล้วนมีอายุน้อยทั้งสิ้น ตามปกติแล้ว ผู้นำโครงการจะคัดเลือกทีมงานจากตำแหน่งระดับบนลงล่าง แต่สำหรับโครงการนี้ เราใช้วิธีจากล่างขึ้นบน เราได้สอบถามทุกคนว่าจะมีใครอยากร่วมทีมพัฒนาเอส660 บ้างและคนที่ต้องการร่วมทีมกับเราก็ล้วนมีอายุน้อยทั้งสิ้น” มูคุโมโตะกล่าว

เขายอมรับว่า ด้วยความที่มีอายุน้อยและขาดประสบการณ์จึงประสบปัญหามากมาย แต่ก็มีทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์คอยแนะนำอย่างใกล้ชิด

ต่อคำถามที่ว่าทำไมถึงพัฒนารถสปอร์ตเคคาร์อย่างเอส660 เขาบอกว่าเมื่อเขาได้รับใบขับขี่ รถคันแรกที่เขาซื้อก็คือฮอนด้า เอส2000

“ในฐานะที่ผมเป็นนักขับมือใหม่ ผมไม่มีทักษะการขับขี่มากเพียงพอที่จะสนุกสนานไปกับสมรรถนะของเอส2000 ได้อย่างเต็มที่ ผมรู้สึกเสมอว่าผมไม่ได้ขับเอส2000 แต่เจ้าเอส2000 มันพาผมไปไหนต่อไหน เมื่อผมต้องคิดไอเดียการพัฒนารถต้นแบบ ผมยังคิดถึงช่วงเวลาที่ยังเรียนหนังสือที่ผมขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า ซูเปอร์ คับ มันมีน้ำหนักเบาและขี่ง่ายมาก ผมขี่สนุกมาก จึงคิดว่าควรจะทำรถสปอร์ตเคคาร์ที่ทำให้ผู้คนได้สัมผัสความสนุกในการขับขี่ ผมต้องการลดกำแพงของการครอบครองรถสปอร์ตที่ขับสนุกสักคันลง” มูคุโมโตะกล่าว

ด้วยค่าใช้จ่ายในการครอบครองรถที่สูง ค่าน้ำมันที่แพงและระบบขนส่งมวลชนที่เป็นเลิศ ทำให้คนญี่ปุ่นที่มีอายุน้อยมีความสนใจในรถยนต์น้อยลง ครอบครัวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีรถเพียงคันเดียว ส่วนใหญ่เป็นรถเคคาร์หรือเอ็มพีวีขนาดเล็ก ผู้ที่มีใบขับขี่ในญี่ปุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีลดต่ำลงฮวบฮาบถึง 40% ในช่วง 10 หลังสุด

สำหรับบริษัทที่มีธุรกิจหลักคือการผลิตรถยนต์อย่างฮอนด้า ภารกิจสำคัญคือการกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นอีกครั้ง ถ้าฮอนด้าต้องการกระตุ้นให้คนทั่วไปได้สัมผัสความสนุกสนานในการขับขี่อีกครั้ง พวกเขาก็จำเป็นต้องพัฒนารถสปอร์ตที่มีขนาดเล็กลงและมีราคาถูกลง

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/mukumoto_coverb.jpg

“อย่างที่เราทราบดี คนอายุน้อยในญี่ปุ่นไม่ได้สนใจรถเหมือนในอดีต แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังสนใจในรถยนต์ ตอนที่เราจัดกิจกรรมเอส660 ผมได้พบปะกับคนขับรถอายุน้อยรายหนึ่งซึ่งมีป้าย ‘มือใหม่หัดขับ’ อยู่หลังรถ รถคันแรกของเขาคือเอส660 ซึ่งทำให้ผมเชื่อมั่นว่า เอส660 จะกระตุ้นความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาความสนุกในการขับขี่” มูคุโมโตะเผย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เอส660 จะเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ แต่ลูกค้าเอส660 ส่วนใหญ่กลับเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

“หนึ่งในแรงบันดาลใจในการทำงานสาขานี้ของผมก็คือการสนับสนุนให้เด็กๆ มีความสนใจในรถยนต์และความสนุกสนานที่ได้สัมผัสรถยนต์ รวมถึงการทำให้เด็กได้รู้สึกสนุกในการขับขี่ ผมต้องดึงดูดให้คนที่เป็นพ่อชอบขับรถสปอร์ต เพราะเมื่อพ่อชอบขับ ลูกก็จะชอบตามไปด้วย เด็กๆ จะคิดว่าการมีรถสปอร์ตสักคันมันเท่เหลือเกิน”

“ผมไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง แต่เป้าประสงค์ของผมคือทุกคนที่ชื่นชอบการขับรถ คนที่รักรถมักมีหัวใจที่ยังเด็กอยู่เสมอซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับเรามาก” มูคุโมโตะกล่าว

ใครจะคาดคิดว่าการแต่งตั้งเด็กอายุ 22 ปีซึ่งไม่มีปริญญาด้านวิศวกรรมให้เป็นผู้นำหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮอนด้าจะสร้างผลสำเร็จได้มากมายเพียงนี้


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ