เราใกล้จะเดินทางมาถึงวันหยุดสิ้นปี 2558 กันอย่างเป็นทางการมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนก็เริ่มประกาศหยุดทำงานไปเป็นที่เรียบร้อย แน่นอนว่าทีมงานออโต้สปินน์เองก็เริ่มประกาศหยุดงานกันบ้างแล้วเหมือนกัน
ปี 2558 ดูเหมือนจะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ดูนิ่ง ๆ ไปบ้าง จากการที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ก็ชะลอกันลงไป แต่ในภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าไม่ธรรมดา
เพราะในรอบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการหยุดพักเพื่อรอจังหวะการเติบโตที่แน่นอนว่ายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่ก็ยังมีความหวังว่าในปี 2559-2560 น่าจะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกลับมาฟื้นตัว
ออโต้สปินน์ได้รวบรวมเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในรอบปีที่ผ่านมา และเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะส่งผลกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตอันใกล้ ทั้งในด้านดีและด้านร้ายอย่างไม่แพ้กัน
เลื่อนมาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลย...
1.โครงสร้างภาษีใหม่ตัวป่วน ราคาใหม่ประกาศ 4 ม.ค.2559
กลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย กับการปรับโครงสร้างภาษียานยนต์ใหม่ตามการปล่อยไอเสีย ที่จะทำให้รถยนต์ปรับราคาขึ้นกันเป็นส่วนใหญ่
ผลกระทบในเรื่องของโครงสร้างราคาที่จะเปลี่ยนไป ยังไม่สับสนเท่ากับการบังคับใช้และความชัดเจนในการประกาศใช้ ทำให้ค่ายรถเองเกิดอาการเหวอไปสักระยะ ขณะที่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์เองก็ไม่แน่ใจว่าควรจะซื้อรถช่วงไหน เวลาไหนดี
แถมพอตัดสินใจจะซื้อรถรุ่นยอดนิยมก็ยังไม่มีรถให้ซื้ออีกต่างหาก เอาเป็นว่า ค่ายรถเกือบทุกค่ายเตรียมตัวประกาศราคาจำหน่ายรถยนต์ใหม่เกือบทั้งหมดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มกราคม 2559 ใครจะแพงขึ้น ถูกลง มารอดูกัน
2.โครงการอีโคคาร์ 2 นโยบายท่ามกลางเสียงบ่นของผู้ประกอบการ
มาสด้า 2 คือผู้กล้าที่ประกาศตัวเข้าโครงการอีโคคาร์ 2 อย่างเป็นทางการ แม้จะได้สิทธิ์ในการทำตลาดของอีโคคาร์เฟสแรกมาปีกว่า ๆ ก็ตาม แต่เมื่อปรับราคาโครงสร้างภาษีใหม่ ก็ทำให้เป็นรถยนต์รุ่นเดียวที่ทำราคาจำหน่ายลดลงได้ในปีหน้า
หากไม่นับมาสด้าแล้ว ค่ายรถอื่น ๆ ที่ประกาศตัวเข้าโครงการอีโคคาร์นั้นต่างเกิดอาการไม่สบอารมณ์กับโครงการนี้แบบต่างกรรมต่างวาระ ไล่ไปตั้งแต่การตั้งคำถามว่ารีบทำทำไม ไปจนถึงหงุดหงิดกับโครงการดังกล่าวเลยทีเดียว
แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ในช่วงครึ่งปีหลังจึงเกิดรายการฝุ่นตลบกับการปรับตัวแก้ปัญหา และกลายเป็นนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพิ่มแค่บางส่วน การเอาโครงการเฟสแรกไปสานต่อกับเฟสสอง ส่วนใครวิ่งไม่ทันก็แก้ตัวกันใหม่ปีหน้า
3.การเติบโตของครอสโอเวอร์-พีพีวี และการชะลอตัวของรถยนต์นั่ง
แน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ระดับโลก เมื่ออะไรเกิดขึ้นทั้่วโลก ประเทศไทยก็น่าจะมีทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไปในทิศทางที่ไม่แตกต่าง รวมถึงการเติบโตของตลาดรถที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งก็เช่นเดียวกัน
การเติบโตอย่างมากของกลุ่มรถยนต์ตรวจการณ์ทุกขนาดและทุกประเภท คือแนวทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทย รถยนต์กลุ่มครอสโอเวอร์กำลังได้รับความนิยม พอพอกับการเปิดตัวของกลุ่มพีพีวีอันแสนดุเดือดในปีนี้
จึงไม่ต้องแปลกใจอะไรที่บริษัทที่มีสินค้าในกลุ่มเหล่านี้ จะยังสามารถกอดแบ็กออเดอร์กันได้ข้ามปี โดยเฉพาะในกลุ่มพีพีวีที่ลูกค้าแย่งชิงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เชื่อสิว่า ปีหน้าคงมีคู่แข่งหน้าใหม่ตามมาอีกหลายรายเลยล่ะ
4.ตลาดรถยนต์หดตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ปีนี้เป็นอีกปีแห่งการหักปากกาเซียนทำนายตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ที่ต้องพลิกตำราปรับคำทำนายกันหลายต่อหลายรอบ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดูเหมือนจะผงกหัวขึ้นได้ในตอนแรก เอาเข้าจริง ๆ ก็ดูจะอาการหนักต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ความคาดหวังให้ตลาดกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากชะลอตัวไปในช่วงปีก่อนหน้านี้ พังทลายลงไปกับการหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 15-16% ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะกลับมาหดตัวลงลงเหลือ 11-12% ในช่วงไตรมาสที่ 3
แม้ในเดือนพฤศจิกายน ตลาดจะกลับมาเติบโตได้ครั้งแรกในรอบ 32 เดือน แต่ตัวเลขปีนี้ก็ยังต้องลุ้นเหนื่อยให้ไปถึงเป้า 7.7-7.8 แสนคัน ส่วนปีหน้านั้นงานหนักกว่า ที่แน่ ๆ ยังไม่ค่อยเห็นใครพูดอย่างเต็มปากเลยว่าตลาดรถยนต์จะโต
5.การเปลี่ยนแปลงของเชฟโรเลตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ปีนี้คงไม่พูดถึงค่ายโบว์ไทด์เชฟโรเลตไม่ได้ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี ซึ่งทำให้หลายคนเป็นห่วงถึงอนาคตของแบรนด์เชฟโรเลตในประเทศไทยว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ จากผลกระทบที่เกิดขึ้น
ถ้ายังจำกันได้ เชฟโรเลตประกาศปิดโรงงานที่อินโดนีเซียในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และแน่นอนว่าส่งผลกระทบมาถึงโรงงานไทยอย่างมากหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนสินค้าที่ทำตลาดในไทย หันไปโฟกัสแต่ปิกอัพ-เอสยูวี-พีพีวี การลดจำนวนพนักงานด้วยการประกาศสมัครใจลาออก รวมถึงการถอนตัวจากโครงการอีโคคาร์ 2 ซึ่งแม้จะน่าเสียดาย แต่ก็ทำให้จีเอ็มสามารถโฟกัสกับเรื่องในมือได้มากขึ้น
6.การถอนตัวจากโครงการอีโคคาร์ 2 ของโฟล์กสวาเกน
แม้จะได้รับการอนุมัติโครงการมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทจากบอร์ดบีโอไอสำหรับการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ 2 แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ดูเหมือนว่าโฟล์กสวาเกนจะตัดสินใจมองผ่านประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตในอนาคต
จริง ๆ แล้วข่าวเรื่องการเข้ามาทำตลาดของโฟล์กสวาเกนในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน รวมถึงการตั้งบริษัทลูกในเครือในประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาตลาดอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าไม่ใช่ข่าวแปลกใหม่อะไรนัก
อย่างไรก็ตาม แม้โฟล์กจะทำตัวเหมือนถอนตัวออกจากโครงการอีโคคาร์ไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สนใจประเทศไทยเสียทีเดียว เพราะยังไม่มีการประกาศลงทุนอย่างเป็นทางการที่อื่น และบริษัทที่ตั้งทิ้งไว้ในประเทศไทยก็ดูจะแอคทีฟมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ
7.โอละพ่อเทสล่า เรื่องฮาไม่ออกจากงานมหกรรมยานยนต์
แถลงข่าวเปิดตัวการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์เทสล่าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและยิ่งใหญ่ ด้วยการประกาศแผนงานที่ฟังแล้วดูมากเกินไปนิดกับเป้าหมายการจำหน่ายรถยนต์ 8,000 คันในปีแรก พร้อมโครงการสานฝันติดตั้งจุดชาร์ตไฟทั่วประเทศไทย
แต่ดูเหมือนฝันอันยิ่งใหญ่ก็พังลงไปง่าย ๆ เมื่อผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ตัดสินใจตัดสิทธิ์การนำรถยนต์เข้าแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยระบุว่าตัวแทนไม่สามารถแสดงความชัดเจนหรือเอกสารการเป็นตัวแทนของเทสล่าในไทยได้
ผ่านมา 1 เดือนยังไม่มีความเคลื่อนไหวมาจากฟากผู้ที่อ้างว่าเป็นพาร์ทเนอร์ของเทสล่า ขณะที่ทางผู้จัดถือเอกสารที่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากเทสล่า เอเชียแปซิฟิก งานนี้เป็นมาตรฐานใหม่ของวงการแสดงรถยนต์ ใครที่คิดจะทำเลียนแบบคงต้องคิดมาดีดี
ความคิดเห็น