เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1886 คาร์ล เบนซ์ยื่นจดสิทธิบัตรรถเบนซินที่เขาคิดค้นขึ้นอย่าง 1886 Benz Patent-Motorwagen ต่อสำนักงานสิทธิบัตรอาณาจักรเยอรมัน (German Imperial Patent Office) ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นการปูทางสู่การเป็น “รถคันแรกในโลก”
หลังจากการทบทวนและพิจารณาเอกสารอยู่นานหลายเดือน สำนักงานสิทธิบัตรเยอรมันได้อนุมัติสิทธิบัตรดังกล่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 1886
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หลายคนอาจโต้แย้งว่า Patent-Motorwagen ของคาร์ล เบนซ์ไม่ใช่รถคันแรกในโลก แต่มีนักประดิษฐ์หลายคนทำการคิดค้น “รถ” ขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี แต่หลายคนก็ระบุว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่า “รถยนต์” ได้อย่างเต็มปากเท่าใดนัก
ก่อนหน้า Patent-Motorwagen ของเบนซ์ นิโคลัส-โจเซฟ คูโยต์ นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสได้พัฒนารถพลังไอน้ำขึ้นมาซึ่งมีขนาดใหญ่เพียงพอต่อการบรรทุกผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แต่ตัวรถก็ไม่รองรับการใช้งานทั่วไปได้อย่างสะดวกสบาย และนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับว่านั่นคือรถคันแรกในโลก
แต่ Patent-Motorwagen ของเบนซ์ ซึ่งเป็นรถแบบสามล้อ ใช้น้ำมันเบนซิน สามารถเลี้ยวไปมาได้อย่างปลอดภัย และยังมีระยะทางขับเคลื่อนที่ไกลพอสมควร ถือเป็นทางเลือกใหม่แทนที่รถเทียมม้า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า สิทธิบัตรหมายเลข DRP 37435 ของ Patent-Motorwagen กลายเป็นต้นกำเนิดของรถยนต์คันแรกในโลกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
ปัจจุบัน สิทธิบัตรดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่ Memory of the World Programme หรือสำนักงานโครงการความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก เคียงข้างกับเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างกูเตนเบิร์ก ไบเบิล มหากฎบัตร แมกนา คาร์ตา และแมสในบันไดเสียงบีไมเนอร์ของโจฮานน์ เซบาสเตียน บาค
การจดสิทธิบัตรรถ Patent-Motorwagen ของทั้งคาร์ล เบนซ์และภรรยา เบอร์ธา ไม่ใช่เรื่องง่าย หากดูจากบริบทเชิงวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนีเมื่อ 130 ปีก่อน
ผู้คนทั่วไปในสมัยนั้นหวาดกลัวในสิ่งที่พวกเขาไม่มีความรู้และขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะ “รถยนต์” ที่ปราศจากม้าลาก แถมยังมีเสียงและรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาด ถือเป็นสิ่งที่ชวนขวัญผวาอย่างมากในตอนนั้น
เยอรมนีในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ยังปกคลุมด้วยความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มข้น กลุ่มคนอาวุโสจากศาสนจักรมองว่า งานคิดค้นของเบนซ์คือผลงานของปีศาจ พวกเขาเชื่อว่า มนุษย์ไม่ควรเดินทางโดยปราศจากม้า
ด้วยการถูกกีดกันจากสาธารณชน ทำให้คาร์ลต้องทำงานคนเดียวในบ้านที่ถูกดัดแปลงเป็นเหมือนห้องเวิร์กช็อปเล็กๆ อย่างเงียบเชียบ โดยได้แรงสนับสนุนจากภรรยาอย่างเบอร์ธาเท่านั้น การถูกต่อต้านทำให้คาร์ลยังขาดความมั่นใจในการนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน
หนึ่งปีก่อนการจดสิทธิบัตร คาร์ลทดสอบใช้งานรถของเขาบนถนนสาธารณะซึ่งทำให้คนทั่วไปหวาดกลัวกันอย่างมาก รถต้นแบบรุ่นแรกๆ ของเขาควบคุมยาก คาร์ลจึงขับรถพุ่งชนกำแพงซึ่งทำให้ผู้คนทั้งตกใจและขบขันผลงานของเขามากขึ้นไปอีก
แต่เบอร์ธายังคงยืนหยัดสนับสนุนสามี เธอไม่ใช่สตรีทั่วไปในยุคไกเซอร์ ศตวรรษที่ 19 แต่เธอมีความเฉลียวฉลาดและมีหัวก้าวหน้ากว่าสตรีในยุคเดียวกัน แต่สาเหตุเดียวที่ชื่อของเธอไม่ได้อยู่ในสิทธิบัตรร่วมกับคาร์ล ก็เพราะกฎหมายเยอรมันไม่อนุญาต
เบอร์ธา เบนซ์
สิ่งประดิษฐ์ของคาร์ล เบนซ์ได้รับเงินทุนสนับสนุนทั้งหมดจากเบอร์ธา ซึ่งเธอทุ่มเงินไว้ในบริษัทของสามี อย่างไรก็ตาม กฎหมายของเยอรมนีในยุคนั้นไม่อนุญาตให้คู่ครองมีบทบาทเป็นนักลงทุนได้ เบอร์ธาจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายในสิ่งที่สามีคิดค้น
แต่เบอร์ธาก็ยังคงทำงานร่วมกับคาร์ลในห้องเวิร์กช็อป และมีความเข้าใจในกลไกยานยนต์เป็นอย่างดี เธอเคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็น “นักขับรถทดสอบคนแรก” และยังลงมือซ่อมชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ด้วยตนเองโดยที่สามีของเธอไม่ทราบเรื่องอีกด้วย
ถึงแม้ผลงานของคาร์ลจะได้รับสิทธิบัตร แต่ก็ยังมีงานต้องทำอีกมากมายเพื่อที่จะต่อยอดสิทธิบัตรให้กลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ถึงแม้คาร์ลจะผลิตตัวรถมาถึงรุ่นที่สามหรือ Patent-Motorwagen Type III แต่เขาก็ยังไม่เชื่อมั่นว่า รถของเขาพร้อมที่จะจัดจำหน่ายจริง
เบอร์ธาเห็นต่างไปจากสามี ทำให้ทั้งคู่ต้องมีปากเสียงกันหลายครั้ง และเพื่อพิสูจน์ว่าเธอคิดถูก เบอร์ธาและลูกชายอีกสองคนได้แอบขับรถ Patent-Motorwagen ออกไปทดสอบเป็นระยะทาง 106 กม. จากแมนไฮม์ไปยังบ้านแม่ของเบอร์ธาที่ตั้งอยู่ในเมืองพฟอร์ซไฮม์ ซึ่งถือเป็นการขับรถทางไกลครั้งแรกในโลกก็ว่าได้
ลองจินตนาการว่า ในเวลานั้น เยอรมนียังไม่มีถนนลาดยาง ไม่มีป้ายจราจร ไม่มีช่างเทคนิค หรืออู่รับซ่อมรถ และแน่นอนว่าไม่มีปั๊มน้ำมันด้วย เบอร์ธาต้องเผชิญกับปัญหามากมายตลอดทาง แต่เธอก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปจนตลอดรอดฝั่ง
เมื่อเครื่องยนต์สูญเสียพละกำลัง เธอพบว่าสายเชื้อเพลิงอุดตัน เธอจึงใช้กิ๊บผมแยงสายเชื้อเพลิงให้เป็นปกติ เบอร์ธายังซ่อมระบบจุดระเบิดด้วยสายรัดถุงน่อง และยังขอให้ช่างซ่อมรองเท้าที่เจอระหว่างทางทำการติดตั้งแผ่นหนังที่ตัวเบรก ซึ่งกลายเป็นการคิดค้นผ้าเบรกชิ้นแรกในโลก
ตลอดทาง เธอจดสิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม อย่างระบบเกียร์ 2 สปีดซึ่งจำเป็นต้องมีเกียร์ต่ำอีกหนึ่งเกียร์สำหรับการไต่ขึ้นเนิน และจะต้องมีผ้าเบรกที่ดีกว่านี้
เมื่อเบอร์ธาเดินทางถึงเมืองพฟอร์ซไฮม์ในช่วงค่ำ เธอส่งโทรเลขกลับไปหาสามีทันทีโดยยืนยันว่า “ผลงานของเขาใช้งานได้ดี”
เรื่องราว “การขับทดสอบรถ” ของเบอร์ธายังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในเยอรมนี ซึ่งเรานำมาให้ชมกันด้านล่างนี้ (1:11:45 เป็นต้นไป)
สำหรับรถ Patent-Motorwagen ที่มีสภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งเดมเลอร์เชื่อว่ารถคันดังกล่าวอาจเป็นคันเดียวกับที่เบอร์ธา เบนซ์ ขับทดสอบครั้งประวัติศาสตร์ก็เป็นได้
ความคิดเห็น