ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในไฮไลท์ของงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ประจำปีนี้คือบูแกตติ ชีรอน ไฮเปอร์คาร์รุ่นใหม่ที่มาแทนที่เวย์รอน โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์และสมรรถนะที่สร้างมาตรฐานใหม่อย่างแท้จริง
หัวใจขับเคลื่อนของชีรอนคือเครื่องยนต์บล็อก W16 พ่วงด้วยเทอร์โบชาร์จ 4 ลูก มีความจุกระบอกสูบ 8.0 ลิตรเหมือนกับในเวย์รอน แต่เกือบทุกชิ้นส่วนได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อเพิ่มสมรรถนะ บูแกตติเคลมว่าเครื่องยนต์บล็อกนี้รีดพละกำลังสูงถึง 1,480 แรงม้า แรงบิด 1,180 ฟุตปอนด์
พละกำลังของชีรอนเพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับเวย์รอน ซูเปอร์สปอร์ต สาเหตุหลักมาจากการปรับบูสต์เทอร์โบเพิ่มขึ้น นั่นทำให้บูแกตติต้องใช้เทอร์โบที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบเทอร์โบซีเควนเชียล ซึ่งเทอร์โบลูกเล็กกว่า 2 ลูกจะทำงานที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,800 รอบ/นาที และเมื่อรอบเพิ่มสูงขึ้น เทอร์โบอีก 2 ลูกที่มีขนาดใหญ่กว่าจะทำหน้าที่แทน
ที่น่าทึ่งก็คือ แรงบิดสูงสุดของชีรอนมาที่รอบต่ำเพียง 2,000 รอบ/นาทีเท่านั้น แถมยังคงแรงบิดมหาศาลไว้จนถึง 6,000 รอบ/นาที อัตราเร่งจึงการันตี “หลังติดเบาะ” ราวกับเครื่องบินกำลังเทคออฟ
การวางเครื่องยนต์บล็อกมหึมาไว้ในตัวรถทำให้บูแกตติต้องเลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบา อย่างไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ อาทิท่อไอดี ระบบอัดอากาศและเฮาซิ่งโซ่สายพานทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ นอกจากนี้ เพลาข้อเหวี่ยงยังได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษเพื่อความแข็งแรงทนทานรับพละกำลังปานช้างสาร
คนที่คุ้นเคยกับระบบเทอร์โบชาร์จย่อมรู้ดีว่า ยิ่งเพิ่มแรงอัดอากาศมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มแรงดันเชื้อเพลิงและการหล่อเย็นด้วย บูแกตติจึงใช้หัวฉีดเชื้อเพลิง 32 หัวที่ทำงานอย่างซับซ้อน ว่ากันว่าชีรอนสามารถเผาผลาญน้ำมันให้หมดถังได้อย่างรวดเร็วถ้าพุ่งทะยานด้วยความเร็วสูงสุดนานเกิน 11 นาที ขณะที่เวย์รอนจะเผาน้ำมันหมดถังภายใน 12 นาทีถ้าขับด้วยความเร็วระดับ 300 – 400 กม./ชม.
อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะ คือระบบระบายไอเสียไทเทเนียม และการลดแรงดันไอเสีย มีการติดตั้งพรีคอนเวอร์เตอร์ 4 ตัวและคาทาไลติกคอนเวอร์เตอร์อีก 2 ตัวซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารถสแตนดาร์ดทั่วไป
การหล่อเย็นคืออีกหนึ่งปัจจัยที่บูแกตติให้ความสำคัญมาก โดยมีการติดตั้งหม้อน้ำถึง 10 ตัวสำหรับการหล่อเย็นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันไฮโดรลิก และส่วนอื่นๆการออกแบบตัวถังจึงต้องคำนึงถึงการรับอากาศและความลู่ลมตามหลักแอโรไดนามิก
ความคิดเห็น