อย่างที่เราเล่าให้ฟังในการปรับพื้นฐานก่อนเดินทางไปชมนวัตกรรมใหม่ของบริดจ์สโตนกันที่ประเทศญี่ปุ่น ว่าออโต้สปินน์ได้รับเชิญให้เป็นสื่อมวลชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เข้าร่วมงาน 2016 Bridgestone Media Tour ซึ่งค่ายยางเบอร์หนึ่งของโลกจัดเป็นครั้งแรก
เอาจริง ๆ ต้องเรียกว่าบริดจ์สโตนจัดงานนี้แบบเป็นโปรแกรมนำร่องที่เลือกเชิญนักข่าวจากเมืองไทยไปแค่ 2 หน่อ แถมไปแจมกับสื่อมวลชนเจ้าถิ่นที่ผลัดกันมาทำงานคนละวัน ก็เลยเป็นโปรแกรมใหม่ ๆ ที่มีอะไรขลุกขลักอยู่บ้างพอสมควร
ไม่มองเรื่องของการจัดงาน ต้องยอมรับว่าการที่บริดจ์สโตนเชิญไปบุกศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงการไปเดินชมโรงงานกันแบบเร็ว ๆ 1 รอบนั้น ก็ได้เปิดโลกให้กับสื่อมวลชน ที่แม้จะเดินชมโรงงานยางมาหลายแห่ง แต่ที่นี่แล้วถือว่าเป็นหนึ่งในที่สุด
นอกเหนือไปจากการเยี่ยมชมแล้ว เราได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของบริดจ์สโตนที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี แถมยังแชร์ข้อมูลรายละเอียดหลาย ๆ อย่างที่เราเคยสงสัยว่านอกเหนือจากการผลิตยางแล้ว บริดจ์สโตนทำอะไรอีกในตลาดโลก
ฮิเดโอะ ฮาระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ แผนกวางแผนองค์กร บริดจ์สโตน คอร์ปอเรชั่น ผู้ซึ่งอยู่กับบริดจ์สโตนมายาวนาน 38 ปี เป็นผู้เล่าประวัติของบริษัทให้ฟังว่าหลังจากก่อตั้งในปี 2474 ด้วยจำนวนพนักงาน 144 คนและทุนจดทะเบียน 1 ล้านเยน มาวันนี้บริดจ์สโตนเปลี่ยนไปมาก
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัทมีจำนวนพนักงาน 144,303 คน มีทุนจดทะเบียน 126.3 พันล้านเยน มียอดขายรวมกว่า 3,790.2 พันล้านบาท โดยมีโรงงานผลิต 166 แห่งใน 26 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยศูนย์เทคนิค 6 แห่งใน 5 ประเทศ พร้อมสนามทดสอบ 10 แห่งใน 8 ประเทศ
ยอดขายกว่า 80% มาจากการจำหน่ายยาง ซึ่งบริดจ์สโตนผลิตยางตั้งแต่ยางเครื่องจักรการเกษตร ยางรถยนต์ ยางเครื่องบิน ไปจนถึงยางสำหรับอุตสาหกรรมหนักที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร รวมไปถึงบริการหล่อดอกยางสำหรับรถบรรทุก
ขณะที่อีก 20% ที่เหลือ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอื่น ๆ อาทิ จักรยานที่มีตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่นและจีน อุปกรณ์กีฬา ระบบท่อยางความดันสูง ระบบขนส่ง ระบบรถโดยสารสาธารณะแบบราง ไล่ไปจนถึงความภาคภูมิใจล่าสุดกับระบบยางเพื่อป้องกันการพังทลายของอาคารจากแผ่นดินไหว
"สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือยางรถยนต์นั้นไม่ใช่แค่ก้อนโดนัทสีดำ แต่ยางประกอบด้วยโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากมาย และยังประกอบไปด้วยองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวยาง ไฟเบอร์ โลหะ ที่ยึดติดกันด้วยคุณสมบัติทางเคมีหลายประการ"
ฮาระบอกว่าแม้ยางจะเป็นชิ้นส่วนเดียวของรถยนต์ที่สัมผัสกับพื้นถนนเมื่อยามขับขี่ แต่สิ่งที่รองรับน้ำหนักของรถอย่างแท้จริงคือลมแรงดันสูงที่อยู่ในตัวยางเท่านั้น จึงเป็นความพยายามของผู้ผลิตยางในการสร้างสรรค์ยางรถยนต์ออกมาเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้ให้ดีที่สุด
อย่างที่เราบอกแล้วว่ายางรถยนต์นั้นมีองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวยาง ตัวแก้มยาง ขอบวงล้อ เข็มขัดคาดหน้ายาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งรายละเอียดขององค์ประกอบแต่ละส่วนก็มีความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป
คำถามแรกที่เราอยากรู้ก็คือทำไมยางต้องสีดำ เพราะยางธรรมชาตินั้นมีสีขาว ฮาระบอกว่าในการผลิตยางนั้น ยางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของเนื้อยาง แต่จริง ๆ แล้วในการผลิต จำเป็นที่จะต้องนำยางสังเคราะห์อื่น ๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อคุณสมบัติที่แตกต่าง
แต่ตัวการที่ทำให้ยางมีสีดำก็คือคาร์บอนแบล็กที่มีการผสมเข้ามาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเนื้อยางมากขึ้น รวมถึงในขั้นตอนการผสมจะมีการผสมส่วนผสมอื่น ๆ อาทิ ซัลเฟอร์เพื่อใช้ในการยึดโมเลกุลของยางให้มีความเหนียวแน่น เป็นต้น
ขณะที่ในขั้นตอนของการผลิตที่จะขอยกยอดไว้พูดต่อไปนั้นก็ถือว่ามีความสลับซับซ้อนไม่แพ้กันในการเตรียมองค์ประกอบของยางแต่ละส่วนไปจนถึงขั้นตอนของการอบขึ้นรูปให้เป็นยางรถยนต์แบบที่เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
ขอยกยอดไว้เล่าเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายไว้ตอนต่อไปก็แล้วกันนะครับ!!!
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น