หลายคนอาจคิดไม่ออกว่าการขับรถแบบไม่มีไฟหน้าจะเป็นอย่างไร แต่คนยุคก่อนหน้าตั้งแต่ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีความคุ้นชินอยู่แล้วกับการขับขี่ในความมืด
ฟอร์ด มอเตอร์ คอมพานีส่งภาพวิวัฒนาการของระบบไฟส่องสว่างในรถหลายรุ่น เริ่มตั้งแต่โมเดล ทีในปี 1908 ซึ่งเป็นสมัยที่ยังไม่มีไฟหน้า ก่อนจะมีการพัฒนามาถึงโมเดล วายในปี 1932 แองเกลียปี 1966 เฟียสต้ารุ่นปี 1976 มอนเดโอ 1994 และรุ่นปัจจุบันอย่างมัสแตง 2016
ไมเคิล โคเฮอร์ วิศวกรในทีมวิจัยและพัฒนาระบบไฟส่องสว่างของฟอร์ดระบุว่า “ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีไฟหน้า เราเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ว่าได้ ถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมที่ได้รู้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีไฟหน้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่และความปลอดภัยบนท้องถนนได้มากเพียงใด”
“เราเริ่มต้นจากความสว่างอันน้อยนิดที่มากกว่าแสงเทียนเล็กน้อยมาจนถึงไฟซีนอนและแอลอีดีที่ให้ความสว่างกว้างไกลมาก ขณะที่ในอนาคต เราจะได้เห็นไฟแอลอีดีที่สว่างยิ่งกว่านี้อีก วิสัยทัศน์ในการขับขี่ยามค่ำคืนจะดีขึ้นเรื่อยๆ” โคเฮอร์กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ไฟส่องสว่างในรถยนต์ยุคแรกๆ ใช้โคมไฟน้ำมันที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความสว่างแก่คนขับ แต่ต้องการให้คนอื่นเห็นตัวรถที่กำลังแล่นมามากกว่า ขณะที่ไฟส่องสว่างแบบไฟฟ้าในยุคแรกเริ่มนั้นชำรุดง่าย และยังไม่สว่างมากนักหากเทียบกับในปัจจุบัน
คาดิลแลคเป็นแบรนด์แรกในโลกที่แนะนำระบบไฟส่องสว่างแบบไฟฟ้ายุคใหม่ในปี 1912 ก่อนที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นระบบไฟสูงและไฟต่ำในปี 1924 ส่วนการ “ปฏิวัติ” ระบบไฟส่องสว่างในรถยนต์ที่แท้จริงเกิดขึ้นในปี 1962 เมื่อมีการใช้ก๊าซเฉื่อยในหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา ซึ่งช่วยเพิ่มความสว่างและอายุใช้งานอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหลอดฮาโลเจน
ปัจจุบัน รถสมัยใหม่ยังใช้ระบบฮาโลเจนเช่นเดิม แต่ไฟซีนอนและแอลอีดีก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะมีความสว่างมากกว่าฮาโลเจนหลายเท่าตัวและใช้งานได้นานกว่าด้วย เหมาะสำหรับรถยุคใหม่ที่มีพละกำลังมากขึ้นและมีอัตราเร่งดีกว่ารถในยุคก่อนหน้า
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น