เปิดความเห็นประธาน JTEKT: “ซัพพลายเออร์ต้องนำหน้าผู้ผลิตรถยนต์ในระบบขับขี่อัตโนมัติ” Share this

เปิดความเห็นประธาน JTEKT: “ซัพพลายเออร์ต้องนำหน้าผู้ผลิตรถยนต์ในระบบขับขี่อัตโนมัติ”

Satapana
โดย Satapana
โพสต์เมื่อ 17 March 2560

ไม่เพียงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังขะมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติอย่างเต็มกำลัง แต่ซัพพลายเออร์จะต้องก้าวตามให้ทันกระแสยานยนต์โลกเพื่อแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพระยะยาวด้วย

เจเทค (JTEKT) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการผลิตพวงมาลัยก็จะต้องปรับตัวครั้งสำคัญเพื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติเช่นกัน แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรเมื่อรถยนต์ในอนาคตจะสามารถโลดแล่นไปได้เอง และมนุษย์มีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/timthumb.jpg

เท็ตสึโอะ อากาตะ ประธานกรรมการ เจเทค คอร์ปเฝ้าถามคำถามนี้กับตนเองและพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง เขาเป็นผู้กุมบังเหียนซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ของโตโยต้า กรุ๊ปที่ดำเนินการผลิตระบบบังคับเลี้ยวและพวงมาลัยคิดเป็นสัดส่วน 25% ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และติดอันดับท็อป 20 ในรายชื่อซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลก

อากาตะยอมรับว่า เจเทคจะต้องมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับระบบขับขี่อัตโนมัติและระบบความปลอดภัยที่ก้าวล้ำหน้า โดยจะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อบริษัทรถยนต์เริ่มทำตลาดรถยนต์ขับขี่กึ่งอัตโนมัติ

เขาระบุว่าการพัฒนาเทคโนโลยีพวงมาลัยไฟฟ้า (steer-by-wire) และระบบซ้ำซ้อน (redundancy systems) คือปัจจัยสำคัญสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสำหรับใช้ในรถไร้คนขับ โดยระบบซ้ำซ้อนจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของรถขับขี่อัตโนมัติ ขณะที่พวงมาลัยไฟฟ้าจะเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่และง่ายดายในการใช้งาน

ระบบซ้ำซ้อนจะทำหน้าที่เป็นเหมือน “ผู้เล่นสำรอง” ที่จะเข้ามาควบคุมรถขับขี่อัตโนมัติในกรณีที่ระบบหลักทำงานล้มเหลว ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเพราะจะทำให้แน่ใจว่าตัวรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เองอย่างปลอดภัยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ผู้ขับขี่สามารถเอนหลังพักผ่อน อ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งนอนหลับสักงีบภายในรถตลอดการเดินทาง

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/steering-supplier-reinventing-wheel-5.jpg

พวงมาลัยไฟฟ้าจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สองตัวที่จะเป็น “แบ็กอัพ” ให้กันและกันได้ โดยในด้านซอฟต์แวร์ ระบบบังคับเลี้ยวต้องมีวงจรแบ็กอัพที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนตัวแรกหากเกิดการชำรุด เช่นเดียวกับมอเตอร์ของพวงมาลัยที่จะต้องมีตัวที่สองเพื่อสำรองตัวแรก

“เราจะต้องมีระบบบังคับเลี้ยวแบบซ้ำซ้อนหรือสองชุดในเซ็ทเดียว เพื่อที่จะยกระดับความปลอดภัยสูงสุด” อากาตะกล่าวย้ำ

เจเทคกำลังพัฒนาเทคโนโลยีซ้ำซ้อนดังกล่าวและมีกำหนดการนำเสนอให้บริษัทรถยนต์อย่างเร็วที่สุดภายในปีหน้า สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทรถยนต์หลายรายที่ต้องการนำเสนอรถขับขี่อัตโนมัติภายในปี 2020

“เราจะต้องดำเนินการพัฒนาให้เสร็จสิ้นก่อนปี 2020 ก่อนที่เราจะนำเสนอต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เราจะต้องก้าวนำหน้าพวกเขา นั่นคือหนทางแห่งความอยู่รอดของเรา” ประธานเจเทคเผย

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เจเทคกำลังพัฒนาคือระบบพวงมาลัยไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่จะไม่มีการเชื่อมต่อกลไกระหว่างพวงมาลัยและล้อรถอีกต่อไป แต่ระบบใหม่จะแปลงการบังคับพวงมาลัยให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่จะควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนจะส่งต่อไปถึงล้อ

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/steering-supplier-reinventing-wheel-3.jpg

รถขับขี่อัตโนมัติไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชั่นพวงมาลัยไฟฟ้า แต่ก็จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีด้วยระบบดังกล่าว

อากาตะชี้ว่าประโยชน์ของการพัฒนาระบบพวงมาลัยไฟฟ้าแบบใหม่คือการออกแบบตัวรถ เนื่องจากถ้าไม่มีกลไกก็จะไม่มีชุดและแกนพวงมาลัย เปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์จะสามารถออกแบบเบาะที่นั่งของรถในอนาคตให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นราวกับนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นได้ ทำให้ผู้โดยสารสามารถหยิบโน้ตบุ๊กขึ้นมาทำงานหรือเอนหลังชมภาพยนตร์ระหว่างเดินทาง

นั่นเป็นภาพของรถในอนาคตตามความคิดของอากาตะซึ่งจะไม่มีพวงมาลัย หรือมีพวงมาลัยแต่สามารถพับเก็บได้

“เมื่อรถขับขี่อัตโนมัติมาถึงจริงๆ รูปร่างหน้าตาของตัวรถอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง” อากาตะกล่าวเสริม “บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่ชอบกลไกของระบบบังคับเลี้ยวเพราะเป็นข้อจำกัดในการออกแบบตัวรถ มันกินเนื้อที่มาก แถมยังเป็นเนื้อที่ที่ส่งผลต่อการออกแบบเสียด้วย”

ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่

ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ