เอกชนติงรัฐควรมีหลักเกณฑ์เลือกใช้แบตเตอรี่ให้ชัดเพื่อการพัฒนาสู่รถ EV ในอนาคต ย้ำหนุนลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเป็นเรื่องดี
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังเสนอ มาตรการยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยสรุปสาระสำคัญ ออกประกาศกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราพิเศษโดย รถยนต์ไฮบริด และ รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ลงกึ่งหนึ่งจากอัตราภาษีเดิมที่อยู่ที่ 10-25% และรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลดจากอัตราภาษีปกติ 10% เหลือ 2% โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการอนุมัติโครงการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป
แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนมาตรการลดภาษีสรรพสามิต เพราะถือว่าผิดวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถใช้แบตเตอรี่ชนิดใดก็ได้ในการผลิตรถไฮบริด เป็นการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากแบตเตอรี่สำหรับรถไฮบริด คือ ลิเธียมไอออนและนิเกิลไฮดรายด์ เป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยต่างกัน โดยเฉพาะนิเกิลไฮดรายด์เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าไม่สามารถพัฒนาไปสู่กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าได้ ดังนั้น รัฐไม่ควรสนับสนุนสิทธิประโยชน์แบตเตอรี่ดังกล่าว
เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า นิสสันจะมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า( EV) เป็นหลัก เนื่องจากเทคโนโลยีของนิสสันเน้นที่รถยนต์ไฟฟ้า แต่หากลงทุนเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวทำให้การตัดสินใจลงทุนยาก เพราะไม่เกิดความคุ้มทุนในการผลิต จะต้องลงทุนในส่วนของแบตเตอรี่รถปลั๊กอินไฮบริด หรือรถไฮบริดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียด
ทั้งนี้ เรื่องลดภาษีสรรพสามิตทำให้ภาคเอกชนสับสนแต่ก็เข้าใจภาครัฐว่าเทคโนโลยีรถยนต์เกิดเร็วมาก รัฐบาลต้องตามให้ทัน จึงต้องการให้มองภาพรวมว่าไทยต้องเดินหน้า และการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มดังกล่าวมีราคาต่ำลง
โมริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในส่วนของมิตซูบิชิ ขอรอดูรายละเอียดทั้งหมดในกรอบการลงทุน แต่นโยบายมิตซูบิชิจะไม่ลงทุนรถยนต์ไฮบริด แต่จะให้ความสนใจการลงทุนรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า โดยขึ้นอยู่กับความพรัอมของตลาดว่ามีความต้องการสินค้าแบบใด
นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตไฮบริดลงครึ่งหนึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในเรื่องของอีโคโนมีออฟสเกลและเทคโนโลยีไฮบริดยังสามารถมีตลาดส่งออกได้อีกด้วย โดยนโยบายหลังจากนี้โตโยต้าจะใช้พื้นฐานการผลิต (คอมมอนแพล็ตฟอร์ม) จากเทคโนโลยีไฮบริดสู่การพัฒนาต่อยอดไปยังเทคโนโลยี รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, รถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (ฟิวเซลล์)
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น