กระทรวงการคลังประกาศเดินหน้าลดภาษีสรรพสามิตเน้นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ ส่งผลดับเบิลแค็บ-พีพีวี-รถยนต์นั่งไฮบริดเสียภาษีสุดถูก ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าลดภาษีเหลือ 2% ค่ายรถชรี้มีโอกาสที่ราคารถไฮบริดปรับตัวลง 10-20% เทียบเท่ารถยนต์นั่ง
จากประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีสรรพสามิตร (ฉบับที่ 138) ประกาศ ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2560 ที่ได้ระบุการลดภาษีรถที่เกี่ยวข้องกับระบบไฮบริดและระบบไฟฟ้าหลายการ ทำให้มีการคาดการณ์ว่านี่คือการเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฮบริคใหม่ออกมานั้น ตนเห็นด้วย เพราะจะทำให้ราคารถยนต์ไฮบริดลดลง 10-20% หรือเทียบเท่ากับรถยนต์รุ่นเดียวที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
"ที่ผ่านมา รถยนต์ไฮบริดขายได้ แต่น้อย เนื่องจากมีราคาสูง เมื่อรัฐลดภาษีสรรพสามิตลง ทำให้รถมีราคาถูกช่วยจูงใจผู้ซื้อได้มากขึ้น แต่การพิจารณาราคาต้องขึ้นกับนโยบายของบริษัทรถยนต์แต่ละค่ายด้วย ส่วนองค์ประกอบที่ว่า จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ได้ในช่วงใด ขณะนี้ยังตอบไม่ได้เพราะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆไว้ด้วยกัน เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า"
อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นเป็น 80% เพราะต้องการลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับประกาศดังกล่าว มีเนื้อหาที่สำคัญประกอบไปด้วย หนึ่ง การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (พีพีวี) ที่ใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซี. เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) และปล่อยไอเสียไม่เกิน 175 กรัมต่อกิโลเมตร ให้เหลือเพียง 23%
สอง การประกาศลดภาษีสำหรับรถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิลแค็บ) ที่ใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซี. เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) และปล่อยไอเสียไม่เกิน 175 กรัมต่อกิโลเมตร ให้เหลือเพียง 10% เท่านั้น
สาม การลดอัตราภาษีสำหรับรถยนต์นั่งแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) และมีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี. จะได้รับการลดภาษีลงกึ่งหนึ่งจากอัตราเดิมที่เคยชำระอยู่ และสี่ การลดภาษีให้รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ลงเหลือ 2%
ทั้งนี้ ในการลดภาษีข้อ 3 และ 4 จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือจะต้องเป็นรถที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จะต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลดภาษีมายังกรมสรรพสามิตและนับจากปีที่ 5 จะต้องใช้แบตเตอรี่ที่ได้รับการผลิตจากผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามว่าโครงสร้างภาษีใหม่นั้นจะเป็นการพิจารณาเพื่อหนุนค่ายรถบางรายหรือไม่ โดยแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า การปรับลดโครงสร้างภาษีสำหรับรถยนต์ไฮบริดเป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมด
สำหรับโครงสร้างใหม่นั้น หากมองในเรื่องการลดภาษีให้กับรถพีพีวีและรถดับเบิลแค็บที่เสียอยู่ 25% และ 15% จากการปล่อยไอเสีย 200 กรัมต่อกิโลเมตรก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะลดภาษีให้แลกกับการใช้ไฮบริดและการปล่อยไอเสียลดลงเหลือ 175 กรัมต่อกิโลเมตร
หรือการลดภาษีให้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยมลพิษเลยลงไปเหลือ 2% จากที่ประกาศต้องจ่ายที่ 5% หากมองไปที่เทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกและการสสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศก็ไม่เป็นเรื่องที่แปลกแต่อย่างใด
“ที่น่าสงสัยก็คือกลุ่มรถยนต์นั่งไฮบริดที่ก่อนหน้านี้มีการประกาศอัตราภาษีที่แตกต่างด้วยการปล่อยไอเสียที่มากหรือน้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร ในโครงสร้างใหม่ไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้ แต่กลับลดภาษีให้กึ่งหนึ่งทันที เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้ง”
ทั้งนี้ การประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ครั้งล่าสุดสำหรับรถยนต์ไฮบริด มีการประกาศใช้เกณฑ์การปล่อยไอเสียสำหรับรถกลุ่มนี้ โดยหากทำได้น้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตรจะเสีย 10% และหากปล่อยมากกว่านี้จะเสียที่ 20%
อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมในอัตราภาษีหมวดดังกล่าวสามารถปล่อยไอเสียที่ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตรทั้งสิ้น ยกเว้นค่ายรถยนต์เพียงค่ายเดียวที่ปล่อยไอเสียมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เสียภาษีมากกว่าคู่แข่งอยู่ในปัจจุบันก่อนที่ประกาศครั้งล่าสุดจะออกมา
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่และรถมือสอง ตรวจสอบราคา เชิญที่นี่
ความคิดเห็น