ช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 นับเป็นยุคทองของฮอนด้าก็ว่าได้ ไอร์ตัน เซนน่า ผงาดพาทีมแมคลาเรน ฮอนด้าคว้าแชมป์ฟอร์มูล่าวัน ขณะที่ผลงานนอกสนามแข่ง ฮอนด้าก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
กลางทศวรรษที่ 1970 วิศวกรของฮอนด้ายกระดับความประหยัดน้ำมันและลดมลพิษด้วยเครื่องยนต์ CVCC ส่วนในช่วงทศวรรษ 1980 ซีวิคและแอคคอร์ดได้สร้างมาตรฐานใหม่ในตลาดรถซีดานของอเมริกา ฮอนด้ากลายเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าอย่างอีวี พลัส ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดรถปราศจากมลพิษของแคลิฟอร์เนียในเวลานั้น
แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาเกือบ 30 ปี ช่วงเวลาอันหอมหวานในวงการมอเตอร์สปอร์ตของฮอนด้าแปรเปลี่ยนเป็นอุปสรรคมากมาย ความร่วมมือของทีมฮอนด้า แมคลาเรนในเวลานี้กำลังมีปัญหาหนักหน่วง เนื่องจากทีมแข่งแมคลาเรนที่ใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้ายังไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลย และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะแยกทางกันเดินในอีกไม่ช้า
สำหรับรถโปรดักชั่น ฮอนด้าต้องเผชิญกับการเรียกคืนหลายสิบล้านคันทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกจากปัญหาถุงลมนิรภัย ขณะที่รถฟิต (แจ๊ส) และวีเซล (เอชอาร์-วี) ก็ถูกเรียกคืนจากปัญหาระบบเกียร์ ฮอนด้ายังไม่มีศักยภาพทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้าแข่งขันกับเจ้านวัตกรรมอย่างเทสล่าได้
ทาคาฮิโระ ฮาชิโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮอนด้าให้สัมภาษณ์ถึงจุดอ่อนของฮอนด้าในขณะนี้ “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรากำลังสูญเสียแนวทางหลักของเรา เรากำลังลืมแนวทางที่เราเป็นบริษัทผู้พัฒนาวิศวกรรมที่ทำให้ฮอนด้ากลายเป็นฮอนด้าเหมือนทุกวันนี้”
ฮาชิโกะเข้าทำงานกับฮอนด้าในฐานะวิศวกรในปี 1982 และไต่เต้าขึ้นจนถึงตำแหน่งซีอีโอในเดือนมิถุนายน 2015 ปัจจุบันเขากำลังเดินกลยุทธ์การปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อส่งเสริมให้วิศวกร “ลองเสี่ยงทำสิ่งใหม่ๆ” และหวนคืนสู่โครงสร้างองค์กรแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ฮาชิโกะตัดสินใจเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งทีมเล็กๆ ขึ้นมาใหม่หนึ่งชุด ซึ่งประกอบด้วยวิศวกร ผู้จัดการ และนักวางแผนผลิตภัณฑ์ของฮอนด้า ทีมชุดใหม่ดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากทีมงานชั้นหัวกะทิที่ทำหน้าที่พัฒนาอากาศยานของล็อกฮีดมาร์ติน ทีมนักออกแบบของแอปเปิล และทีมนักพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติที่กูเกิล
ดูเหมือนว่าทีมผู้บริหารของฮอนด้าก็เห็นคล้อยตามความคิดของซีอีโอที่ว่าฮอนด้ากำลังเดินผิดทาง จนสูญเสียความเป็นผู้สร้างนวัตกรรมไปแล้ว
ฮอนด้า “ติดกับ” อยู่ในหลุมพรางที่วัฒธรรมญี่ปุ่นเรียกว่า “โมโนะซูคูริ” หรือการมุ่งเน้นที่การผลิตเป็นหลัก วัฒนธรรมดังกล่าวถูกส่งเสริมโดยไคเซ็นหรือการจัดระเบียบสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำตลาด เพราะบริษัทรถยนต์ต้องแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมอย่างระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ และอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารของฮอนด้ายังควบคุมต้นทุน พร้อมกับจำกัดงบด้านการวิจัยและการพัฒนามากเกินไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถือหุ้นจ้องมองแต่ตัวเลขมากกว่านวัตกรรม นำมาซึ่งการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในองค์กรเพราะมัวแต่มุ่งเน้นผลกำไรและจำนวนการผลิตมากเกินไป
โยชิยูกิ มัตสึโมโตะ
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ฮอนด้ายังมัวแต่หมกมุ่นกับการเอาชนะคู่แข่งตลอดกาลอย่างโตโยต้า
โยชิยูกิ มัตสึโมโตะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของฮอนด้ากล่าวว่า “สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงก็คือ ในขณะที่เราหมกหมุ่นกับการเอาชนะคู่แข่งอย่างโตโยต้าด้วยการทำยอดขายให้เหนือกว่าในหลายเซกเมนท์ แต่เรากลับดำเนินธุรกิจเหมือนโตโยต้า เราลืมไปแล้วว่าฮอนด้าเริ่มต้นธุรกิจมาจนถึงตรงนี้ได้ยังไง”
รายได้ของฮอนด้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราส่วนผลกำไรอยู่ที่ 6.0 ในช่วงสิ้นสุดปีงบประมาณ 31 มีนาคมที่ผ่านมา น้อยกว่าโตโยต้าเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 7.2 แต่ขณะเดียวกัน คุณภาพรถของฮอนด้าก็ปรับลดลงจากการสำรวจของเจดีพาวเวอร์
มัตสึโมโตะยอมรับด้วยว่า ทีมฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของฮอนด้าขาด “ความหลากหลาย” ทั้งในแง่บุคลากรและทางความคิด
“คุณจะเห็นแต่คนญี่ปุ่นในที่ทำงานของเรา แต่เรากำลังปรับปรุงศูนย์เทคโนโลยีของเราทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยและจีนให้เป็นเหมือนศูนย์สาขาของเราในญี่ปุ่น เราเห็นพ้องกันว่าการมีแต่คนญี่ปุ่นไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก” มัตสึโมโตะกล่าว
แนวทางปัจจุบันของฮอนด้าต้องได้รับการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรม ทั้งเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังพลิกโฉมการออกแบบรถยนต์อย่างสิ้นเชิง
“อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นผงาดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการคิดค้นนวัตกรรมมากมาย แต่เราจำเป็นต้องมีแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ทั้งหมด เพื่อพัฒนารถยนต์แห่งอนาคตที่มีทั้งระบบไฟฟ้า การขับขี่อัตโนมัติ และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ” มัตสึโมโตะเผย
ที่ผ่านมา ฮอนด้าบรรลุข้อตกลงกับบริษัทพันธมิตรในการพัฒนารถแห่งอนาค ไม่ว่าจะเป็นกับฮิตาชิที่พัฒนาและผลิตมอเตอร์ หรือดีลกับเจนเนอรัล มอเตอร์สในการผลิตระบบไฮโดรเจนฟิวเซล รวมถึงความร่วมมือกับอัลฟาเบตของกูเกิลที่จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ
พลังขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปองค์กรถูกฝากไว้กับทีมเล็กๆ ขึ้นมาใหม่ที่พูดถึงข้างต้น ซึ่งทั้งฮาชิโกะและมัตสึโมโตะส่งเสริมกลยุทธ์นี้อย่างเต็มกำลัง
ทีมงานชุดใหม่ของฮอนด้ามีเป้าหมายพัฒนารถยนต์ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยอย่างระบบวิศวกรรมเสมือนจริง การออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ และขจัดกระบวนการที่ล้าช้าแบบราชการออกไปด้วย
ดังนั้น แฟนพันธุ์แท้ของฮอนด้าที่เติบโตมากับขุมพลัง VTEC ในยุคแรกเริ่มก็ได้แต่หวังว่าจะได้เห็นแบรนด์ในดวงใจยืนอยู่แถวหน้าในด้านการพัฒนานวัตกรรมอีกครั้ง
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น