เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันเกิดของโชจิโระ อิชิบาชิ หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการยานยนต์ของญี่ปุ่น เราจึงขอนำเรื่องราวของเขามาฝากกัน
หลายคนที่ติดตามข่าวคราวอุตสาหกรรมยานยนต์แดนอาทิตย์อุทัยย่อมคุ้นชื่อโชอิจิโระ ฮอนดะ, คิชิโระ โตโยดะ หรือจูจิโระ มัตสุดะ แต่คงมีน้อยคนที่จะเคยได้ยินชื่อ “อิชิบาชิ” ซึ่งเมื่อแปลชื่อของเขาเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวก็คือ “stone bridge” อันเป็นที่มาของชื่อบริษัท “Bridgestone” ที่โด่งดังในปัจจุบันนั่นเอง
อิชิบาชิเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1889 ในครอบครัวที่ทำธุรกิจตัดเย็บผ้า เขาสานต่อธุรกิจดังกล่าวตั้งแต่อายุ 17 ปี อิชิบาชิใช้ความเชี่ยวชาญในการตัดเย็บผ้าต่อยอดไปทำถุงเท้าภายใต้บริษัทแรกของเขาที่มีชื่อว่า นิปปอน ทาบิ คอมพานี
ถุงเท้าทาบิแบบดั้งเดิมในเวลานั้นฉีกขาดง่ายมาก อิชิบาชิจึงปรับปรุงความทนทานด้วยการใส่วัสดุยางเข้าไปในเนื้อผ้า จึงเป็นที่มาของถุงเท้ารูปแบบใหม่ที่มีชื่อ “จิกะ-ทาบิ” เป็นการผสมผสานระหว่างรองเท้ายางแบบตะวันตกเข้ากับทาบิแบบญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมสวมใส่จากเกษตรกรและคนใช้แรงงานหนักทั่วประเทศญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
ในเวลานั้น อิชิบาชินำเข้ารถยนต์อเมริกัน (ไม่ทราบยี่ห้อ) เข้ามาในญี่ปุ่น โดยประทับชื่อบริษัทไว้ด้านข้างตัวรถและขับโปรโมทไปทั่วเมืองคูรูเมะ บ้านเกิดของเขา นั่นทำให้เขาเริ่มต้นผูกพันกับรถยนต์และเข้าสู่วงการยานยนต์ในที่สุดด้วยการก่อตั้งโรงงานผลิตยางแห่งแรกของญี่ปุ่นซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่รถยนต์เริ่มแพร่หลายอย่างมากในแดนซามูไร
ถึงแม้ธุรกิจของอิชิบาชิจะมุ่งเน้นตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่เขามีความมุ่งมั่นที่จะขยายสู่ตลาดส่งออกไปทั่วโลก เขามีชุดความคิดที่แตกต่างจากคนญี่ปุ่นในยุคก่อน เนื่องจากชื่นชอบการเดินทางไปในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตยางรถยนต์ อิชิบาชิจึงตระหนักว่าตลาดทั่วโลกคือโอกาสของเขาที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด
แต่อิชิบาชิรู้ดีกว่า ชื่อของเขานั้นยากที่จะออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำการแปลชื่อของเขาตรงตัวพร้อมกับการก่อตั้งบริษัทนามว่า “บริดจสโตน” ก่อนเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรกในเดือนเมษายน 1930 โดยพนักงานที่อยู่ในบริษัทนิปปอน ทาบิ คอมพานีนั่นเอง
ในปี 1931 บริดจสโตนแยกตัวออกเป็นอิสระภายใต้ชื่อ บริดจสโตน ไทร์ คอมพานี เราคงไม่ต้องสาธยายถึงตำนานความสำเร็จจวบจนถึงปัจจุบัน
บริดจสโตน ไม่ได้ผลิตเฉพาะยางรถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมาย อาทิ แท่นยางอุตสาหกรรมสำหรับใช้กับอาคารเพื่อทนทานต่อแรงแผ่นดินไหว รวมถึงยางขนาดใหญ่สำหรับรถบรรทุกและเครื่องบิน ตลอดจนลูกกอล์ฟอีกด้วย
ปัจจุบัน บริดจสโตนเป็นบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของรายได้ โดยในปี 2016 บริดจสโตนมีรายได้ถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นำหน้าทั้งมิชลินของฝรั่งเศส กู้ดเยียร์ของสหรัฐอเมริกา คอนติเนนตอลของเยอรมนี และพิเรลลีของอิตาลี
โชจิโระ อิชิบาชิไม่เพียงสร้างอาณาจักรด้านการผลิตยางรถยนต์เท่านั้น เขายังอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งนิสสัน มอเตอร์ คอมพานี และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เขายังช่วยสนับสนุนให้เกิดรถในตำนานหลายรุ่น รวมถึงลีฟ และจีที-อาร์
นิสสันไม่ใช่บริษัทรถยนต์ที่เกิดจาก “ความฝันของปัจเจกบุคคล” เหมือนกับโชอิจิโระ ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้า และคิอิชิโระ โตโยดะแห่งโตโยต้า แต่นิสสันเกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งโดยนักอุตสาหกรรมชาวญี่ปุ่นหลายคน
ในปี 1949 อิชิบาชิเป็นหนึ่งในนักลงทุนหลักของบริษัทโตเกียว อิเลกทริก คาร์ คอมพานี ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะเปลี่ยนชื่อเป็นทามะ อิเลกทริก คาร์ คอมพานี และทำการผลิต ทามะ อิเลกทริก คาร์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่นิสสันเคลมว่าเป็นต้นแบบของนิสสัน ลีฟ ทามะมีระยะทางขับเคลื่อน 96 กม. ทำท็อปสปีดได้ 35 กม.ต่อชม. และถูกใช้เป็นรถแท็กซี่ในแดนปลาดิบจนถึงปี 1950
ในเวลาเดียวกันนั้น อิชิบาชิยังเป็นเจ้าของฟูจิ พรีซิชั่น อินดัสตรี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของฟูจิ เฮฟวี่ อินดัสตรีหรือซูบารุ คอร์ปอเรชั่นในปัจจุบัน เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถึงทางตัน อิชิบาชิทำการรีแบรนด์ทามะ อิเลกทริก คาร์ให้เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินทั่วไปของฟูจิ พรีซิชั่น อินดัสตรี
หลังจากนั้นเขาควบรวมบริษัทฟูจิ พรีซิชั่น อินดัสตรีเข้ากับทามะ อิเลกทริก คาร์ เพื่อก่อตั้งบริษัทปรินซ์ มอเตอร์ คอมพานีซึ่งต่อมาบริษัทนี้เป็นผู้ให้กำเนิดรถยนต์หลายรุ่น อย่างกลอเรีย, ลอเรล และสกายไลน์
รถแข่ง ปรินซ์ สกายไลน์ 2000จีที เบียดกับปอร์เช่ 904 ได้อย่างสูสีในการแข่งขันแจแปนีส กรังด์ปรีซ์ ปี1964 ทำให้ชื่อเสียงของ “วิศวกรรมแบบญี่ปุ่น” โด่งดังไปทั่วโลกและเทียบชั้นวิศวกรรมเยอรมัน พร้อมกับจุดประกายให้เกิดวิศวกรชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ขึ้นมามากมาย
หลังจากนั้น ชื่อปรินซ์ สกายไลน์ จีที-อาร์ถูกเปลี่ยนเป็นนิสสัน สกายไลน์ เมื่อปรินซ์ มอเตอร์ถูกเทคโอเวอร์โดยนิสสัน
ในฐานะนักลงทุน อิชิบาชิไม่ได้ถูกพูดถึงว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสกายไลน์ จีที-อาร์โดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่มีทรัพยากรและวิสัยทัศน์ของเขา รถสมรรถนะสูงในตำนานอย่างสกายไลน์ จีที-อาร์ก็อาจไม่เกิดขึ้นหรืออาจจะพลิกผันไปในทิศทางอื่นก็เป็นได้
ถึงแม้นิสสันและบริดจสโตนจะไม่มีความร่วมมือที่แนบชิดกันมากนัก แต่บริดจสโตนเป็นบริษัทซัพพลายเออร์หนึ่งเดียวที่ป้อนยางให้แก่นิสสัน สกายไลน์ในประเทศญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์ Carlist.my
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น