วอลโว่ กรุ๊ป ตั้งเป้าโตสวนทางตลาด แม้มีปัจจัยลบทั้ง การเมือง นโยบายการเงิน ค่าแรง ค่าเงินบาท Share this

วอลโว่ กรุ๊ป ตั้งเป้าโตสวนทางตลาด แม้มีปัจจัยลบทั้ง การเมือง นโยบายการเงิน ค่าแรง ค่าเงินบาท

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 21 February 2561

วอลโว่ กรุ๊ป ตั้งเป้าโตสวนทางตลาด แม้มีปัจจัยลบทั้ง การเมือง นโยบายการเงิน ค่าแรง ค่าบาท ส่วนแผนนำรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้าไทยยังไม่ชัดเจน รอดูความคุ้มค่าทางธุรกิจ-อินฟราสตรัคเจอร์

กำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถบรรทุกวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา วอลโว่ กรุ๊ป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2559 ยอดขายอยู่ที่ 1,251 คัน แบ่งเป็น รถวอลโว่ ทรัคส์ 356 คัน รถยูดี ทรัคส์ 895 คัน มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 7% เพิ่มจากปี 2559 อยู่ที่ 6% ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าจะมียอดขายโตกว่าตลาดรวมแม้ว่าในปีนี้จะมีปัจจัยลบกระทบอยู่บ้างก็ตาม

ภาพรวมตลาดรถบรรทุกปีนี้โดยรวมน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งปัจจัยหนุนจากภายนอกคือเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น การส่งออก การค้าขายชายแดนมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนธุรกิจก่อสร้างจะดีเพราะมีการอนุมัติงบประมาณโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบกับมีงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เซ็นสัญญาไปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สุวรรณภูมิเฟส 2 การพัฒนาท่าเรือ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจก่อสร้าง เชื่อว่าหากโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเติบโตขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะเติบโตควบคู่กันไปด้วย อีกทั้งธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตยังสนับสนุนภาคการขนส่งให้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวังในปีนี้ เช่น การเลือกตั้ง, นโยบายอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.5% และอาจมีการปรับเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีหลัง,นโยบายเพิ่มค่าแรง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

"ปัจจัยที่น่าห่วงปีนี้ แม้ว่า กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนก็ยังสูงอยู่ ภาคเกษตรยังไม่ใช่ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะราคาสินค้ายังไม่คงที่ อสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดยังมียอดคงค้างอยู่ ส่วนอุตสาหกรรมก็ต้องพิจารณาต้นทุนการผลิต"

สำหรับตลาดรวมรถบรรทุกปี 2560 ช่วงไตรมาสสุดท้ายตลาดรวมรถบรรทุกพลิกฟื้นเนื่องจากค่ายรถจัดโปรโมชั่น ส่งผลให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ติดลบเพียง 5% จากเดิมที่ติดลบประมาณ 10% หรือมียอดขายอยู่ที่ 16,293 คัน ส่วนรถบรรทุกขนาดกลางลดลงมาประมาณ 8.7% หรือมียอดขายอยู่ที่ 7,307 คัน ขณะที่ตลาดรวมทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดกลางหดตัวลง 6.3% หรือมียอดขายอยู่ที่ 23,600 ในปี 2560

ทั้งนี้ ปัจจัยลบของปีที่ผ่านมา จากนโยบายภาครัฐ แม้ว่าจะประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ 3.9% แต่การกระจายตัวกลับอยู่ที่การท่องเที่ยว และการส่งออก ไม่ใช่ธุรกิจขนส่ง อุตสาหกรรมบางประเภทได้รับกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบางโครงการไม่เกิดตามแผน ส่งผลต่อธุรกิจขนส่งวัสดุก่อสร้าง แต่ปีที่แล้วก็ยังมีปัจจัยบวกด้านการส่งออก การค้าขายชายแดน พม่า ลาว มาเลเซีย และกัมพูชา ปรับตัวดีขึ้น

กำลาภ กล่าวว่า ในส่วนของรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะเริ่มทำตลาดในทวีปยุโรปปีหน้า เป็นการเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยียานยนต์ ซึ่งในไทยนั้น คงต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางธุรกิจ ปัจจัยด้านอินฟราสตรัคเจอร์ หากเงื่อนไขเหล่านี้พร้อมก็จะนำเข้ามาขายในไทยอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่

ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ