ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์อย่างเป็นทางการว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิต 418 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 3,800 ราย ในช่วงเฝ้าระวังเจ็ดวันอันตรายพบว่า 40% ของอุบัติเหตุ มีสาเหตุมาจากการขับขี่ขณะมึนเมา ในขณะที่ 26% มาจากการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด และ 80% ของอุบัติเหตุ ล้วนเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ทั้งสิ้น
“การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมาก” มร.มาร์ติน เฮยส์ ประธานภูมิภาคบ๊อชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “บ๊อชลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือชีวิตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นส์ต่างๆ ที่ช่วยให้การสัญจรบนท้องถนนและตัวยานยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้น” มร.เฮยส์ กล่าวเสริม
หนึ่งในนวัตกรรมที่บ๊อชเป็นผู้บุกเบิก ได้แก่ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (Anti-Lock Braking System หรือ ABS) ซึ่งเปิดตัวในปี 2521 สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเปิดตัวอีกครั้งใน
ปี 2538 สำหรับรถจักรยานยนต์ โดยระบบเบรก ABS จะป้องกันไม่ให้ล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาระบบควบคุมการทรงตัว Electronic Stability Program (ESP®) เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งสามารถป้องกันรถลื่นไถลหรือการสูญเสียการควบคุม ถือเป็นการเสริมสมรรถนะด้านความปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยม จนถึงวันนี้ ร้อยละ 74 ของยานยนต์รุ่นใหม่ทั่วโลก ล้วนติดตั้งระบบ ESP® ซึ่งช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากกว่า 260,000 เหตุการณ์ ในทวีปในยุโรป (ในปี 2557)
ประมาณ 90% ของอุบัติเหตุต่างๆ เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ เช่น ความผิดพลาดในการตัดสินใจ การประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์คับขันต่างๆ หรือการที่คนขับมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าเกินไปหรือตอบสนองไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากการศึกษาด้านอุบัติเหตุ เพื่อพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ซึ่งพร้อมสรรพด้วยฟีเจอร์อัจฉริยะต่างๆ อาทิ ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ รวมทั้งระบบเตือนมุมอับสายตา ซึ่งช่วยเหลือผู้ขับขี่ในสถานการณ์คับขันต่างๆ โดยระบบเหล่านี้ครอบคลุมการตอบรับต่อสถานการณ์การขับขี่ในชีวิตประจำวันที่มีความหลากหลาย นับเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่อนาคตของการขับเคลื่อนที่ช่วยลดอุบัติเหตุและคลายความความกังวลให้น้อยลง
การจราจรที่ติดขัดอย่างหนักเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการชนท้าย สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน กรุงเทพฯ รั้งอันดับที่ 12 ของเมืองที่มีการจราจรติดขัดที่สุดในโลก ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถชน ทั้งนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (Automatic Emergency Brake - AEB) ซึ่งอาศัยการทำงานของเครือข่ายเซ็นเซอร์ในระบบ ESP® จะช่วยวิเคราะห์สภาพการจราจรและตรวจจับระยะเมื่อเข้าใกล้ยานยนต์ซึ่งกำลังเคลื่อนที่หรือหยุดนิ่ง จากนั้นจะสั่งงานระบบเบรกบางส่วนเพื่อลดความเร็วลง ในกรณีที่ผู้ขับยังไม่มีการตอบสนอง ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติจะเบรกเต็มที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนท้าย ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนได้ ระบบจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อลดแรงปะทะให้เกิดความเสียหายกับยานยนต์น้อยที่สุด และลดความรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ
ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Support -LKS) ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถบังคับรถให้อยู่ในช่องทาง โดยใช้กล้องวิดีโอระบุเส้นแบ่งเลนที่อยู่ด้านหน้ายานยนต์ และสามารถระบุได้มากที่สุด 4 ช่องทางแม้อยู่ในสภาวะทัศนวิสัยต่ำ โดยระบบจะแทรกแซงการควบคุมพวงมาลัยเพื่อบังคับรถให้อยู่ในช่องทาง นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ยังสามารถยกเลิกการแทรกแซงของระบบได้โดยเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว แสดงให้เห็นว่าผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้แล้ว
การศึกษาต่างๆ ระบุว่า ทัศนวิสัยจะดีที่สุดเมื่อรถยนต์หยุดนิ่ง ขณะขับเคลื่อนด้วยความเร็ว วิสัยทัศน์ของผู้ขับจะอยู่ที่ด้านหน้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะลดพิสัยการมองในทิศทางโดยรอบไปโดยปริยาย ส่งผลให้ความสามารถของผู้ขับขี่ในการประเมินสภาวะรอบด้านลดลง โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจ เช่น การเปลี่ยนช่องทางเดินรถ จึงเป็นที่มาของระบบเตือนมุมอับสายตา (Side View Assist – SVA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ blind spot technology ที่สามารถระบุตำแหน่ง
อับสายตาจากมุมของผู้ขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงสัญญาณเตือนบนกระจกข้าง สำหรับรถจักรยานยนต์ การเตือนจะเป็นในรูปแบบสัญญาณแสงใกล้กระจก นอกจากนี้
ตัวเซ็นเซอร์อัจฉริยะยังสามารถจำแนกประเภทวัตถุที่ตรวจจับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการส่งสัญญาณหลอก ระบบเตือนมุมอับสายตานี้ มีการระบุไว้ในข้อบังคับขององค์กรทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่แห่งอาเซียน (ASEAN New Car Assessment Program: NCAP) พ.ศ. 2560 - 2563 ในประเภทเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเพื่อพิจารณาให้คะแนน
รายงานในปี 2561 โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายแก่ประเทศต่างๆ ประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และคาดการณ์ว่า หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างยั่งยืน อุบัติเหตุทางถนนจะกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับเจ็ดภายในปี 2573 อย่างแน่นอน
“บ๊อชเชื่อว่า ความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง เราพยายามเรียกร้องให้มีการพูดคุยและประสานความร่วมมือจากทั้งภาครัฐฯ แวดวงวิทยาศาสตร์ องค์กรไม่แสวงผลกำไร แวดวงอุตสาหกรรม และสาธารณชนทั่วไปให้มากขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยต่างๆ ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับทุกคน เราทุกคนต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันในการนำพาภูมิภาคอาเซียนสู่การปลอดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งบ๊อชเองก็พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่” มร.เฮยส์ กล่าวสรุป
สามารถติดตามข่าวสารอัพเดตเพิ่มเติม ได้ที่นี่
สามารถค้นหารถยนต์มือสองคุณภาพดี ได้ที่นี่
ความคิดเห็น