ล็อกซเล่ย์ประกาศความพร้อมทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หวังภาครัฐสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าจริงจัง ช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง และแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษในอากาศ ล่าสุดนำร่องส่งตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ชิมลางในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ศุกรศิษฏ์ หริตวร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายเพาเวอร์ ออโต้โมบิล บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ล็อกซเล่ย์ร่วมมือกับบริษัท ตุ๊กตุ๊ก แฟคตอรี่ จำกัด เปิดตลาดรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ยี่ห้อ TTF ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้า สหกรณ์สามล้อเครื่อง โรงแรม โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม ร้านอาหาร สถานศึกษา และกลุ่มรถขายอาหาร (Food Truck) เป็นหลัก
โดยปีที่ผ่านมา บริษัทได้จำหน่ายรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า TTF ให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วกว่า 10 คัน และในปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเพิ่มเติมเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 450 คัน คาดว่าล็อกซเล่ย์จะชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้ประมาณ 10% ขณะเดียวกันได้จับมือกับธนาคารออมสิน ในการสนับสนุนสินเชื่อรถสามล้อไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพรถสามล้อรับจ้างมีโอกาสซื้อรถสามล้อไฟฟ้าไว้ใช้ประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการใช้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแทนสามล้อเครื่อง เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองในอากาศที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดสามล้อมรับจ้างในกรุงเทพฯ นั้น ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้จดทะเบียนเพิ่ม จึงยังไม่สามารถขยายตลาดในส่วนนี้ได้
“รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า TTF ได้รับการออกแบบตามหลักวิศวกรรมที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีโรงงานประกอบอยู่ในประเทศไทย และเป็นบริษัทเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติ Type Approval และการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้เป็นฐานการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า TTF เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
ศุกรศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ล็อกซเล่ย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่นำรถโดยสารไฟฟ้า ยี่ห้อ BYD ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เข้ามาประกอบในประเทศไทย และผ่านการวิ่งทดสอบร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตั้งแต่ปี 2558 สอดคล้องกับการจัดทำแผนแม่บทด้านยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ทั้งนี้นโยบาย แผนแม่บท และการสนับสนุนต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้เติบโตในภาคธุรกิจ การลดเงื่อนไขและข้อจำกัด จึงมีส่วนช่วยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ (ลิเที่ยม ไอออน) มีการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นและราคาถูกลงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ส่งผลให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำลง สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นโดยใช้เวลาประจุไฟฟ้าสั้นลง จนคุ้มค่าต่อการลงทุนและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง บริษัทเชื่อมั่นว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเข้ามาแทนที่ยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ที่เป็นหนึ่งในตัวการสร้างฝุ่นพิษ PM2.5 ได้อย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารขับซ่าได้ที่นี่
ชมรายการขับซ่า34 ย้อนหลังได้ที่นี่
ความคิดเห็น