รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการภาษีสำหรับยานพาหนะเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) ระยะสอง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราและรูปแบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของรถจักรยานยนต์ใหม่ จากเดิมคิดภาษีตามขนาดของเครื่องยนต์ (ซีซี) เปลี่ยนเป็นการคิดภาษีตามค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับภาษีรถยนต์ เพื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เก็บภาษีตามขนาดเครื่องยนต์ในช่วง 2.5-9% เปลี่ยนเป็นตามขนาดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเพิ่มเป็น 3-18% ซึ่งจะส่งผลให้รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก หรือมีเทคโนโลยีการใช้น้ำมันน้อยได้รับผลเล็กน้อยหรือาจเสียภาษีต่ำลง แต่ในทางกลับกันหากเป็นรถขนาดใหญ่ หรือรถบิ๊กไบค์ที่มีการใช้น้ำมันและปล่อยมลพิษเยอะก็อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
“อัตราภาษีเดิมรถบิ๊กไบค์จะเสียภาษีสูงสุดที่ 9% แต่ภาษีใหม่เก็บสูงสุด 18 % ทำให้มีต้นทุนเพิ่มอีก 9% ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถบิ๊กไบค์ราคาคันละ 1 ล้านบาท ราคาอาจสูงขึ้นจากเดิมอีก 9 หมื่นบาท หรือหากเป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กทั่วไป คันละ 5 หมื่นบาท ก็อาจขึ้นแค่คันละ 250 บาท แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการด้วย ถ้าปล่อยก๊าซพิษน้อยลงก็จะได้ประโยชน์จากภาษีครั้งนี้”
โดยหาก ครม.เห็นชอบแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าว คาดว่าอัตราภาษีจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 โดยระหว่างนี้จะให้เวลากับผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าปรับตัว ซึ่งการเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์จะเรียกเก็บเฉพาะรถใหม่ที่ออกมาจากโรงงาน หรือนำเข้ามาเพียงครั้งเดียว ซึ่งการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายต้องการรีดเก็บภาษีจากประชาชน แต่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซค์ให้ปล่อยก๊าซพิษลดลงแก้ปัญหาฝุ่นพิษในอากาศ
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 3% กลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50-100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 5% กลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100-130 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 9% และกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสีย 18%
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ตามค่าการปล่อยมลพิษ โดยกลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถบิ๊กไบค์ เนื่องจากมีการปล่อยค่าไอเสียค่อนข้างมากและเป็นผลจากการใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ส่วนรถจักรยานยนต์ทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามในปีหน้าค่ายรถจักรยานยนต์จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงสร้างภาษีรวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานยูโร 4 จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มแน่นอน
เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่
ความคิดเห็น