สมอ.หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะประกาศบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เรื่องสมรรถนะของยางที่ใช้ในรถยนต์และรถบรรทุกเพิ่มเติมอีก ตามกฎหมายใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้จริงวันที่ 24 กันยายนนี้ อาจส่งผลผู้ผลิตและผู้นำเข้า ยางรถยนต์-รถบรรทุกด้อยคุณภาพ หายไปจากตลาด
ช่วงที่ผ่านมา ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานของยางที่ใช้ในรถแต่ละประเภท จำนวน 3 มาตรฐาน ซึ่งประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 คือ มอก.2718-2560 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง(ยางรถยนต์) , มอก.2719-2560 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง(ยางรถบรรทุก) และ มอก.2720-2560 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด(ยางรถจักรยานยนต์) โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากลหรือข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ (UN Regulation)
ในเร็วๆนี้ สมอ. จะประกาศบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง “เรื่องสมรรถนะของยางที่ใช้ในรถยนต์ และรถบรรทุก” คือ มอก. 2721-2560 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อสูบลม: ข้อกำหนดด้านเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุน ซึ่งเริ่มกำหนดบังคับใช้วันที่ 24 กันยายน 2562 โดยสมรรถนะยางที่จะผ่านมาตรฐาน จะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานประกอบด้วย 1. เสียงดังจากการวิ่ง 2.การยึดเกาะบนถนนเปียก และ 3. ความต้านทานการหมุน (ซึ่งส่งผลต่อการกินน้ำมัน)
เลขาธิการ สมอ. ได้อธิบายถึงการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวว่า ข้อแรก เสียงดังจากการวิ่ง ถ้าสังเกตและฟัง เวลารถวิ่ง และมีเสียงจากภายนออกเข้ามาสู่ภายในห้องโดยสาร เสียงดังมาก อาจจะมาจากยางรถที่ใช้
ข้อที่สอง ความต้านทานการหมุน เป็นเรื่อง Performance (มีเรื่องความปลอดภัยรวมด้วย) เวลาเบรกกระทันหัน ไม่ใช่รถหมุน 360 องศา ไร้ทิศทาง ถ้ายางดีมีมาตรฐานอาจหมุนบ้าง แต่จะต้องกลับมาให้ได้
ข้อที่สาม คือ การยึดเกาะบนถนนเปียก แม้ว่า เวลาถนนเปียก รถอาจมีการสไลด์ แต่ควรสไลด์ไปไม่มาก และเป็นไปในทิศทางที่ปลอดภัย เป็นเรื่อง Performance แต่ต้องบังคับเพราะ Performance ช่วยชีวิตคุณได้
“สาเหตุหลักที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเรื่องผลิตภัณฑ์ยางล้อ เรื่องความปลอดภัย และสมรรถนะของยาง แม้มีมาตรฐานกำหนดอยู่แล้ว เพราะหากยางล้อไม่ได้มาตรฐานจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค หรืออาจมีการนำยางเน่าๆ มาหล่อดอกใหม่ ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้คนเสียชีวิตหรือตายแทบทั้งสิ้น สมอ.ต้องจึงบังคับ ประกาศเป็นกฎหมาย ลงราชกิจจานุเษกษา และให้มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 1 ปี ซึ่งผู้ใช้หรือผู้บริโภคได้ประโยชน์”
เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดย เลขาธิการ สมอ. คาดว่าผู้ประกอบการคงไม่หายไปเนื่องจากเขาลงทุนโรงงานยางรถยนต์ในไทยหลายร้อยล้านบาท เขาคงไม่ปล่อยให้เงินส่วนนี้หายไปแน่นอน อาจต้องออกแรงนิด เพิ่มต้นทุนหน่อย ส่วนที่หายน่าจะเป็นพวกนำเข้ายางจากต่างประเทศ ที่ไม่ผ่านการทดสอบ
“ภาพรวมประเทศไทยได้กำไร เพราะอย่างน้อย ไม่ต้องไปรักษาคนที่สมองกระแทกพื้น หรือคนที่เป็นเจ้าชายนิทรา เรื่องนี้คล้ายการออกกฎหมายให้ใช้หมวกกันน็อค ซึ่งในส่วนยางรถยนต์ผู้ประกอบการไม่ได้บอกว่าจะคิดราคายางเพิ่มเท่าไร เพราะเขายังไม่ทราบว่า เราจะคิดค่าทดสอบเท่าไร และเก็บตัวอย่างเท่าไร ผมเห็นว่าถ้าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นผู้ส่งออกไม่กระทบ ที่จะกระเทือนคือผู้ประกอบการที่ผลิตยางส่งตลาดล่าง หรือ โลคอลแบรนด์ เขาผลิตหลายแบบ แต่เขาอาจจะหยุดทำ และเราคงไม่มีการชดเชยใดๆ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด”
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายบังคับใช้ และมีโรงงานที่ผลิตยางไม่ได้มาตรฐานโรงงานดังกล่าวจะต้องหยุดผลิต ขณะเดียวกันโรงงานต่างๆ จะต้องส่งตัวอย่างยางมาทดสอบที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปมาก เหลือแต่ห้องแล็บที่อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่จะมีการแก้ไขปัญหา และสามารถเปิดให้ผู้ประกอบการส่งยางมาทดสอบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2562
“ข้อสงสัยที่บอกว่า เหตุใดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางจึงบังคับเฉพาะยางรถยนต์ และยางรถบรรทุก แต่ไม่ได้บังคับยางรถจักรยานยนต์ เพราะเรายึดมาตรฐานตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ หรือมาตรฐานสากล และมอเตอร์ไซด์ เสียงดังอยู่แล้ว ไม่มีผล การหมุนก็ไม่เหมือนรถยนต์”
สำหรับตัวเลขของผู้ประกอบการยางแต่ละประเภทในไทย ได้แก่ ผู้ประกอบการยางรถยนต์ในไทย 15 ราย ผู้ประกอบการนำเข้า 72 ราย, ผู้ประกอบการยางรถบรรทุกในไทย 21 ราย ผู้ประกอบการนำเข้า 88 ราย และผู้ประกอบการยางรถจักรยานยนต์ในไทย 13 ราย และผู้ประกอบการนำเข้า 40 ราย
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการยางทั้งหมดไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จะได้รับบทลงโทษสำหรับผู้ทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานบังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่
ความคิดเห็น