เจาะลึกเครื่องยนต์ Triumph Moto2 เจ๋งตรงไหน เป็นมายังไง ทำไมฟีดแบคดีจัง ? Share this

เจาะลึกเครื่องยนต์ Triumph Moto2 เจ๋งตรงไหน เป็นมายังไง ทำไมฟีดแบคดีจัง ?

Piyawat Wongrattanakumphon
โดย Piyawat Wongrattanakumphon
โพสต์เมื่อ 08 October 2562

เจาะลึกเครื่องยนต์ Triumph Moto2 ที่ทำลายสถิติมาแล้วกว่าสิบสนาม เป็นมายังไง ทำไมมันดีกว่าชาวบ้านเค้า มาดูข้อมูลตรงจากประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ สตีฟ ชาร์เจนท์


 

การแข่งขัน Moto2 นั้น เป็นการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบในรุ่นรองท็อป รองจาก MotoGP โดยที่ผ่านมาใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง ขนาด 600 cc. และมาในปีนี้ Triumph ได้เข้ามาเป็นซัพพลายเออร์เครื่องยนต์ทั้งหมดให้กับการแข่งขัน โดยความแตกต่างที่เกิดขึ้นคือ เป็นเครื่องยนต์ 3 สูบ ขนาด 765 cc.

 

 

ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ แสดงให้เห็นถึงพละกำลังและความเร็วของเครื่องยนต์ไทรอัมพ์ โมโตทู แบบ 3 สูบ 765 cc. ที่ใช้ในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก รายการ Moto2 ฤดูกาล 2019 มาแล้วกว่าครึ่งฤดูกาล โดยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต กับเครื่องยนต์ใหม่ของไทรอัมพ์นี้ เนื่องจากในปีก่อนยังเป็นเครื่องยนต์ตัวเก่าแบบ 4 สูบเรียง 600 cc. อยู่

มาในปีนี้ เครื่องยนต์ไทรอัมพ์ โมโตทู ได้แสดงให้ผู้คนเห็นถึงวิวัฒนาการของเครื่องยนต์ตัวนี้มาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นด้านพละกำลัง ความเร็ว ซุ่มเสียง ตลอดจนความทนทาน (Reliable) โดยเครื่องยนต์ไทรอัมพ์นี้สามารถทำลายทุกสถิติของรายการโมโตทู ไม่ว่าจะเป็น Race Lap Record, Top Speed, Circuit Best Lap และ New Pole Position Record 

 

 

สตีฟ ชาร์เจนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ เผยว่า ตั้งแต่ปี 2017 ที่ไทรอัมพ์ ได้ลงนามสัญญากับดอร์น่า (Dorna) ในการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์แต่เพียงผู้เดียวให้กับการแข่งขันรายการ Moto2 เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2019 นับเป็นปฐมบทแห่งความตื่นเต้นใหม่ ของประวัติศาสตร์การแข่งขันของบริษัท จากการสร้างเครื่องยนต์ 3 สูบที่ชนะการแข่งขัน Isle of Man TT ที่มีชื่อเสียง สู่การแข่งขันรายการ Moto2 

สตีฟ ได้เริ่มการเจรจากับทางดอร์น่า ผ่านเพื่อนคนหนึ่งที่แนะนำเขาให้รู้จัก และรู้ข่าวว่าสัญญาของเครื่องยนต์โมโตทูกำลังจะหมดลง สตีฟจึงได้ถามดอร์น่าว่า “ต้องการอะไร จากเครื่องยนต์โมโตทูใหม่” ดอร์น่าได้ให้คำตอบมา 3 ข้อ ข้อแรกคือ Reliable ต้องทนทาน ไม่พังง่าย ต่อไปคือ Performance ต้องดี ต้องแรงขึ้น ตอบสนองความต้องการของนักแข่งได้ และเพื่อพัฒนาโมโตทูให้ใกล้เคียงกับรุ่นใหญ่โมโตจีพีมากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่อง Electronic package ที่จะต้องสามารถปรับได้มากขึ้น เพื่อให้แต่ละทีมมีออพชั่นให้เลือกปรับได้มากขึ้น และแตกต่างกันออกไป

 

 

ไทรอัมพ์ได้เริ่มวิจัยและพัฒนาทั้งเครื่องยนต์และแชสซีส์ โดยใช้เครื่องยนต์พื้นฐานเดิมจากรุ่น Street Triple 765 และทำการทดสอบอย่างนับครั้งไม่ถ้วนในอังกฤษ แล้วจึงเริ่มทำการทดสอบในสนาม โดยใช้นักแข่งชาวสเปน Julián Simón โดยเริ่มแรกได้นำเจ้าเครื่องยนต์โมโตทูนี้ ไปใส่ในรถไทรอัมพ์ Daytona แล้วผลออกมาค่อนข้างดี โดยทำเวลาห่างจาก Lap Record เพียง 1.5 วินาทีเท่านั้น สำหรับการทดสอบในครั้งแรก

ด้วยผลที่ออกมาค่อนข้างดี ไทรอัมพ์จึงเริ่มส่งเครื่องยนต์ให้ผู้ผลิตรถแข่งอย่าง Kalex, Speed Up และ KTM ทดสอบ โดยทางทีมและนักแข่งต่างให้ผลตอบรับว่าเครื่องยนต์ดี เป็นไปในทางบวกเป็นเสียงเดียวกัน 
เข้าสู่การทดสอบแบบจริงจังกับทีมแข่งครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว(2018) ที่สนาม Jerez ประเทศสเปน รถแข่งได้ทำลายสถิติ Lap Record เลย เพียงแค่การเทสครั้งแรก ทำให้ไทรอัมพ์ประสบผลสำเร็จในการซัพพอร์ตเครื่องยนต์ เกิดความมั่นใจ และเดินหน้าต่อในรายการโมโตทูแบบเต็มตัว

 

Source : Twitter @MotoGP

 

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทรอัมพ์ได้แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเครื่องยนต์ไทรอัมพ์ Moto2 3 สูบ 765 cc. ตั้งแต่การร่วมมือสนับสนุนการพัฒนากล่อง ECU ร่วมกับ Magneti Marelli โปรแกรมพัฒนาที่เน้นใช้งานในสนามแข่ง รวมถึงการทดสอบพัฒนาแชสซีส์ร่วมกับผู้ผลิต ซึ่งผลที่ออกมาก็ได้ทำลายสถิติของ Moto2 ไปแบบกระจัดกระจายอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

สตีฟ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่เริ่มใช้ในฤดูกาล Moto2 2019 ว่า ตั้งแต่ต้นฤดูกาล เครื่องยนต์ไม่มีปัญหาทางเทคนิคใดๆ เลย นักแข่งทุกคนมีฟีดแบคที่ดี เครื่องยนต์นี้ได้ทำลายสถิติเวลาต่อรอบไปแล้ว 12 สนาม และทำสถิติความเร็วสูงสุดที่ Moto2 เคยทำได้ โดยทำได้ทะลุ 300 กม./ชม. ที่สนาม Mugello ประเทศอิตาลี

 

 

สำหรับสิ่งที่ไทรอัมพ์ได้ปรับปรุงพัฒนาตัวเครื่องยนต์ ที่แตกต่างไปจากเครื่องยนต์ Street Triple 765 ที่วางขายในตลาดก็คือ การปรับแต่งช่วงบนของเครื่องยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝาสูบ ช่องไอดี หัวฉีด เพลาลูกเบี้ยว วาล์วไทเทเนียม วาล์วสปริง ปรับอัตราส่วนกำลังอัด โดยเครื่องยนต์ตัวแข่งสามารถลากรอบได้สูงถึง 14,000 รอบ จากรุ่นสแตนดาร์ดที่ทำได้ 12,700 รอบ
นอกจากนี้ยังปรังปรุงระบบ Alternator(ไดชาร์จ) แบบลดความเฉื่อย ปรับอัตราทดเกียร์ 1 และ 2 ให้เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของเครื่องยนต์มากขึ้น สลิปเปอร์คลัทช์สำหรับรถแข่งของ FCC กล่อง ECU ที่พัฒนาสำหรับรถแข่งโดย Magneti Marelli ปรับฝาครอบเครื่องยนต์ใหม่ให้เพรียวขึ้น และปรับอ่างน้ำมันเครื่องใหม่ให้สอดรับกับท่อไอเสียประสิทธิภาพสูงสำหรับรถแข่ง

 

 

ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เครื่องยนต์ไทรอัมพ์ โมโตทู มีติดตัว เรียกได้ว่าพัฒนาขึ้นจากเดิมในทุกมิติ นักแข่งและทีมแข่งก็ชอบ ฟีดแบคมาดีเป็นเสียงเดียวกัน ในตอนนี้มีสัญญา 3 ปี กับทางดอร์น่า จนถึงปี 2021 และมีออพชั่นให้ต่อสัญญาได้อีก 3 ปี เป็น 3+3 ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไป ว่าเครื่องยนต์ไทรอัมพ์ จะอยู่บนรถแข่งโมโตทูถึงปีไหน แต่ดูจากฟีดแบคแล้ว มีโอกาสที่จะได้เห็นเครื่องยนต์ไทรอัมพ์โลดแล่นในเวที Moto2 กันถึงปี 2024 ค่อนข้างสูง

สำหรับสาวกไทรอัมพ์ ที่คาดหวังเครื่องยนต์สเปคโมโตทูแบบเป๊ะๆ ออกมาใส่ในรถตลาด ก็คงต้อง “แห้ว” นะครับ เพราะสตีฟ ได้บอกไว้ชัดเจนว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะนำเครื่องยนต์ตัวแข่งมาใส่ในรถตลาด เนื่องจากติดกฎหมายเรื่องเสียงและมลภาวะ แต่แน่นอนว่าไทรอัมพ์จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและความแรง มาปรับใส่ในรถตลาดอย่างแน่นอน

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.triumphmotorcycles.co.th/moto2

 

 

เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ