มอเตอร์ไซค์ล้ม “ไฮไซด์(Highside)” และ “โลว์ไซด์(Lowside)” คืออะไร Share this

มอเตอร์ไซค์ล้ม “ไฮไซด์(Highside)” และ “โลว์ไซด์(Lowside)” คืออะไร

Piyawat Wongrattanakumphon
โดย Piyawat Wongrattanakumphon
โพสต์เมื่อ 10 November 2562

เชื่อว่าเหล่าไบค์เกอร์ที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ รวมถึงชอบดูการแข่งขันมอเตอร์ไซค์หลายๆ ท่าน คงเคยได้ยินคำว่า ไฮไซด์ และ โลว์ไซด์ แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าสองคำนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ถ้าไม่ เราจะพาคุณมาหาคำตอบกัน


 

มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่มีสองล้อ อาศัยการเคลื่อนที่เพื่อช่วยในการทรงตัว และอาศัยมุมเอียงของตัวรถในการเลี้ยว ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กัน ในการขับขี่ไปตามเส้นทางต่างๆ อย่างปลอดภัย

ซึ่งมุมเอียงของตัวรถนั้น จะแปรผันตามความเร็วในการขับขี่เข้าโค้ง ยิ่งเราพยายามไปเร็วมากเท่าไหร่ มุมเอียงยิ่งต้องเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น หากลองสังเกตุรายการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโมโตจีพี หรือเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ก็ดี นักแข่งล้วนมีมุมเอียงของรถมากจนเข่าและศอกถูไปกับพื้นสนาม เพื่อให้รถนั้นเลี้ยวโค้งไปได้ไวที่สุดนั่นเอง

 

 

แต่การขับขี่ในโค้งด้วยความเร็ว รวมถึงการใช้มุมเอียงมากๆ นั้น จะเกิดแรงเหวี่ยง หรือ G-force ที่มากขึ้นตามไปด้วย พร้อมกันนั้นหน้าสัมผัสของยางกับพื้นถนน(Contact patch) ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า มอเตอร์ไซค์ที่กำลังขับขี่อยู่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการยึดเกาะ และเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นนั่นเอง

การล้มของมอเตอร์ไซค์ขณะเลี้ยวโค้ง (การสูญเสียการยึดเกาะของรถและล้มไปเอง ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนและอื่นๆ) นั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โลว์ไซด์(Lowside) และไฮไซด์(Highside) ซึ่งการล้มแต่ละแบบมีความแตกต่างกันดังนี้

 

โลว์ไซด์ (Lowside)

 

โลว์ไซด์(Lowside) คือ การที่ตัวรถล้มไปทางเดียวกันกับมุมเอียงของรถ (เช่นกำลังเข้าโค้งซ้าย รถก็ล้มไปทางซ้าย ตัวรถด้านซ้ายลงพื้น) สาเหตุมาจากการสูญเสียการยึดเกาะของยาง ขณะที่ตัวรถนั้นมีมุมเอียงอยู่ หรือพูดอีกอย่างก็คือการที่ผู้ขับขี่พยายามไปเร็วเกินกว่ากริปยางมีให้ อาจเกิดจากสภาพสภาพพื้นผิวที่ให้การยึดเกาะน้อย หรือตัวผู้ขับขี่เองมีการควบคุมรถที่หยาบ(rough input) เช่น ใช้คันเร่งหรือเบรคอย่างกระโชกโฮกฮาก ไม่นุ่มนวล ขณะที่ตัวรถนั้นเอียงอยู่

 

 

การล้มแบบโลว์ไซด์นั้น คือการล้มที่เราพบเห็นกันบ่อยที่สุดในการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากสภาพพื้นผิวของถนนนั้นมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหลายอย่าง ที่ทำให้การยึดเกาะนั้นน้อยลงไป เป็นเหตุให้ตัวรถที่เอียงอยู่นั้น สูญเสียการยึดเกาะถนน และล้มลงสู่พื้นในด้านที่ตัวรถนั้นเอียงอยู่

การล้มประเภทนี้มีความอันตรายน้อยกว่าการล้มแบบไฮไซด์(Highside) เนื่องจากการล้มประเภทนี้ ผู้ขับขี่จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงจากพื้นในขณะล้ม ทำให้เกิดแรงปะทะในแนวดิ่งระหว่างผู้ขับขี่และพื้นถนนน้อย อันตรายที่มาถึงผู้ขับขี่ส่วนมากจะเกิดจากการไถลไปกับพื้นถนน ซึ่งหากผู้ขับขี่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่รัดกุมแล้วล่ะก็ มักจะปลอดภัยจากการล้มแบบโลว์ไซด์(ที่ความเร็วไม่สูงมาก) แต่ในกรณีที่โลว์ไซด์ในความเร็วสูง ถึงแม้ผู้ขับขี่จะใส่อุปกรณ์ป้องกันแบบเต็มยศ ก็มีโอกาสจะเกิดอันตรายจากการไถลไปกระแทกสิ่งปลูกสร้างด้านนอกโค้งหรือรถที่สวนมา เป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงหรือถึงขั้นสูญเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

 

 

 

ไฮไซด์ (Highside)

 

ไฮไซด์(Highside) คือ การที่ตัวรถล้มไปในทางตรงข้ามกับมุมเอียงของรถ (เข้าโค้งซ้าย แต่ตัวรถพลิกกลับไปล้มด้านขวา) สาเหตุมาจากการสูญเสียการยึดเกาะของยางหลังไปชั่วขณะหนึ่ง และการยึดเกาะก็กลับคืนมาทันทีก่อนที่ตัวรถจะล้มแบบโลว์ไซด์ไป ทำให้ตัวรถเกิดการสะบัดอย่างรุนแรง จากการที่แรงกระทำของล้อหลังและล้อหน้ามีทิศทางไม่สัมพันธ์กัน และเกิดการ “ดีด” ของตัวรถ อาจรุนแรงถึงขั้นสะบัดตัวผู้ขับขี่ลอยหลุดออกจากรถ และพลิกคว่ำไปในด้านที่ตรงกันข้ามกับทิศทางที่เรากำลังเข้าโค้งอยู่

 

 

การล้มแบบไฮไซด์นั้น ส่วนมากแล้วจะเกิดในการแข่งขัน ในสนามแข่งขันที่ให้การยึดเกาะสูง และผู้ขับขี่พยายามใช้คันเร่งมากเกินไปจนท้ายสไลด์ แต่ด้วยสภาพพื้นผิวที่ให้การยึดเกาะสูง ทำให้เมื่อล้อหลังของรถเกิดอาการสไลด์ออกไป มีโอกาสที่จะเกิดการยึดเกาะกลับขึ้นมาอีกครั้งโดยที่รถยังไม่ล้มลงไป ซึ่งการยึดเกาะที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น มักจะเกิดขึ้นในขณะที่ล้อหน้าและล้อหลังมีทิศทางที่ไม่สัมพันธ์กัน ทำให้แรงกระทำจากล้อหลัง อัดเข้าที่เฟรมรถในทิศทางที่ไม่ตรงกับล้อหน้า เสมือนล้อหน้าจะไปทาง ล้อหลังจะไปอีกทาง ทำให้เกิดอาการดีดและสะบัดอย่างรุนแรงจนตัวรถนั้นพลิกกลับไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับโค้ง

การล้มประเภทนี้เป็นการล้มที่รุนแรงมากกว่าการล้มแบบโลว์ไซด์ ด้วยเหตุที่ไฮไซด์นั้น ตัวรถมักจะดีดและสะบัดรุนแรงจนเหวี่ยงผู้ขับขี่ลอยขึ้นไปในอากาศ ซึ่งหมายความว่าผู้ขับขี่จะมีแรงปะทะเข้ากับพื้นถนนที่รุนแรง และไม่สามารถควบคุมท่าทางของร่างกายได้ ส่วนมากแล้วการล้มประเภทนี้จะเกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงแม้จะใส่ชุดป้องกันที่เต็มตัวก็ตาม

 

 

และนี่ก็คือการล้ม 2 ประเภทหลักๆ ของการขับขี่มอเตอร์ไซค์เข้าโค้ง ซึ่งไบค์เกอร์อย่างเราๆ คงเคยเห็นกันดีอยู่แล้ว

ต่อมาในส่วนของวิธีป้องกันนั้น ง่ายมากๆ และผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ โดยไม่ต้องไปเสียตังค์ซื้อยางแพงๆ ซื้อโช้คอัพดีๆ ใส่ เพราะไม่ว่าคุณจะมีอุปกรณ์ที่เทพแค่ไหน คุณจะใส่ยางคู่ละหมื่น โช้คต้นละแสน กันสะบัดอะไรก็ช่วยคุณไม่ได้ หากคุณ “ใจร้อน” (จริงๆ ผมอยากจะใช้คำว่า “ห้าว” มากกว่า แต่มันก็จะดูดุดันเกินไปหน่อย 55+) ตรรกะง่ายๆ ก็คือเมื่อผู้ขับขี่ พยายามจะไปให้เร็ว จนเกินลิมิตของรถ เกินลิมิตของพื้นถนน ก็จะทำให้ยางมีการยึดเกาะไม่พอต่อแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้น ยางจะสูญเสียการยึดเกาะ และนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด

เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันอุบัติเหตุที่ดีที่สุดก็คือการ “ใจเย็น” เพียงแค่เราขับขี่ด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพถนน สภาพโค้ง สภาพยางของรถเรา รู้ลิมิตรถ และลิมิตตัวเอง ก็จะทำให้เราขับขี่ได้อย่างปลอดภัยแล้วล่ะครับ และอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ก็คือ “ทักษะ” เนื่องจากทักษะจะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้มากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันค่ายรถบิ๊กไบค์ทุกยี่ห้อ มีคอร์สเรียนเสริมทักษะให้ผู้ใช้ อยากให้ไบค์เกอร์ลองไปดูสักคอร์ส ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่มือเก่าก็ตาม ผมเชื่อว่าคุณจะได้ความรู้ใหม่ๆ มาให้ปรับใช้กันแน่นอนครับ

 

Image result for ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า

 

สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป แอดปัญหวังว่าไบค์เกอร์ทุกคนจะหันมามองถึงความปลอดภัยกันมากขึ้น หันมามองถึงคนที่รอเราอยู่ที่บ้าน ที่เขารอเราให้กลับไปถึงบ้านอย่างปลอดภัย อย่าเอาแต่สนุก คึกคะนอง เพราะไม่ว่าคุณจะขี่เก่งขนาดไหน อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ

คติๆ ง่ายที่ผมนึกอยู่เสมอเวลาขี่รถและอยากแชร์ให้เพื่อนๆ ไบค์เกอร์ทุกคนเอาไปใช้บ้าง แค่เพียง “ยอมได้ ยอม, ยกได้ ยก” เพื่อคนที่คุณรักและคนที่รักคุณกันนะครับ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ^^

 

“สิ่งสำคัญที่สุดของการขับขี่ให้ปลอดภัยนั้น ไม่ใช่ทักษะ แต่เป็นทัศนคติในการขับขี่”

 

เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ