หลังภาครัฐได้เข้าไปยุติข้อพิพาท ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ส่งผลให้ผู้ใช้รถ สามารถขึ้นทางด่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ ฟรี 15 ปี 8 เดือน (31 ตุลาคม 2578)
ขึ้นทางด่วนวันหยุด (นักขัตฤกษ์) ฟรี 15 ปี
ข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษฯ และ BEM เกิดจากการฟ้องร้องในประเด็นสัญญาต่างๆ จำนวน 17 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งได้เจรจาสรุปยุติคดีความทั้งหมดด้วย การแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานเดิม พร้อมเงื่อนไขซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่ายและผู้ใช้ทางด่วน
ทั้งนี้ การขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนมี 3 เส้นทาง ได้แก่
- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
- ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
- ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด)
ผลดีของการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนมี 3 เส้นทางดังกล่าว หลักๆ ได้แก่
- ให้ผู้ใช้รถสามารถขึ้นทางด่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ ฟรี 15 ปี 8 เดือน (31 ตุลาคม 2578) *หมายเหตุวันหยุดราชการประจำปีหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นไปตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี
- ค่าทางด่วนที่ปกติปรับขึ้นตามสัญญาทุก 5 ปี จะปรับขึ้นหลังจากนี้ 10 ปี ยกตัวอย่างเช่น สัญญาปรับขึ้นค่าทางด่วนปกติปรับขึ้น 5 บาททุกๆ 5 ปี ครั้งนี้พิเศษจะปรับขึ้นครั้งเดียวในปีที่ 10 หรือปี 2573
และมีความเป็นไปได้ว่า ในช่วงวันหยุดปีใหม่และสงกรานต์ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะอนุมัติยกเว้นค่าผ่านทางทางด่วน 2 เส้นทางคือ ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนบางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (ทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์) เมื่อมารวมกับ 3 เส้นทางที่ขยายสัมปทานใหม่ ผู้ใช้รถก็จะได้ใช้เส้นทางด่วนช่วงปีใหม่และสงกรานต์ฟรี รวม 5 เส้นทางก็เป็นไปได้
สำหรับรายละเอียดเส้นทางทางด่วน 3 เส้นทาง
1.ทางด่วนขั้นที่ 1 ระยะทาง 27.1 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นทางฝั่งทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เชื่อมต่อกันที่ทางแยกต่างระดับท่าเรือ ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายดินแดง–ท่าเรือ, สายบางนา–ท่าเรือ และสายดาวคะนอง–ท่าเรือ
- สายดินแดง–ท่าเรือ ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับและเป็นทางราบตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง–ท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 6 ด่านคือ ด่านดินแดง, ด่านเพชรบุรี, ด่านสุขุมวิท, ด่านพระรามสี่ 1, ด่านเลียบแม่น้ำ และด่านท่าเรือ 1
- สายบางนา–ท่าเรือ ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางราบและเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท 50 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 4 ด่านคือ ด่านท่าเรือ 2, ด่านอาจณรงค์, ด่านสุขุมวิท 62 และด่านบางนา
- สายดาวคะนอง–ท่าเรือ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับ ขึ้นสะพานพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 5 ด่านคือ ด่านสาธุประดิษฐ์ 1, ด่านสาธุประดิษฐ์ 2, ด่านพระราม 3, ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านดาวคะนอง
2.ทางพิเศษศรีรัช หรือทางด่วนขั้นที่ 2 มีระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน
- ส่วน A ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษกผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง
- ส่วน B ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร มีแนวเชื่อมต่อกับส่วน A ที่บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท แนวสายทางมุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านถนนศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่บริเวณต่างระดับบางโคล่ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร
- ส่วน C ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง โดยเชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยา เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง
- ส่วน D ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง เชื่อมต่อกับส่วน A โดยเริ่มจากถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ทางแยกต่างระดับมักกะสัน ตัดกับทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 29 ด่าน
3.ทางพิเศษอุดรรัถยา หรือ ทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด มีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร มีเส้นทางเชื่อมต่อมาจากทางพิเศษศรีรัชส่วน C บริเวณจุดตัดกับถนนแจ้งวัฒนะ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นทางยกระดับมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองทองธานี จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 แล้วข้ามคลองเชียงราก ก่อนที่ลดระดับเป็นทางราบมีรั้วกั้นตลอด จากนั้นเข้าสู่อำเภอสามโคกตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นทางแยกไปทางทิศตะวันออกเพื่อต่อเชื่อมกับถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนี้ เส้นทางจะโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 แล้วไปสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตรที่ 79 ของถนนกาญจนาภิเษก
ต่อไปในวันหยุดนักขัตฤกษ์ เราก็มีสิทธิ์ใช้ทางด่วนฟรีกันแล้ว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น