การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีชาร์จ และแอปพลิเคชันของ กฟภ. สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสามฝ่ายครั้งนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านการแบ่งปันข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส และที่ตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเดลต้า ความร่วมมือนี้จะยกระดับประสบการณ์ของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าชาวไทยผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือของ กฟภ. เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานีชาร์จทั่วประเทศได้อย่างสะดวกสบายและง่ายยิ่งขึ้น
เลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า PEA สนองนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมเส้นทางการคมนาคมในเส้นทางหลักทุก 100 กิโลเมตร ทั่วประเทศ จำนวน 62 สถานี ภายในปี พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่าน PEA’s Mobile Application โดยผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานี จองคิว สั่งชาร์จ และหยุดชาร์จได้อย่างง่ายดาย
โมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะผลักดันให้เกิดการขยายจำนวนสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงรถพีเอชอีวีไปทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เพิ่มความสะดวกสบายคลายข้อกังวลในเรื่องของข้อจำกัดด้านระยะทางการขับขี่ เป็นการส่งเสริมให้ คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น”
“บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนแผนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่ไม่ใช่เป็นเพียงรถเอสยูวีแบบปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นรถพีเอชอีวีที่ขายดีที่สุดในโลกอีกด้วย และสามารถใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่าง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งและเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านแอปพลิเคชันของ กฟภ. และช่วยมอบความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านให้กับผู้ใช้รถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ทั้งนี้ทางบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ที่ “สบายใจ ไร้กังวล” ในการเป็นเจ้าของรถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ให้กับลูกค้าของเรา” มร. โมะริคาซุ ชกกิ กล่าวเสริม
แจ็คกี้ จาง ประธานบริหารเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อนำประเทศไทยสู่การขับขี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและมอบประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น เดลต้ามีความสามารถหลัก อันโดดเด่นด้านการแปลงกระแสไฟฟ้าและการจัดการพลังงาน ทำให้เราสามารถพัฒนาโซลูชันการชาร์จประสิทธิภาพสูง พร้อมมาตรฐานความปลอดภัยที่ผ่านการใช้งานจริงและได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา เดลต้าได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกอย่างมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย รวมถึงผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก”
ความร่วมมือครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมอบการสนับสนุนด้านเทคนิค โดยสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันของ กฟภ. เพื่อค้นหาและเข้าใช้งานเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเดลต้าที่ครอบคลุม ทั่วไทยได้อย่างง่ายดาย
ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะให้การสนับสนุนการใช้งานแอปพลิเคชันของกฟภ. และมอบบริการตรวจสอบระบบไฟฟ้าแรงต่ำ ณ สถานที่ติดตั้งจริง (ที่อยู่อาศัยและสำนักงาน) รวมถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนด้านมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะให้ข้อมูลด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด พีเอชอีวี ข้อมูลสถานีชาร์จ (สถานที่ตั้งและชนิดของเครื่องชาร์จ) และร่วมพัฒนา แบ่งปันฐานข้อมูลความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าให้กับ กฟภ.
ภายหลังการวางจุดตำแหน่งสถานีชาร์จของเดลต้า ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้แอปพลิเคชันของ กฟภ. เพื่อดำเนินการจองสั่งงาน การเริ่มต้น และหยุดชาร์จไฟ ตลอดจนชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ภายใต้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากเดลต้า ซึ่งเดลต้าจะส่งข้อมูลจากเครื่องชาร์จไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ กฟภ. ตามมาตรฐาน OCPP (Open Charge Point Protocol)
ความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างกฟภ. มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ในครั้งนี้ ช่วยสนับสนุนแผนพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ที่กำหนดเป้าหมายให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน (ทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริดและใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว) บนท้องถนนภายในปี พ.ศ. 2579 โดยทั้งสามพันธมิตรจะร่วมมือกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ขับขี่ชาวไทย ทั้งในเรื่องความรู้พื้นฐานของระบบรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ความคิดเห็น