อธิบายตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2549 ระบุว่า ทางหลวงในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 ประเภท
ทางหลวงมีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
ทางหลวงในไทยมี 5 ประเภท ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษ,ทางหลวงแผ่นดิน,ทางหลวงชนบท, ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงสัมปทาน โดยทางหลวงแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น มีการแจกแจงดังนี้
1. ทางหลวงพิเศษ หรือ มอเตอร์เวย์ เป็นทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น เช่น มอเตอร์เวย์ สาย 7 (กรุงเทพฯ – ชลบุรี) และสาย 9 บางปะอิน-บางพลี (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก)
2. ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา โดยทางหลวงแผ่นดินจะมีตัวเลขบอกเส้นทาง ตัวเลขของทางหลวงมีตั้งแต่ 1-4 หลักจะเป็นการบอกประเภทของทางหลวงแผ่นดิน
- ทางหลวงที่มีหมายเลขตัวเดียว หมายถึง ทางหลวงหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย มีทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน),ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม)
- ทางหลวงที่มีหมายเลขสองตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาคต่าง ๆ ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลขตัวเดียวผ่านพื้นที่สําคัญหลายจังหวัดเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางยาวและมีลักษณะกระจายพื้นที่ให้บริการของทางหลวง จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลขตัวเดียว ออกสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม
- ทางหลวงที่มีหมายเลขสามตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลขตัวเดียว หรือสองตัว เข้าสู่สถานที่สําคัญของจังหวัด หรืออาจจะไม่ผ่านพื้นที่สําคัญแต่มีลักษณะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายที่ดีสามารถกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย หรือเป็นทางลักษณะขนานกับแนวชายแดนต่อเนื่องกันเป็นระยะทางยาว
- ทางหลวงที่มีหมายเลขสี่ตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัด กับอําเภอ หรือสถานที่สําคัญของจังหวัดนั้น ในลักษณะการกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะทางยาว
3. ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดําเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบํารุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ณกรมทางหลวงชนบท ในการเรียกชื่อทางหลวงชนบท จะนิยมใช้หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน หรือชื่อหมู่บ้าน หรือชื่อสถานที่สําคัญ ที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการและจุดสิ้นสุดโครงการในสายทางนั้นมาตั้งชื่อถนน เช่น สายแยกทางหลวงหมายเลข 314 – บ้านลาดกระบัง หรือ สายบ้านคลอง 20 – บ้านตลาดคลอง 16 เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงชนบทมากขึ้น การใช้ชื่อเพียงอย่างเดียวอาจจะก่อให้เกิดการสับสน และไม่สามารถทราบว่าสายทางนั้นอยู่ในจังหวัดใด ดังนั้นจึงมีการนำรหัสสายทางเข้ามาเป็นตัวบอกถึงที่ตั้ง และลําดับของสายทาง ซึ่งรหัสสายทางของทางหลวงชนบทประกอบด้วยตัวอักษรย่อของจังหวัด 2 ตัว และตัวเลข 4 ตัวมาใช้กํากับทางหลวงชนบท โดยมีความหมายดังนี้
- ตัวอักษรย่อ บอกถึงจังหวัดที่ตั้งของสายทางนั้น ๆ เช่น นบ. หมายถึง ทางหลวงชนบทที่อยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรีหรือ ชบ. หมายถึงทางหลวงชนบทที่อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีเป็นต้น
- หมายเลข โดยหมายเลขตัวแรกจะบอกถึงลักษณะของการเชื่องโยงของสายทางว่าจุดเริ่มต้นสายทางเป็นอย่างไร มีทั้งหมด 6 หมายเลข แต่ละหมายเลขมีความหมายดังนี้
เลข 1 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขตัวเดียว
เลข 2 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขสองตัว
เลข 3 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขสามตัว
เลข 4 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขสี่ตัว
เลข 5 หมายถึง เริ่มต้นจากทางหลวงชนบทหรือทางหลวงท้องถิ่น
เลข 6 หมายถึง เริ่มต้นจากสถานที่ เช่น โรงเรียน วัด บ้าน ตําบล อําเภอ
4. ทางหลวงท้องถิ่น คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น สำหรับรหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่นซึ่งจะปรากฏบนป้ายริมถนนจะประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัวแล้วตามด้วยตัวเลข 5 หลัก เช่น สข.ถ 25-100
สำหรับความหมายของตัวอักษรและตัวเลขที่ปรากฏบนป้ายระบุทางหลวงท้องถิ่นคือ ตัวอักษร 2 ตัวแรกเป็นชื่อย่อของจังหวัด ตัวอักษรตัวที่ 3 จะเป็นตัว ถ ทุกทางหลวงท้องถิ่นเพราะหมายถึงถนนทางหลวงท้องถิ่น อย่าง สข.ถ
ส่วนเลขที่ปรากฏบนป้ายระบุทางหลวงท้องถิ่นแบ่งเป็น 2 ส่วน หมายเลขส่วนแรกที่มี 1, 2 หรือ 3 ตัวเป็นลำดับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ส่วนตัวเลขส่วนหลังเป็นสำดับของสายทางหรือถนนที่ลงทะเบียนในเขตองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น
ตัวอย่างของรหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่นคือ สข. ถ 25-100 จะหมายถึงทางหลวงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีเทศบาลตำบลนาทวีเป็นผู้รับผิดชอบ และลำดับสายทางที่ลงทะเบียนไว้คือ 100
5. ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงได้ให้เอกชนสัมปทาน ตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้
ปัจจุบันกรมทางหลวงมีทางหลวงสัมปทาน 1 สายคือทางยกระดับอุตราภิมุขหรือดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงเฉพาะทางยกระดับตั้งแต่ดินแดงถึงดอนเมืองบนถนนวิภาวดีรังสิต โดยทางหลวงสัมปทานจะมีระบบหมายเลขทางหลวงเหมือนกับทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งดอนเมืองโทลล์เวย์ในส่วนทางยกระดับดินแดงถึงดอนเมืองที่เป็นทางหลวงสัมปทานถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ขณะที่ช่วงตั้งแต่อนุสรณ์สถานถึงรังสิตเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
ทางหลวงสัมปทาน จะมีระบบหมายเลขทางหลวงเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของทางหลวงสัมปทานนั้นว่า มีลักษณะเป็นทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ที่มา กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบท
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น