ฮอนด้าและยามาฮ่า ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย แถลงสรุปผล “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ
ฮอนด้าและยามาฮ่า ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จัดแถลงสรุปผลการวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จาก 1,000 กรณีศึกษา พบสาเหตุหลักเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ก่อนการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการชนตัดหน้า และกลุ่มวัยรุ่นประสบอุบัติเหตุมากที่สุด พร้อมเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทิศทางและมุมมองการลดอุบัติเหตุในอนาคต” หวังผนึกกำลังสานต่อเพื่อร่วมลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้แทนปลัดกระทรวงคมนาคมและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมงานแถลง โดยมี มร.มาซายูคิ อิงาราชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, มร.ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ
โครงการวิจัยหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุภายใต้ชื่อ "โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จากการริเริ่มและสนับสนุนโดย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด วัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยทำการวิจัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 1,000 กรณีศึกษา ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563
มร.มาซายูคิ อิงาราชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “ฮอนด้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยพันธกิจที่จะมุ่งสร้างสังคมที่ไร้อุบัติเหตุให้กับทุกคน เราตระหนักว่าการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจะนำมาซึ่งความสำเร็จนี้ร่วมกัน ผมหวังว่าข้อมูลจากการวิจัยเชิงลึกนี้จะเป็นประโยชน์กับเครือข่ายการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการนำไปพิจารณาต่อยอดและปรับใช้กับการดำเนินงานของทุกท่านต่อไป”
มร. ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “จากหลักการบริหารจัดการของยามาฮ่าในการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไปในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผมเชื่อว่าผลของการวิจัยที่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน”
รศ.ดร.กัณวีร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยขอขอบคุณ ฮอนด้าและยามาฮ่า ที่ร่วมริเริ่มและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยอุบัติเหตุเชิงลึกนี้ขึ้น พร้อมขอขอบคุณหน่วยงานร่วมวิจัยทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนทำให้โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
โดย รศ.ดร.กัณวีร์ ได้แถลงสรุปผลปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านหลัก ได้แก่ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่ ด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ และด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม พร้อมข้อเสนอแนะโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านและข้อเสนอแนะโดย TARC
ขอบเขตการวิจัย “โครงการเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
ด้วยสถานการณ์อุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีอัตราที่สูง การวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งเน้นสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์จำนวน 1,000 กรณีศึกษา โดย 30% ของจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์
จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 53 มีสาเหตุเกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รองลงมาร้อยละ 41 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ ตามด้วยสาเหตุจากสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมจำนวนร้อยละ 4 และสาเหตุอื่นๆ จำนวนร้อยละ 2
ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 49 เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) รองลงมาร้อยละ 32 เกิดจากผู้ขับขี่ตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) และร้อยละ 13 เกิดจากผู้ขับขี่ควบคุมรถผิดพลาด (Reaction Failure)
ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถยนต์ ร้อยละ 60 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) และร้อยละ 34 เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure)
ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่
จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 48 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้หลบหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปกติไม่ได้ง่วงหรือเมาสุรา และขับขี่ด้วยความเร็วปกติ ระหว่าง 20-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การวิจัยยังพบว่าร้อยละ 41 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และในอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้มีใบอนุญาตขับขี่ กว่าครี่งหนึ่งเป็นการชนที่ไม่ได้หลบหลีกหรือเบรกแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี โดยสาเหตุสส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะความผิดพลาดด้านการใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือเพื่อหยุดรถ
รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ
รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่การชนตัดหน้า โดยร้อยละ 80 เป็นการชนกับรถยนต์ที่เลี้ยวตัดหน้า ร้อยละ 66 เป็นการชนกับท้ายรถยนต์คันอื่น โดยอุบัติเหตุชนท้ายที่มีผู้เสียชีวิตมักเกิดในเวลากลางคืน และมีสัดส่วนของอุบัติเหตุที่ชนท้ายรถบรรทุกมากกว่าในเวลากลางวัน
ในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยถ้าเกิดเหตุในเวลากลางคืนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่า
นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยในจำนวนนี้ ผู้เสียชีวิตร้อยละ 62 ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ และในการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะพบว่า ร้อยละ 66 เป็นผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย
ด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม
สภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยพบว่าอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูงมักเกิดในเขตชานเมืองและชนบท และส่วนใหญ่เป็นถนนสายรอง โดยร้อยละ 24 เกิดบนทางร่วมทางแยก ส่วนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดบนถนนขนาด 4 ช่องจราจร มักเกิดขึ้นบนไหล่ทางซึ่งเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยหากใช้ในการสัญจร
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย
จากสาเหตุสำคัญที่พบ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ อีกทั้งไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที และทำการควบคุมรถเพื่อหลบหลีกการชนได้ทันการณ์ จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้มุ่งเน้นเพิ่มทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจและการควบคุมรถเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
2. ควรทบทวนขั้นตอนในการออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยแยกการอบรมและข้อสอบระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับรถยนต์ออกจากกัน และควรผ่านการอบรมขับขี่ที่ปลอดภัยในภาคทฤษฎีซึ่งมีเนื้อหาเน้นการอบรมทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ รวมถึงออกแบบขั้นตอนการสอบภาคปฏิบัติให้เสมือนกับการขับขี่บนท้องถนนจริงร่วมกับรถประเภทอื่นๆ
3. ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ทำผิดกฎจราจร เช่น การดัดแปลงรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องปรามและตรวจจับให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรควบคุมการจำกัดความเร็วของยานยนต์ทุกประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของยานพาหนะทุกคันบนท้องถนน
4. ควรผลักดันนโยบายการออกแบบถนนให้คำนึงถึงความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ โดยมุ่งเน้นการลดจุดตัดของกระแสจราจรระหว่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (เช่น จุดกลับรถ ทางแยกและทางเข้าออกต่างๆ) การลดความเร็วของกระแสจราจรในเขตชุมชน และการปรับปรุงระยะการมองเห็นตามทางแยก
5. ควรส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่นหลอดไฟหน้า ไฟท้าย ระบบเบรก และสภาพยาง
6. ควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เพียงพอและในเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุดต่อไป
นอกจากการแถลงผลดังกล่าว ภายในงานยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางและมุมมองการลดอุบัติเหตุในอนาคต” เพื่อให้ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุขยายประโยชน์ต่อสังคมต่อไป โดยมี 4 หน่วยงานสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ผลการวิจัยถูกนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด สะท้อนมุมมองในด้านต่างๆ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, นายฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก, ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และ นายเลิศศักดิ์ นววิมาน ประธานคณะทำงาน ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ความคิดเห็น